พัฒนาเทคนิคการหาปริมาณโปรตีนก่อภูมิแพ้ในน้ำนม

แอลฟา-แลคตาลบูมิน  เบตา-แลคโตกลอบูลิน (เอ) และ (บี) เป็นสารอาหารประเภทโปรตีนที่มีมากในโปรตีนเวย์ (whey protein) เป็นสารที่มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายต้องการ จึงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปริมาณของสารนี้ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์จะมีผลกับสมบัติเชิงหน้าที่ของผลิตภัณฑ์นั้น จึงมีการใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม เช่นใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับนักกีฬา อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางประโยชน์ที่ได้จากโปรตีนนี้ แต่สำหรับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย กลับพบว่าเป็นโปรตีนชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดภูมิแพ้ในอาหารที่มีอาการต่างๆ เช่น เป็นผื่นขึ้นตามผิวหนัง ท้องเสีย อาเจียน  หายใจหอบ  และปัญหาที่พบมากคือ การเกิดอาการแพ้นมวัวในเด็ก ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นการแพ้โปรตีนในนมวัว เนื่องจากร่างกายสร้างภูมิต่อต้านโปรตีนที่มีอยู่ในนมวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบตา-แลคโตกลอบูลินจะมีความเป็นพิษมากกว่า

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคภูมิแพ้โปรตีนดังกล่าว นอกจากหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนที่จะก่อให้เกิดการแพ้  ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.ภควดี สุทธิไวยกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการวิจัยพัฒนาวิธีตรวจวัดหาปริมาณสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ โดยวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีน แอลฟา-แลคตาลบูมิน  เบตา-แลคโตกลอบูลิน (เอ) และ (บี)  ศึกษาสภาวะการแยกแอลฟา-แลคตาลบูมิน  เบตา-แลคโตกลอบูลิน (เอ) และ (บี)  โดยในงานวิจัยนี้ใช้ตัวอย่างโปรตีนในนมวัว เพื่อทำการศึกษาการสกัดสารทั้งสามตัวออกจากตัวอย่างนมในเวลาเดียวกัน โดยใช้เทคนิคโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนสูงและตัวตรวจวัดฟลูออเรสเซนต์ (RP-HPLC-UV and RP-HPLC-Fluorescence) ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน โดยใช้คอลัมน์ขนาดสั้นและเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กแบบรีเวอสเฟสเพื่อประหยัดตัวทำละลายด้วย

โปรตีนในนมวัวนั้น มีส่วนประกอบสําคัญคือ โปรตีนเวย์ (whey protteins) และเคซีน  (casein) ถ้านําน้ำนมมาตกตะกอน จะได้ส่วนเคซีนที่เป็นส่วนข้นที่ทำให้นมมีสีขาวขุ่น ส่วนที่เป็นโปรตีนเวย์จะแยกเป็นของเหลวส่วนใส หรือที่เรียกกันว่า หางนม ซึ่งนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากสำหรับการบริโภคของมนุษย์ เช่น เนย ชีส รวมทั้งเป็นสารปรุงแต่งในอาหารแปรรูปจำนวนมาก เช่นขนมปัง แคร็กเกอร์ ขนมอบ ตลอดจนอาหารสัตว์ โปรตีนหลักในส่วนเวย์หรือหางนมนี้ ประกอบด้วย แอลฟา-แลคตาลบูมิน และ  เบตา-แลคโตกลอบูลิน (เอ) และ (บี) โปรตีนหางนมมักนำมาผลิตเป็นสินค้าประเภทอาหารเสริม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากแต่ขณะเดียวกันก็เป็นโปรตีนชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดภูมิแพ้นมวัวในเด็ก หรือผู้ใหญ่บางคน

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.
หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.ภควดี สุทธิไวยกิจ
ภาควิชาภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
 รศ.ดร.ภควดี สุทธิไวยกิจ

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th