เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตงา

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบการปลูกพืช ไม่ว่าจะเป็นระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือระบบปลูกพืชหลายชนิด ซึ่งมีทั้งการปลูกพืชแซม การปลูกพืชเหลื่อมฤดู การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชผสม และการปลูกพืชเรียงลำดับ  จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน โครงสร้างดิน ธาตุอาหารพืช การเลือกชนิดของพืชที่เหมาะสม รวมทั้งปัจจัยทางด้านอัลลิโลพาธี (Allelopathy) ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการปลูกพืช

 อัลลิโลพาธี เป็นผลกระทบในทางที่เป็นอันตรายจากการที่พืชและจุลินทรีย์ ขับสารประกอบทางเคมีที่มีสารประกอบอัลลิโลพาธิกออกมา ซึ่งอาจจะเกิดจากส่วนของรากและลำต้นพืชโดยตรง หรือจากการย่อยสลายของเศษซากพืช สารประกอบทางเคมีที่พืชปลดปล่อยออกมาแล้วเหลือตกค้างอยู่ในดิน จึงไปมีผลต่อการเจริญเติบโตแก่พืชอีกชนิดที่ปลูกอยู่ใกล้เคียงกันหรือปลูกตามหลังถัดมาในแปลงปลูกนั้น  การที่สารจะยับยั้งหรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารนั้นที่ละลายอยู่ในดิน ซึ่งผลจากอัลลิโลพาธิกนี้จัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการแก่งแย่งของพืช การเกิดอัลลิโลพาธิกเกิดได้ทั้งในระหว่างวัชพืชกับพืชปลูก หรือเกิดระหว่างพืชปลูกด้วยกันเอง นอกจากนี้พืชปลูกก็ยังมีผลต่อวัชพืชได้เช่นกัน กรณีการเกิดผลกระทบกับพืชปลูก ได้แก่ ผลกระทบต่อการงอกของเมล็ด และการเจริญเติบโต รวมทั้งผลผลิตของพืชปลูกนั้นด้วยในพืชต่างชนิดกันจะสร้างสารอัลลิโลพาธิกต่างกัน นอกจากนี้ในเนื้อเยื่อพืชและส่วนของพืชที่ต่างกันจะสร้างสารอัลลิโลพาธิกในปริมาณที่ต่างกันด้วย ปริมาณการสร้างสารอัลลิโลพาธิกในพืชจะมีมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ชนิดของพืช สายพันธุ์ ส่วนของพืช อายุ ระยะการเจริญเติบโต และสภาวะเครียดจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

 

ผศ.สุขุมาลย์ เลิศมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาหาแนวทางการปรับปรุงระบบการปลูกพืชให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยศึกษาถึงผลของการเกิดอัลลิโลพาธีระหว่างพืชปลูกกับพืชปลูกโดยใช้งาเป็นพืชหลัก ด้วยการดำเนินงานวิจัยเรื่อง อิทธิพลของวันปลูกต่อการเจริญเติบโตและสารอัลลิโลพาธิกของงาที่มีต่อพืชที่ปลูกตามหลังในระบบการปลูกพืช เนื่องจากงาเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ปลูกเป็นพืชหลัก พืชแซม หรือพืชหมุนเวียนกับพืชไร่อื่น อาทิเช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ทานตะวัน รวมทั้งการปลูกก่อนหรือหลังการปลูกข้าว นอกจากนั้นยังมีรายงานจากผลวิจัยว่าสารอัลลีโลพาธิกที่มีในงา สามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตต่อพืชปลูก โดยพบว่า การปลูกงาขาวสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตทั้งของข้าว หญ้าข้าวนก และไมยราบยักษ์ได้ ทำให้ความยาวรากและความยาวยอดลดลง

การผลิตงาในประเทศไทย ยังไม่สามารถตอบสนองทั้งปริมาณและคุณภาพเพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตงา รวมทั้งพันธุ์และฤดูปลูกที่เหมาะสม แม้ฤดูปลูกที่แนะนำทั่วไปจะเป็นช่วงต้นฤดูฝน (กุมภาพันธ์-เมษายน) และปลายฤดูฝน (กรกฎาคม-สิงหาคม) แต่ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมยังมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นและสภาพพื้นที่

ดังนั้นเพื่อหาวิธีในการเพิ่มผลผลิตของงา ผศ.สุขุมาลย์ เลิศมงคล จึงได้ทำการศึกษาลักษณะการเจริญเติบโตของงาพันธุ์ CM-07 และ CM-53 ซึ่งเป็นพันธุ์งาฝักต้านทานการแตก ทำการปลูกในช่วงเวลาต่างๆ กัน และศึกษาผลทางอัลลิโลพาธีของงาที่มีต่อพืชที่ปลูกตามหลัง รวมถึงเพื่อประเมินศักยภาพของสารอัลลิโลพาธิกที่มีในงาเมื่อปลูกในช่วงเวลาต่างๆ กัน เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตของพืชที่มีงาปลูกเป็นพืชหลักหรือพืชแซมให้มีผลผลิตสูงยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งของงานวิจัยดำเนินงานในสถานีทดลอง เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันและข้อจำกัดเกี่ยวกับน้ำ อีกส่วนหนึ่งของงานวิจัยดำเนินงานในแปลงปลูกของเกษตรกร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พันธุ์ ปุ๋ย การจัดการวัชพืช และประเมินความแตกต่างของผลผลิตระหว่างระบบที่มีการปลูกงาและระบบที่ไม่มีการปลูกงาก่อนปลูกพืชอื่น

ผลการทดลองเพื่อศึกษาอิทธิพลของวันปลูกต่อการเจริญเติบโตและสารอัลลิโลพาธิกของงาที่มีต่อพืชที่ปลูกตามหลังในระบบการปลูกพืช พบว่า เดือนปลูกมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของงาทั้งพันธุ์ CM-07 และ CM-53 คือ งาที่ปลูกในเดือนมิถุนายนมีการเจริญเติบโตดีที่สุดและให้ผลผลิตสูงสุด  ซึ่งต่างจากงาที่ปลูกในเดือนพฤศจิกายน มีการเจริญเติบโตและผลผลิตต่ำที่สุด  ด้านการออกดอก พบว่า งาที่ปลูกในเดือนตุลาคม-ธันวาคมออกดอกเร็วที่สุดคือ 32 วันนับจากปลูกจึงออกดอก ส่วนงาที่ปลูกในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมใช้ระยะเวลา 37 วันนับจากปลูกจึงออกดอก หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตงาและไถกลบต้นงาลงดินทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1 เดือน แล้วปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ทานตะวันตามหลัง พบว่า แปลงที่มีการปลูกงามาก่อนผลผลิตของพืชที่ปลูกตามหลังมีปริมาณน้อยกว่าการปลูกในแปลงที่ไม่ได้มีการปลูกงามาก่อน โดยทานตะวันเป็นพืชที่ได้รับอิทธิพลจากงามากที่สุด งาที่ปลูกในเดือนมิถุนายนมีสารอัลลิโลพาธิกมากกว่าการปลูกในเดือนอื่นๆ ส่วนงาที่ปลูกในเดือน พฤศจิกายนมีสารอัลลิโลพาธิกต่ำที่สุด

ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในการปลูกพืชอื่นๆ ในระบบการปลูกพืช และเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในการคัดเลือกพันธุ์พืชหรือปรับปรุงพันธุ์พืช อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3-6 เดือนเท่านั้นที่จะมีผลต่อพืชอื่น หลังจากนั้นก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ คือ การปลูกพืชอื่นตามหลังการปลูกงาจะทำให้การงอกและการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกลดลง การเสื่อมของสารอัลลิโลพาธิกในงาจะเร็วหรือช้า ขึ้นกับสภาพแวดล้อม เช่น ปริมาณน้ำฝน ถ้าฝนตกแรงปริมาณน้ำมาก อาจทำให้น้ำพัดพาเอาสารอัลลิโลพาธิกของงาออกไป แต่สารนี้ไม่มีผลต่อสภาพแวดล้อมรวมถึงสุขภาพของมนุษย์และสัตว์

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.
หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร.สุขุมาลย์ เลิศมงคล
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
 ผศ.ดร.สุขุมาลย์ เลิศมงคล  

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th