พัฒนาโปรแกรมประเมินการระบาดของโรคพืช

การผลิตพืชให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพนั้น  มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆมากมายและความเสียหายที่เกิดจากโรคพืชเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตพืชเสียหายเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไม่ให้ก่อความเสียหายกับพืชที่ทำการเพาะปลูก  แนวทางที่ดีที่สุดทางหนึ่งได้แก่การติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดในแปลงปลูกหรือพื้นที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ  วิธีการที่ใช้ในการติดตามการเกิดโรคหรือแพร่ระบาดโรค  วิธีการหนึ่งคือการประเมินระดับความรุนแรงของโรคในแปลงปลูก  ซึ่งปัจจุบันการประเมินระดับความรุนแรงของโรคที่ปฏิบัติอยู่ใช้วิธีการประเมินด้วยสายตาโดยทำการเปรียบเทียบระดับอาการของโรคที่เห็นกับภาพระดับความรุนแรงของโรคในระยะการเจริญเติบโตต่างๆที่จัดทำขึ้น  ซึ่งการประเมินด้วยสายตานั้นมีข้อด้อยต่างๆ เช่น  ระดับอาการที่เห็นด้วยสายตานั้นจะไม่สามารถบอกค่าได้ละเอียดและแม่นยำ  ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติที่แตกต่างกัน  ค่าที่อ่านได้ในแต่ละครั้งของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เป็นต้น

อุปกรณ์เก็บภาพอาการของโรค

การตัดส่วนภาพด้วย darkness luminance

การตัดส่วนภาพด้วย brightness luminance

การนำวิธีการประมวลผลภาพมาใช้ในการประเมินอัตราการทำลายของโรคพืชเป็นอีกแนวทางในการนำหลักการประมวลผลภาพมาประยุกต์ใช้ทางด้านการเกษตร ซึ่งจะให้ความแม่นยำสูง ลดความแตกต่างของค่าผิดพลาดในแต่ละครั้งและทำให้การประเมินสามารถทำซ้ำได้ดี

ตัวอย่างภาพผลการประเมินโรคใบขีดสีน้ำตาลในข้าว ด้วยโปรแกรม KU-PPath

จากปัญหาดังกล่าว  ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช  รศ.ดร.นิพนธ์ ทวีชัย จากภาควิชาโรคพืช  คณะเกษตร ผศ.ดร.ธานี  ศรีวงศ์ชัย จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร จากภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร และ ดร.พิเชษฐ์  สืบสายพรหม จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาโปรแกรมที่จะใช้ในการประเมินระดับความรุนแรงของโรคพืชเศรษฐกิจที่  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้กับการบริหารจัดการศัตรูพืชและการระบาดของโรคในระบบการเกษตรต่างๆ เช่น การควบคุมโรคโดยการวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรค  การพยากรณ์การเกิดโรคระบาด  การประเมินความเสียหายที่เกิดจากโรค  การปรับปรุงพันธุ์พืชต้านทานโรค  การตรวจสอบประสิทธิภาพของสารเคมีในการควบคุมโรค  เป็นต้น  ซึ่งการประมวลผลภาพเป็นวิธีการที่ถูกนำมาประยุกต์ในด้านต่างๆ มากมาย ได้แก่ทางด้านวิศวกรรมเช่น การตรวจจับวัตถุเคลื่อนไหวเพื่อประมวลผลทั้งในด้านการป้องกันภัยและการติดตามวัตถุ การเรียนรู้จดจำใบหน้า และการทดสอบคุณภาพในการผลิต เป็นต้น

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.
หัวหน้าโครงการ : ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th