ศักยภาพพืชตระกูลกระหล่ำในการควบคุมโรคเหี่ยวจากแบคทีเรียของมะเขือเทศ

จัดการโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ ด้วยการอบดินฆ่าเชื้อด้วยวิธีชีวภาพจากพืชตระกูลกะหล่ำ  สารที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการสลายตัวของพืชตระกูลกะหล่ำสามารถนำไปใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในดินที่เป็นสาเหตุโรคเหี่ยวของมะเขือเทศและเศษพืชตระกูลกะหล่ำจะสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุให้กับดินที่อบฆ่าเชื้อ ทำให้ดินที่อบปราศจากเชื้อโรคและมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 1

 

การยับยั้งการเจริญโคโลนีเชื้อ Ralstonia solanacearum ในจานเลี้ยงเชื้อจากปฏิกิริยาการสลายตัวของ

พืชตระกูลกะหล่ำบด (อายุ 2 วัน) ได้แก่ เขียวน้อย (B) ชุนฉ่าย(C) เปรียบเทียบกับชุดควบคุม(A) โดยทำการบ่มไว้ที่อุณหภูมิ 30 Co เป็นเวลา 1 วัน

พืชตระกูลกะหล่ำเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทยที่มีการปลูกกันเป็นการค้าอย่างแพร่หลาย เช่น คะน้า กวางตุ้งดอก กวางตุ้งเขียว กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ชุนฉ่าย และเขียวปลี เป็นต้น  ในการผลิตเพื่อส่งตลาดบริโภคจะมีส่วนต่างๆของพืชเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช  ร่วมกับ ศ.ดร.นิพนธ์ ทวีชัย จากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษานำเศษพืชตระกูลกะหล่ำของไทยมาใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียโดยวิธีการอบดินด้วยวิธีชีวภาพ (Biofumigation) เพื่อช่วยควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum (Rs)  สาเหตุโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ ทำการทดสอบหาชนิดของพืชตระกูลกะหล่ำที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยว ศึกษาวิธีการสกัดสาร Isothiocyanate (ITCs) ซึ่งเป็นสารที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการสลายตัวของพืชตระกูลกะหล่ำจากดิน รวมทั้งปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อการอบดินโดยวิธีชีวภาพ ศึกษาถึงรูปแบบ และการนำไปประยุกต์ใช้ของการอบดินด้วยวิธีชีวภาพ เพื่อควบคุมโรคเหี่ยวจากแบคทีเรียในสภาพแปลงเกษตรกร

2

การทดสอบชนิดของพืชตระกูลกะหล่ำในการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ โดยการอบดิน  1.กะหล่ำปลี (B. oleracea var. cabitata)  2.กวางตุ้ง (B. campestris var. chinensis) 3.คะน้า (B. oleracea var. alboglaba) 4.ชุนฉ่าย (B. juncea)  5.เขียวปลี (B. juncea)  6. Basamid G®   และ 7.Positive control

ผลการศึกษาได้ทดสอบประสิทธิภาพของการสลายตัวของพืชตระกูลกะหล่ำต่างๆที่ขายเป็นการค้าในประเทศไทย รวม 7 ชนิด ได้แก่ Brassica juncea (เขียวน้อย ชุนฉ่าย และเขียวปลี); B. oleracea (คะน้าใบ และกะหล่ำปลี) และ B. campestris (กวางตุ้งดอก และเขียวกวางตุ้ง) นำมาทดสอบการควบคุมโรคเหี่ยวในห้องปฏิบัติการ พบว่าการสลายตัวของ B. juncea (เขียวน้อย ชุนฉ่าย และเขียวปลี) มีประสิทธิภาพดีที่สุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวในมะเขือเทศได้ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม เนื่องจากสลายตัวให้สาร ITCs ปริมาณมากที่สุด และจากการทดลองพบว่าสาร ITCs จะตรวจพบปริมาณมากในส่วนของราก

ส่วนผลการทดลองการอบดินฆ่าเชื้อด้วยพืชตระกูลกะหล่ำในโรงเรือนทดลอง โดยนำพืชตระกูลกะหล่ำไปบดและผสมให้เข้ากับดินที่ใช้ในการปลูกพืช  จากนั้นนำดินใส่ภาชนะที่ปิดสนิท พืชตระกูลกะหล่ำจะสลายตัวและปลดปล่อยก๊าซที่สามารถฆ่าเชื้อโรคในดินได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ พบว่า Brassica juncea (เขียวน้อย ชุนฉ่าย และเขียวปลี) มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการทดลอง โดยเฉพาะเขียวปลีอายุ 60 วันที่อัตรา 10% ต่อน้ำหนักดิน มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการใช้สารเคมีอบดิน ที่สามารถควบคุมการเกิดโรคได้ถึง 100% 

ผลจากการทดลองนี้จะเป็นแนวทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสามารถนำไปใช้ร่วมกับวิธีการทางชีวภาพอื่นๆ ในการควบคุมโรคเหี่ยวมะเขือเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนให้กับเกษตรกร 

 %e0%b8%ad%e0%b8%b8%e0%b8%94%e0%b8%a1 ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช

ภาควิชาโรคพืช

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่อง: ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช