การจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุกอุย

 ปลาดุกอุย เป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นปลาที่ประชาชนนิยมบริโภคเนื่องจากเนื้อมีคุณภาพและรสชาติดี อย่างไรก็ตามปลาดุกที่บริโภคกันอยู่นี้เกือบทั้งหมดเป็นปลาดุกลูกผสม หรือบิ๊กอุย ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่พันธุ์ปลาดุกอุยกับพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ ซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีความต้านทานโรค และเนื้อมีรสชาติใกล้เคียงกับปลาดุกอุย แนวโน้มความต้องการบริโภคปลาดุกอุยมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแนวโน้มความต้องการปริมาณแม่พันธุ์ปลาดุกอุยจึงสูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

11-1

ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ นายสุบรรณ เสถียรจิตร และนายฉัตรชัย ไทยทุ่งฉิน จากภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมกันศึกษาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมในการพักแม่พันธุ์ปลาดุกอุย ศึกษาผลของความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุกอุยภายหลังการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์กระตุ้นการตกโดยเน้นผลกระทบของความเครียดและความสามารถในการสืบพันธุ์ โดยศึกษาจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง เช่น ระดับฮอร์โมน ต่อศักยภาพในการสืบพันธุ์ เช่น ระยะเวลาในการวางไข่ เปอร์เซ็นต์การวางไข่ของแม่ปลา อัตราการฟักและอัตรารอดของลูกปลาที่ได้จากแม่ปลาดุกอุยที่พักในบ่อภายหลังฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ที่ความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำที่แตกต่างกันจากการทดลอง 4 ระดับ ตลอดจนอัตราการสูญเสียแม่ปลาภายหลังการรีดไข่

ในการเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสมจะใช้วิธีฉีดฮอร์โมนกระตุ้นแม่ปลาดุกอุยให้ตกไข่ เพื่อรีดไข่ผสมเทียมกับน้ำเชื้อซึ่งได้จากการเก็บถุงอัณฑะจากพ่อปลาดุกยักษ์ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำฮอร์โมนสังเคราะห์ (LHRHa) ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ (Domperidone) ฉีดเพียงเข็มเดียวทำให้แม่ปลาดุกอุยตกไข่และสามารถรีดไข่เพื่อผสมเทียมได้ภายหลังการฉีดภายใน 14 – 16 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่พักแม่ปลาเพื่อรอการตกไข่ พบว่าเกษตรกรมักนิยมพักแม่ปลาในสภาพที่หนาแน่นและมีน้ำน้อยมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันการทำร้ายกันเองของแม่ปลา ซึ่งพบว่า แม่ปลามีบาดแผลและบอบช้ำง่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แม่ปลาตายภายหลังการรีดไข่ ทำให้เกิดความสูญเสียต้นทุนแม่พันธุ์ปลา นอกจากนี้ยังพบเมือกเกิดขึ้นเป็นปริมาณมากในน้ำที่ใช้พักแม่ปลา จากสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า การพักแม่ปลาภายหลังการฉีดฮอร์โมนในสภาพที่ไม่เหมาะสมทำให้แม่ปลาอยู่ในสภาวะที่มีความเครียดสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ คุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ และการสืบพันธุ์ได้ในท้ายที่สุด สภาวะที่ทำให้ปลาเกิดความเครียดจากการรบกวน เช่น การกักขังอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น การรวบรวมในระหว่างการจับ จะทำให้ปลาเกิดการตอบสนองต่อความเครียด โดยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนคอร์ติซอลในกระแสเลือด โดยทั่วไป การตอบสนองต่อความเครียดจะสามารถตอบสนองในระยะเวลาอันสั้น ส่วนการตอบสนองต่อความเครียดในระยะยาวจะตอบสนองได้ยากกว่าและอาจนำไปสู่ผลเสียอย่างมาก เช่น ต่อการเจริญเติบโต การลดความต้านทานต่อโรค  หรือตายในที่สุด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเครียดทำให้เกิดการยับยั้งกระบวนการสืบพันธุ์ โดยการลดระดับฮอร์โมนโกนาโดโทรปินในต่อมใต้สมองและในพลาสมา การลดระดับฮอร์โมนสเตอรอยด์ที่สร้างจากรังไข่ มีผลให้ขนาดของไข่เล็กลงและส่งผลต่อคุณภาพของตัวอ่อนในท้ายที่สุด

 23

ปริมาณฮอร์โมน cortisol ของแม่ปลาดุกอุยภายหลังการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ที่พักในบ่อระบบน้ำ

 แบบเปิด (ซ้าย)และแบบปิด(ขวา) ที่ความหนาแน่น 5, 10, 15 และ 20 ตัวต่อตารางเมตร ณ เวลาก่อนฉีดฮอร์โมนช่วงระหว่าง

 การพักหลังการฉีดฮอร์โมนที่ 7 ชั่วโมง และช่วงการวางไข่

45

ปริมาณฮอร์โมน 17b – estradiol ของแม่ปลาดุกอุยภายหลังการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ที่พักในบ่อ

 ระบบน้ำแบบเปิด(ซ้าย)และแบบปิด(ขวา) ที่ความหนาแน่น 5, 10, 15 และ 20 ตัวต่อตารางเมตร ณ เวลาก่อนฉีดฮอร์โมนช่วง

 ระหว่างการพักหลังการฉีดฮอร์โมนที่ 7 ชั่วโมง และช่วงการวางไข่

untitled

อัตรารอดของแม่ปลาดุกอุยที่พักในบ่อระบบน้ำแบบเปิดและปิด ที่ความหนาแน่น 5, 10, 15 และ 20

  ตัวต่อตารางเมตร

ผลที่ได้จากการศึกษาความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุกอุย   (Clarias macrocephalus) ภายหลังฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ต่อความเครียดและการสืบพันธุ์ โดยทำการทดลองพักแม่ปลาดุกอุยที่ความหนาแน่น 4 ระดับ คือ 5, 10, 15 และ 20 ตัวต่อตารางเมตร ในบ่อระบบน้ำแบบเปิดที่มีการถ่ายเทน้ำตลอดเวลาและระบบน้ำแบบปิดที่ไม่มีการถ่ายเทน้ำ  พบว่าปริมาณฮอร์โมน cortisol และ 17β – estradiol ของแม่ปลา ณ ช่วงเวลาเดียวกันในทุกชุดการทดลองไม่แตกต่างกัน แม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบเปิด ที่ความหนาแน่น 20 ตัวต่อตารางเมตร มีเปอร์เซ็นต์การวางไข่สูงสุดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์การวางไข่ของแม่ปลาในทุกชุดการทดลองไม่แตกต่างกัน ไข่ที่ได้จากแม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบเปิดที่ความหนาแน่น 20 ตัวต่อตารางเมตร มีอัตราการฟักสูงสุด 84.4 เปอร์เซ็นต์  และไข่ที่ได้จากแม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบเปิดของทุกความหนาแน่น มีอัตราการฟักสูงกว่าไข่ที่ได้จากแม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบปิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปลาดุกบิ๊กอุย (ระยะถุงไข่แดงยุบ) ที่ได้จากแม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำเปิด ที่ความหนาแน่น 10 ตัวต่อตารางเมตรมีอัตราการรอดสูงสุด 84.3 เปอร์เซ็นต์ และลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่ได้จากแม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบเปิดของทุกความหนาแน่นมีอัตราการรอดสูงกว่าลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่ได้จากแม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบปิด แม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบเปิดและแบบปิด ที่ความหนาแน่น 20 ตัวต่อตารางเมตรมีอัตรารอดสูงสุด 95 เปอร์เซนต์ และ  แม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบเปิดที่ความหนาแน่น 5 ตัวต่อตารางเมตรมีอัตรารอดต่ำสุด 60 เปอร์เซนต์ และต่ำกว่าชุดการทดลองอื่น คุณภาพน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุดอุยหลังฉีดฮอโมนที่ 7 ชั่วโมงและช่วงการวางไข่ พบว่า ระบบน้ำแบบปิดมีปริมาณออกซิเจนละลาย ความเป็นกรด ด่างของน้ำและอุณหภูมิน้ำเฉลี่ยสูงกว่าของระบบปิด ยกเว้นปริมาณแอมโมเนียรวมมีค่าต่ำกว่าระบบปิด

ผลจากการศึกษานี้ จึงได้แนวปฏิบัติที่เห็นควรแนะนำให้พักแม่ปลาดุกอุยภายหลังฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ที่ความหนาแน่น 20 ตัว ต่อตารางเมตร ในบ่อระบบน้ำแบบเปิดเป็นวิธีเหมาะสมมากที่สุดหรือควรมีการถ่ายเทน้ำตลอดเวลา เพื่อลดการสูญเสียแม่ปลา   

%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%87 ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์

ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

คณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์