มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวไทย คุณค่าก้าวไกลจากวิถีไทยสู่วิถีโลก (8) ข้าวเหนียวธัญสิริน: นามพระราชทาน ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง

8.1ธัญสิริน

8.2

     ข้าวพันธุ์แรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ “ธัญสิริน” ซึ่งมาจากคำว่า “ธัญ” ที่แปลว่าข้าว และพระนาม “สิรินธร”เมื่อปีพ.ศ. 2553

      ข้าวเหนียวที่มีการปลูกกันมากส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 แต่เป็นข้าวที่มีความอ่อนแอ มักจะเกิดโรคไหม้ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของพื้นที่นาน้ำฝน ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร ดังนั้น จึงมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว กข 6 โดยพัฒนาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะสำคัญ คือ ความสามารถต้านทานโรคไหม้ ลักษณะเด่นของสายพันธุ์คือ ข้าวเหนียวธัญสิรินเป็นข้าวเหนียว กข 6 ที่มีคุณสมบัติต้านทานต่อโรคไหม้ทุกชนิดได้เป็นอย่างดีและมีข้อดีคือ แตกกอได้ดี ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย มีขนาดสูงเฉลี่ย 130 เซนติเมตร สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายด้วยเครื่องจักร ลดปัญหาการหักล้มได้ผลผลิตสูง คุณภาพหุงต้มอยู่ในระดับดี

   ข้าวธัญสิริน พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน จนได้ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข 6 แต่มีความต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเป็นโรคสำคัญในนาน้ำฝนภาคอีสาน งานวิจัยเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 ปีได้ข้าวที่มีความไวต่อแสงที่มีลักษณะเด่นคือสามารถต้านทานต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง มีขนาดลำต้นแข็ง สูงเฉลี่ย 130 เซนติเมตร ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย เมล็ดเรียวยาว ผลผลิตเฉลี่ย 700-800 กิโลกรัมต่อไร่ ศูนย์ไบโอเทคและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและติดตามการผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่เพื่อให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาครัฐ เอกชนในภาคอีสาน เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ กข6 ต้นเตี้ย “ธัญสิริน” โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนต้านทานโรคไหม้ และคุณภาพหุงต้มในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐานจนได้ข้าวเหนียวที่ปรับตัวได้ดีในพื้นที่นา

      การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว “ธัญสิริน” นับเป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อชุมชน อีกทั้งเพิ่มบทบาทของเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ที่มาข้อมูล :  เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานวิจัยนวัตกรรมทางการค้นตว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                         ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์