มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวไทย คุณค่าก้าวไกลจากวิถีไทยสู่วิถีโลก (6) ข้าวหอมชลสิทธิ์ : ข้าวหอมนาปรังทนน้ำท่วม

งานวิจัยพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

     ผลงานวิจัยการพัฒนาพันธุ์ข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แบ่งออกเป็นสองเป้าหมายหลัก คือ พันธุ์ข้าวเพื่อสุขโภชนาการ และพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

      ผลงานวิจัยพันธุ์ข้าวเพื่อสุขโภชนาการทั้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสินเหล็ก ข้าวสีนิล และข้าวปิ่นเกษตรได้นำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว

   ในตอนนี้ขอนำเสนอเป้าหมายงานวิจัยพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทีมวิจัยนำโดยรศ.ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ กรมการข้าว ได้ทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค-แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ รวมทั้งพันธุ์ทนทานสภาพแวดล้อมที่จำกัดเพื่อให้พันธุ์ข้าวเหล่านี้สามารถให้ผลผลิตได้ดี แม้จะอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกภัยพิบัติต่างๆ  ข้าวในกลุ่มนี้มีทั้งข้าวที่เป็นพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง คุณภาพหุงต้มแบบข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือข้าวเหนียวกข 6 สำหรับพื้นที่นาน้ำฝน และกลุ่มข้าวหอมผลผลิตสูงไม่ไวต่อช่วงแสง สำหรับพื้นที่เขตนาชลประทาน ตัวอย่างพันธุ์ข้าวเด่น มีดังนี้

ข้าวหอมชลสิทธิ์ :ข้าวหอมนาปรังทนน้ำท่วม

      ข้าวหอมชลสิทธิ์ เป็นข้าวเจ้าหอม ผลผลิตสูง มีกลิ่นหอม เมล็ดยาว นิ่มนวล แต่มีความแตกต่างจากข้าวขาวดอกมะลิ 105  อย่างชัดเจนที่อุณหภูมิแป้งสุก เนื่องจากมีปริมาณอะไมโลส(แป้ง)ต่ำอยู่ที่ประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นข้าวน้ำตาลน้อย ดังนั้นเมื่อหุงสุกแป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลก็จะน้อยลง จึงมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพด้วย ส่วนด้านการผลิต ข้าวหอมชลสิทธิ์เป็นข้าวทนน้ำท่วมฉับพลันในทุกระยะการเจริญเติบโต สามารถทนอยู่ใต้น้ำได้นานอย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์ แล้วสามารถฟื้นตัวหลังน้ำลดได้

10.ชลสิทธิ์

       ข้าวพันธุ์หอมชลสิทธิ์ ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลันIR57514-PMO-5-B-1-2 จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ(IRRI) กับพันธุ์ขาวดอกมะลิ105 ของกรมการข้าว โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนทนน้ำท่วมและคุณภาพการหุงต้มในการคัดเลือก จึงมีคุณสมบัติการหุงต้มแบบข้าวขาวดอกมะลิ เมล็ดข้าวมีกลิ่นหอม สามารถปลูกได้ทั้งปี และสามารถทนอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 2 สัปดาห์ ดังนั้นจึงเหมาะกับพื้นที่นาภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย ข้าวหอมชลสิทธิ์มีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ย 900 – 1000 กก./ไร่

9.ชลสิทธิ์

ลักษณะประจำสายพันธุ์

– ทนน้ำท่วมแบบฉับพลันในทุกระยะการเจริญเติบโต

– ข้าวเจ้าหอม ความสูงประมาณ    107   เซนติเมตร

– พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งปีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120    วัน

– ข้าวเปลือกสีฟางคล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

– จำนวนรวงต่อกอประมาณ 15 รวง (นาดำ)

– ความยาวรวงประมาณ 15 ซม.

– ลำต้น ใบสีเขียวยาวกว้างปานกลาง

– ใบธงทำมุมกับคอรวง ทรงกอตั้งแบะเล็กน้อย

– เมล็ดข้าว ขนาดกว้าง 2.5  ยาว 10.9 หนา 2.0 มิลลิเมตร

คุณสมบัติทางโภชนาการ

– ปริมาณอะไมโลส                                14-15%

– ระดับค่าการสลายตัวในด่าง                (1.7% KOH) ประมาณ 2

-ต้องการอุณหภูมิมากกว่า                   74oC เพื่อทำให้แป้งสุก

ผู้พัฒนาพันธุ์ : รศ.ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร, ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา, ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง, ดร.วนิตชาญ รื่นใจชน ดร.สมหมายอมรศิลป์ มีชัย เชียงหลิว วินธัย กมลสุขยืนยง สมเด็จ อิ่มมาก กาญจน ปัญญาแวว โจนาลิซา แอล เซี่ยวหลิว จุฑารัตน์ จันทรบูรณ์ อาสาหะ พัฒนาธาดา

หน่วยงาน : ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม

ที่มาข้อมูล :  เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานวิจัยนวัตกรรมทางการค้นตว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                       ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์