การผลิตไดเมทิลคาร์บอเนตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

  ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคการผลิตขนาดใหญ่ที่มีการใช้สารเคมีเป็นปริมาณมาก ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมเคมีมีความตระหนักถึงปัญหาด้านสารเคมีที่สร้างมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ จึงใส่ใจต่อการลดปริมาณการใช้หรือค้นหาสารเคมีอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ทดแทนการใช้สารเคมีที่สร้างมลพิษ  

  สารไดเมทิลคาร์บอเนต (Dimethylcarbonate, DMC) เป็นสารเคมีที่มีการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเกษตรเคมี รวมทั้งใช้เป็นสารเติมแต่งเพื่อเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเบนซิน ช่วยเพิ่มการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ไดเมทิลคาร์บอเนต (DMC) มีคุณสมบัติเป็นสารประกอบอินทรีย์ มีลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีสี ไวไฟ มีความเป็นพิษต่ำ เป็นตัวทำละลายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  หรือ Green Solvent เนื่องจากมีความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพสูง ซึ่งถือเป็น Green Reagent ตามหลักของ เคมีสีเขียวด้วย

1

  ในอดีต DMC สังเคราะห์จากปฏิกิริยาระหว่างฟอสจีน (Phosgene) กับ เมทานอล แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายเพราะความเป็นพิษของฟอสจีน  ปัจจุบัน DMC เชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่ผลิตจากปฏิกิริยา ระหว่าง Propylene carbonate กับเมทานอล และจากปฏิกิริยาระหว่างก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เมทานอลและออกซิเจน  นอกจากนั้น ได้มีความพยายามสังเคราะห์ DMC โดยตรงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเมทานอล  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกสร้างปัญหาโลกร้อน  ซึ่งในอุตสาหกรรมการแยกก๊าซจากแหล่งก๊าซธรรมชาติจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการสังเคราะห์ DMC  จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  และยังเป็นการนำก๊าซเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย

อย่างไรก็ตาม การสังเคราะห์ DMC จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเมทานอลที่ผ่านมา พบปัญหาหลักที่เกิดในปฏิกิริยาในสภาวะของเหลว คือการนำตัวเร่งปฏิกิริยานำกลับมาใช้ใหม่ยาก การเกิดปฏิกิริยาที่ความดันสูงและการเสื่อมสภาพเร็วของตัวเร่งปฏิกิริยา  แม้ว่าปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดต่างๆ แต่พบว่าอัตราการเกิดไดเมทิลคาร์บอเนตยังอยู่ในปริมาณที่ต่ำ

 2   3

           (a)  กระบวนการเตรียมเถ้าแกลบ               (b) ขั้นตอนการสังเคราะห์ SBA-15

4

                          แผนผังการติดตั้งอุปกรณ์ในการผลิตไดเมทิลคาร์บอเนต

5

 ร้อยละผลได้ของ DMC ที่ได้จากการสังเคราะห์ไดเมทิลคาร์บอเนตด้วยตัวเร่งปฏิกิริยา Cu-Ni/SBA 15

ที่มีร้อยละของโลหะร่วมปริมาณต่างกัน

       ด้วยเหตุนี้รศ.ดร.ไพศาล คงคาฉุยฉาย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงต้องการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาแบบใหม่  ที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์ DMC โดยตรงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเมทานอล  โดยจะใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะร่วม คอปเปอร์ – นิกเกิล บนตัวรองรับเมโซพอรัส ชนิด SBA 15

 การทดลองเริ่มจากการสังเคราะห์ตัวรองรับเมโซพอรัส ชนิด SBA 15 ด้วยเทคนิค โซล – เจล โดยใช้สารละลายโซเดียมซิลิเกตที่เตรียมได้จากเถ้าแกลบเป็นแหล่งของซิลิกา และใช้ Pluronic P 123 เป็นสารกำหนดโครงสร้าง  จากนั้นทำการโหลดโลหะร่วม คอปเปอร์-นิกเกิล ในอัตราส่วนโมล 1 ต่อ 1 ที่ 5 , 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก บนตัวรองรับด้วยเทคนิคการจุ่มชุบ (Incipient Wetness Impregnation) และทำการศึกษาสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีของตัวเร่งปฏิกิริยาที่เตรียมได้ ผลที่ได้ยืนยันการกระจายตัวของโลหะร่วมบนตัวรองรับ  โดยพบการลดลงของพื้นที่ผิวจำเพาะ และปริมาตรรูพรุน  ในการทดสอบประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา ด้วยการผลิต DMC จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และเมทานอล ในเครื่องปฏิกรณ์แบบ Packed bed พบว่า ตัวเร่งปฏิกิริยา 5% Cu-Ni/SBA 15 มีประสิทธิภาพดีที่สุด  โดยให้ค่าการแปลงผันของเมทานอล สูงสุด เท่ากับ 89 เปอร์เซ็นต์ และ มีค่าร้อยละผลได้ของ DMC (% yield DMC) สูงสุดที่ 3.04 เปอร์เซ็นต์ต่อ 0.5 กรัมตัวเร่งปฏิกิริยา  ที่สภาวะการทดลอง ความดัน 1.2 เมกะปาสคาล และ อุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส

   ผลการวิจัยนี้นับเป็นการเพิ่มเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ในการสังเคราะห์ DMC โดยตรงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเมทานอล โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยานิเกิล-คอปเปอร์ บนตัวรองรับ SBA-15 ที่สังเคราะห์จากเถ้าแกลบ

ไพศาล

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.ไพศาล คงคาฉุยฉาย

ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรียบเรียง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

              รศ.ดร.ไพศาล คงคาฉุยฉาย