เพิ่มผลผลิตและคุณภาพมะม่วงด้วยเทคนิคการใช้สารเคลือบใบ

   นักวิจัยมก.ทดลองการใช้ดินขาวเคโอลินที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงเป็นสารเคลือบใบมะม่วง เพื่อเพิ่มการติดผลและการพัฒนาสีผิวผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ในช่วงที่มะม่วงได้รับแสงและอุณหภูมิที่สูงเกินไป 

  ในช่วงฤดูร้อนที่พืชได้รับแสงและอุณหภูมิที่สูงเกินไป อาจทำให้พืชเกิดอาการใบไหม้ มีผลทำให้กระบวนการสังเคราะห์แสงถูกยับยั้ง ที่เรียกว่าเกิดปรากฏการณ์ photoinhibition   ทำให้ใบพืชมีอัตราการสังเคราะห์แสงลดลง การสร้างคาร์โบไฮเดรต (photoassimilation) ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพลดลงในที่สุด มะม่วงเป็นพืชที่ให้ผลผลิตในฤดูร้อนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิด photoinhibitionได้สูง

  ดังนั้นถ้ามีการจัดการที่ดี โดยทำให้มะม่วงสามารถสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น พืชจะสามารถนำคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงไปใช้ในการสร้างผลผลิต ทำให้สามารถผลิตมะม่วงที่มีปริมาณและขนาดเพิ่มขึ้น

123           (a) ไม่ได้พ่นเคโอลิน             (b)  พ่นเคโอลิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์       (c)พ่นเคโอลิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์

  ผลของดินขาวเคโอลินต่อการแสดงสีผิวของเปลือกผลมะม่วงในระยะผลสุกหลังการบ่มเป็นระยะเวลา 5 วัน

   รศ.ดร.คณพล จุฑามณี  อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาการใช้วัสดุเคลือบใบต่อการเพิ่มผลผลิตและคาร์โบไฮเดรตที่ใช้ประโยชน์ได้ของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ภายใต้สภาพอุณหภูมิและความเข้มแสงสูง โดยใช้ดินขาวเคโอลิน(Kaolin) ที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง มาเป็นสารเคลือบใบมะม่วงในสภาพที่มีอุณหภูมิและความเข้มแสงสูงเกินไป เพื่อลดการเกิด photoinhibition ทำให้ใบพืชมีประสิทธิภาพสังเคราะห์แสงได้เพิ่มขึ้น 

    ดินขาวเคโอลินเป็นสารที่มีสีขาว จึงสามารถสะท้อนแสงได้ และเมื่อนำมาพ่นให้กับพืชไปยังใบพืช จะเคลือบเป็นชั้นบาง ๆ บนใบพืช และสะท้อนแสงจากใบพืช จึงสามารถลดความเข้มแสงที่สัมผัสกับใบพืชโดยตรง ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้ในการเคลือบผิวใบและผลของพืช เพื่อป้องกันการเกิดอาการใบไหม้ ผลไหม้ และลดการเกิด photoinhibition 

  ในการทดลองนี้ได้คัดเลือกต้นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้อายุ 13 ปี ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ทำการตัดแต่งกิ่งและกระตุ้นให้แตกใบอ่อนเพื่อให้ใบมีอายุที่เท่ากัน เมื่อใบอ่อนเริ่มแทงขึ้นมา เริ่มนับอายุใบ และเมื่อใบอ่อนอยู่ในระยะเพสลาด ราดสารแพคโคบิวทราโซลเพื่อกระตุ้นให้มะม่วงออกดอกในเวลาพร้อมกัน ทำการพ่นสารละลายดินขาวเคโอลิน(Kaolin)เป็นสารเคลือบใบมะม่วงให้ทั่วทั้งต้นโดยเริ่มพ่นสารเมื่ออายุใบ 45 วัน จนถึงระยะผลโตเต็มที่ 12 สัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยว โดยมีกลุ่มควบคุม คือไม่พ่นสารเคโอลิน   กลุ่ม 2 พ่นสารละลายดินขาวเคโอลินความเข้มข้น 60 กรัม/ลิตร จำนวน 1 ครั้งต่อสัปดาห์  กลุ่ม 3 พ่นสารละลายดินขาวเคโอลินความเข้มข้น 60 กรัม/ลิตร จำนวน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ปริมาณผลผลิต เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต บันทึกข้อมูลจำนวนและน้ำหนักผลผลิตที่ได้ทั้งหมดต่อต้น   วัดคุณภาพสีผิว ภายหลังการบ่ม หาปริมาณกรดซิตริกจากน้ำคั้นมะม่วง  วิเคราะห์คาร์โบไฮเดรตในกิ่งยอดและใบ

  ผลการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การทดลองพ่นดินขาวเคโอลิน อัตรา 60 กรัมต่อลิตรจำนวน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เริ่มพ่นสารเมื่ออายุใบ 45 วัน จนถึงระยะผลโตเต็มที่ 13 สัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตรวมต่อต้นเพิ่มขึ้น 32.06% และน้ำหนักรวมของผลต่อต้นเพิ่มขึ้น 22.84%  เนื่องจากมะม่วงมีการนำสารอาหารที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงไปใช้ในการสร้างผลผลิตได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าผลมะม่วงในระยะผลสุกมีสีเหลืองน้อยกว่าผลมะม่วงจากต้นที่ไม่ได้รับสารเคโอลิน แต่ในส่วนคุณภาพผลผลิตพบว่าการพ่นดินขาวเคโอลินทำให้ผลมะม่วงมีความหวานลดลง โดยพิจารณาจากปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำพบว่าการพ่นดินขาวเคโอลินมีผลทำให้ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำลดลง ซึ่งสันนิษฐานว่าการพ่นเคโอลินทำให้มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สุกช้าลง เนื่องจากดินขาวเคโอลินสามารถไปเคลือบผลในะหว่างที่ผลพัฒนา ผลมะม่วงจึงไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง จึงมีการสุกที่ช้าลง

 ในส่วนของการศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์โบไฮเดรตสะสมในรูปของแป้ง (starch content) พบว่าปริมาณคาร์โบไฮเดรตในกิ่งยอดมะม่วงไม่มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุผล ในช่วงที่ผลมีอายุ 2 สัปดาห์ ใบมะม่วงที่ได้รับการพ่นสารเคโอลิน 1 และ 2 ครั้งต่อสัปดาห์มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตในใบมากกว่าใบมะม่วงจากต้นที่ไม่ได้ถูกพ่นสารเคโอลิน ในขณะที่ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 การพ่นสารเคโอลิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ทำให้พบปริมาณคาร์โบไฮเดรตในใบน้อยที่สุด การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการพ่นดินขาวเคโอลินทำให้มะม่วงมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากการสังเคราะห์แสงมากขึ้น และสามารถนำคาร์โบไฮเดรตที่สร้างขึ้นที่ใบไปใช้ในการติดผลและการคงอยู่ของผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

     คณพล  

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.คณพล จุฑามณี

ภาควิชาพฤกษศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

                   รศ.ดร.คณพล จุฑามณี