การใช้ทีฮาโลสในการเก็บรักษาอาหารธรรมชาติแช่แข็งเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

  การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม  เป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในการเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามจำเป็นที่จะต้องใช้อาหารธรรมชาติมีชีวิตในการอนุบาลและการเพาะเลี้ยงลูกปลา เช่น ไรแดง หนอนแดง และอาร์ทีเมีย ซึ่งอาหารธรรมชาติมีชีวิตเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารสูงเหมาะสมต่อการเร่งการเจริญเติบโตของลูกปลา รวมทั้งเป็นการเร่งสีสันให้กับตัวปลาอีกด้วย แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปการหาอาหารธรรมชาติมีชีวิตมาเลี้ยงปลาสวยงามนั้นที่ทำได้ยากขึ้น ประกอบกับการขนส่งอาหารธรรมชาติมีชีวิตในระยะทางไกลๆนั้นไม่สะดวกเท่าที่ควร จึงมีการเปลี่ยนแปลงมาผลิตอาหารธรรมชาติแช่เยือกแข็งกันมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการขนส่งในระยะทางไกลๆ แต่อาหารธรรมชาติสดนั้นเมื่อผ่านกระบวนการแช่เยือกแข็งซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้วิธีการแช่เยือกแข็งแบบช้า เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียคุณค่าทางอาหารไป

1

                    อุปกรณ์การเลี้ยงปลาทอง ถังพลาสติกเลี้ยงปลาขนาด 50 ลิตร

2   3

              ไรแดงที่เสียสภาพ                                    ไรแดงสภาพปกติ 

4   5

                    หนอนแดงที่เสียสภาพ                           หนอนแดงสภาพปกติ 

6   7

                อาร์ทีเมียที่เสียสภาพ                          อาร์ทีเมียสภาพปกติ 

  ด้วยเหตุนี้รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาหาวิธีการที่จะรักษาคุณค่าทางโภชนาการของอาหารธรรมชาติแช่แข็งให้คงอยู่ได้นานที่สุด ให้เป็นอาหารที่มีความสดใหม่และยังคงมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนใกล้เคียงกับอาหารธรรมชาติสดๆมากที่สุด  ด้วยการทดลองใช้ทรีฮาโลส (trehalose) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาสภาพอาหารธรรมชาติแช่แข็งสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

    ทรีฮาโลส เป็นสารจากธรรมชาติสามารถพบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เช่น สาหร่าย รา ยีสต์ แบคทีเรีย แมลง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่และเป็นน้ำตาลที่ไม่เกิดการรีดิวซ์ มีลักษณะเป็นผลึกของแข็งสีขาวไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ดี มีรสหวานเล็กน้อย ไม่ทำให้เกิดฟันผุ การดูดซับความชื้นต่ำ สามารถทำให้ลดจุดเยือกแข็งให้ต่ำลงและมีคุณสมบัติในการป้องกันการเปลี่ยนสภาพของโปรตีน ทรีฮาโลสสามารถทำหน้าที่เป็นสารคงตัวในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อยืดระยะเวลาการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารให้มีลักษณะสดคล้ายของเดิมเมื่อมีการเติมทรีฮาโลสลงในผลิตภัณฑ์

   รศ.ดร.วราห์  เทพาหุดี จึงทดลองใช้ทรีฮาโลส (trehalose) ร่วมกับกระบวนการแช่เยือกแข็งอาหารธรรมชาติชนิดต่างๆ ได้แก่ ไรแดง หนอนแดง และอาร์ทีเมีย เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยใช้ปลาทองเป็นสัตว์ทดลอง ทำการศึกษาระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมในการใช้ทรีฮาโลส  ศึกษาระยะเวลาการเก็บรักษาอาหารธรรมชาติแช่แข็งที่เหมาะสมในด้านคุณภาพ เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งทำการศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้และไม่ใช้ทรีฮาโลสในหนอนแดงแช่แข็ง ต่ออัตรารอด อัตราการเจริญเติบโต คุณภาพน้ำ และต้นทุนการผลิตในการเลี้ยงปลาทอง

   การศึกษาระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมในการใช้ทรีฮาโลสในอาหารธรรมชาติแช่แข็ง 3 ชนิด คือไรแดง หนอนแดง และอาร์ทีเมีย โดยนำอาหารธรรมชาติที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแช่แข็งมาวิเคราะห์ปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เถ้า และความชื้นเริ่มต้นก่อน จากนั้นใช้สารละลายทรีฮาโลส ระดับความเข้มข้นต่างๆไปแช่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4-5 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับกันระหว่างสารละลายทรีฮาโลสกับเซลล์เมมเบรนของอาหารธรรมชาติ หลังจากนั้นนำอาหารธรรมชาติไปแช่ในสารละลายทรีฮาโลสเป็นเวลา 30 นาที จึงนำไปเข้ากระบวนการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -4 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 7 วัน เมื่อครบ 7 วัน นำอาหารธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งแล้วไปวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่ออกมาจากเซลล์และเปอร์เซ็นต์โปรตีน ไขมัน เถ้า และความชื้นที่คงเหลืออยู่ภายในเซลล์ เปรียบเทียบกันแต่ละชุดทดลอง ผลการทดลองพบว่าความเข้มข้นที่เหมาะสมในการใช้ทรีฮาโลสเพื่อเก็บรักษา ไรแดง หนอนแดง และอาร์ทีเมียแช่แข็ง คือ 10, 15 และ15 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

  การศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บอาหารธรรมชาติแช่แข็ง โดยนำสารละลายทรีฮาโลสไปแช่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4-5 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับกันระหว่างสารละลายทรีฮาโลสกับเซลล์เมมเบรนของอาหารธรรมชาติ หลังจากนั้นนำอาหารธรรมชาติไปแช่ในสารละลายทรีฮาโลสเป็นเวลา 30 นาที จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -4 องศาเซลเซียส เป็นช่วงระยะเวลา ต่างๆ  แล้วจึงนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจดูลักษณะทางกายภาพ พร้อมนับเปอร์เซ็นต์รูปร่างเสียสภาพ  และวิเคราะห์โปรตีนที่ละลายออกมากับน้ำ ผลการทดลองพบว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บรักษา ไรแดง หนอนแดง และอาร์ทีเมียแช่แข็งที่ความเข้มข้นทรีฮาโลส 10, 15 และ15 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ คือ สามารถเก็บได้ถึง 28 วัน โดยที่รูปร่างเสียสภาพไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ต์ และมีค่าเฉลี่ยแตกต่างกับ ไรแดง หนอนแดง และอาร์ทีเมียแช่แข็ง ที่ไม่ผ่านการแช่ทรีฮาโลส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

    สำหรับ การศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้และไม่ใช้ทรีฮาโลสในการเก็บรักษาหนอนแดงแช่แข็ง เพื่อใช้เลี้ยงปลาทองอายุ 1 เดือน พบว่าอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเพิ่ม และอัตราแลกเนื้อ มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกันทางสถิติ และปลาทองที่เลี้ยงด้วยหนอนแดงแช่แข็ง ทั้งที่ใช้และไม่ใช้ทรีฮาโลส มีอัตรารอด 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ คุณภาพน้ำที่เลี้ยงปลาทองที่ให้อาหารด้วยหนอนแดงแช่แข็งที่ใช้ทรีฮาโลสยังมีความเหมาะสมกว่าที่ไม่ใช้ทรีฮาโลส   และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ทรีฮาโลสพบว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 4.17 บาทเท่านั้น ซึ่งมีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาการเก็บที่สามารถเก็บได้นานขึ้น

  การใช้ทรีฮาโลสร่วมในการกระบวนการเก็บรักษาอาหารธรรมชาติแช่แข็ง สามารถทำให้อาหารธรรมชาติเก็บได้นานขึ้นและยังมีคุณภาพเหมือนของสด เป็นองค์ความรู้ที่ผู้ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

Person Image

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี

ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

คณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 เรียบเรียง : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี