การใช้แสงเอกรงค์สีแดงเพิ่มศักยภาพการสืบพันธุ์แม่ไก่พื้นเมือง

    ประเทศไทยมีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองกันมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของสังคมไทย การเลี้ยงดูทำได้ง่ายเพราะเป็นไก่ที่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศได้ดี เนื้อไก่พื้นเมืองมีคุณภาพดีกว่าเนื้อไก่กระทง เนื่องจากเนื้อมีลักษณะแน่น ไม่เละ ทำให้มีราคาแพงกว่าเนื้อไก่กระทงที่เลี้ยงตามฟาร์มไก่เนื้อทั่วไป ลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองอีกประการหนึ่งคือ เพศผู้มีนิสัยดุร้าย มีชื่อเสียงมากในวงการไก่ชน ไก่เพศผู้ที่มีความสามารถในชั้นเชิงการต่อสู้จะมีการตั้งราคาซื้อขายกันในราคาที่สูงมาก  แต่ปัญหาของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองคือ ไก่ตัวเมียหรือแม่ไก่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ทั้งด้านการเจริญเติบโต และลักษณะทางการสืบพันธุ์ ทำให้การขยายพันธุ์เป็นไปได้ช้า จำนวนลูกไก่ที่ผลิตได้ในแต่ละปีมีจำนวนน้อยมาก

   1

    ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.นิรัตน์ กองรัตนานันท์  จากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้ผลผลิตของสัตว์อาจทำได้โดยการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ควบคู่ไปกับการจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มาตรการอย่างหนึ่งของการจัดการโรงเรือนที่สามารถนำมาใช้ได้ผลดีกับสัตว์ปีกซึ่งเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การจัดการแสง (Light manipulation)

   สัตว์ปีกเป็นสัตว์ที่มีความไวในการตอบสนองต่อแสงเป็นอย่างมาก  โดยแสงเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ปีก ในเชิงปริมาณ ได้แก่ ความยาวแสงหรือจำนวนชั่วโมงแสงต่อวัน กับความเข้มของแสง ในเชิงคุณภาพ ได้แก่ สีของแสงหรือความยาวของคลื่นแสง แสงเอกรงค์ (monochromatic light) หมายถึง สเปคตรัมแสงที่มีความยาวคลื่นค่าเดียวหรือที่เรียกกันง่ายๆว่าแสงสีเดียว หรือแสงความถี่เดียว อุปกรณ์การให้กำเนิดแสงคือไดโอดเปล่งแสง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า หลอดไฟแอลอีดี (LED; Light Emitting Diode)

       รศ.ดร.นิรัตน์ กองรัตนานันท์ได้ทำการทดลองเปรียบเทียบศักยภาพทางการสืบพันธุ์ของไก่พื้นเมืองเพศเมียที่เลี้ยงจนมีอายุครบ 18 สัปดาห์ จากนั้นจึงเลี้ยงด้วยการจัดการแสงที่แตกต่างกัน คือกลุ่มที่เลี้ยงด้วยวิธีการจัดการแสงแบบดั้งเดิม เทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงด้วยวิธีการจัดการแสงสว่างตามธรรมชาติเสริมด้วยแสงสีขาวจากหลอดไฟฟลูออเรสเซ็นต์ กลุ่มที่เลี้ยงด้วยวิธีการจัดการแสงสว่างตามธรรมชาติเสริมด้วยการกระตุ้นด้วยแสงเอกรงค์สีแดง (monochromatic lighting) จากหลอดไฟ LED และกลุ่มที่ ได้รับแสงสีแดงจากหลอด LED เพียงอย่างเดียว โดยให้ไก่ทุกกลุ่มได้รับแสงวันละ 16 ชั่วโมง (16L:8D)

 ผลการทดลองเพื่อปรับปรุงสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ของไก่พื้นเมืองเพศเมียโดยการกระตุ้นด้วยแสงเอกรงค์ (monochromatic light) สีแดง พบว่าไก่พื้นเมืองที่ได้รับแสงเอกรงค์สีแดงเป็นแหล่งของแสงเพียงชนิดเดียวมีอัตราการเจริญพันธุ์เร็วกว่า และให้ผลผลิตไข่ในช่วงระยะแรกของการไข่ (18-26 สัปดาห์) สูงกว่าไก่ที่เลี้ยงภายใต้แสงสว่างตามธรรมชาติเสริมด้วยแสงสีขาวจากหลอดไฟฟลูออเรสเซ็นต์โดยพบว่าในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากได้รับการกระตุ้นแสง ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในกระแสเลือดของไก่กลุ่มที่ได้รับแสงเอกรงค์สีแดงเป็นแหล่งของแสงเพียงชนิดเดียว มีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มอื่น  นอกจากนั้นการวิจัยยังบ่งชี้ว่า แสงเอกรงค์สีแดงไม่มีผลกระทบต่อปริมาณอาหารที่กิน น้ำหนักไข่ คุณภาพไข่ ความสมบูรณ์พันธุ์ อัตราการฟักออก น้ำหนักตัวลูกไก่แรกเกิด รวมทั้งสัณฐานวิทยาของตา อย่างไรก็ตามตลอดการทดลองผลผลิตไข่สะสมของไก่ทุกกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ

 นอกจากนี้การวิจัยยังให้ความสำคัญกับผลกระทบที่มีต่อสัณฐานวิทยาของตาไก่หลังจากที่ได้รับการกระตุ้นแสงติดต่อกันเป็นเวลานาน พบว่าแสงเอกรงค์สีแดงไม่มีผลกระทบต่อสัณฐานวิทยาของตาของไก่พื้นเมืองที่ทำการทดลองแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามนักวิจัยให้ข้อสังเกตว่าความเข้มของแสงอาจเป็นปัจจัยร่วมที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ ดังนั้นยังจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยในขั้นต่อไปถึงระดับความยาวคลื่นและความเข้มของแสงที่เหมาะสมสำหรับไก่พื้นเมืองทั้งในระยะก่อนการสืบพันธุ์และระยะสืบพันธุ์  นอกจากนี้การวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการฟักไข่ในแม่ไก่สายพันธุ์ที่มีนิสัยนั่งฟักไข่ ควรจะต้องคำนึงถึงเวลาและความถี่ที่เหมาะสมในการเก็บไข่พันธุ์เพื่อลดอัตราการสูญเสียของตัวอ่อนลูกไก่ที่อาจเกิดจากการนั่งฟักไข่ของแม่ไก่ด้วย

  นับเป็นผลงานวิจัยที่มุ่งหวังการพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองทำให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น โดยการนำแสงสเปคตรัมความยาวคลื่นสูงสีแดงมาประยุกต์ใช้ในการกระตุ้นการเจริญพันธุ์และการให้ผลผลิตไข่ในแม่ไก่พื้นเมือง  เป็นการอนุรักษ์สัตว์ปีกพันธุ์พื้นเมืองและช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองโดยตรง

นิรัตน์

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.นิรัตน์ กองรัตนานันท์

ภาควิชาสัตวบาล

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

      รศ.ดร.นิรัตน์ กองรัตนานันท์