การผลิตน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัสและเสม็ดขาว

  น้ำมันหอมระเหยได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น มีการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา และที่กำลังนิยมอย่างแพร่หลาย คือผลิตภัณฑ์สุวคนธบำบัดและสปา น้ำมันหอมระเหยธรรมชาติแท้ที่ผลิตจากพืชหอมต่างๆ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติได้จากพืชหลายชนิดโดยเฉพาะพืชดอกและพืชล้มลุกอย่างไรก็ตาม ยังมีพืชที่มีศักยภาพที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันหอมระเหยได้อีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้มีการศึกษาพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะไม้สมุนไพร เช่น ยูคาลิปตัส และเสม็ดขาวซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกและมีแหล่งที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นพื้นที่กว้างใหญ่

    ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ  ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์  ดร.วรรณสิริ วรรณรัตน์   นายยุทธนา บรรจง จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และ รศ.ดร. คณพล จุฑามณี จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้ร่วมกันจัดทำชุดโครงการวิจัยการพัฒนาการผลิต การสกัด วิเคราะห์สารและน้ำมันหอมระเหยจากยูคาลิปตัสและเสม็ดขาว เพื่อเพิ่มทางเลือกในการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากพืชที่มีศักยภาพ และหาระบบการปลูก การจัดการที่เหมาะสมในระบบการปลูกเพื่อการสกัดน้ำมันหอมระเหยในระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้ประโยชน์ไม้สมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกพืชที่มีศักยภาพ สามารถสร้างรายได้อย่างเพียงพอมั่นคง สามารถผลิตวัตถุดิบได้เองในประเทศ และมีความมั่นใจว่าจะมีแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอกับความต้องการในประเทศและสำหรับการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็งสำหรับการวางแผนรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

   การปลูกยูคาลิปตัสและเสม็ดขาว เพื่อผลิตน้ำมันหอมระเหยเชิงการค้า ต้องเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะเป็น superior trait คือให้น้ำมันหอมระเหยสูงและปลูกได้ดีในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทย ดังนั้นควรมีเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์สำหรับการผลิตต้นพันธุ์ดีที่มีประสิทธิภาพเชิงพาณิชย์

ยู5

ยู1     ยู6

ยู3ยู4

ผลการดำเนินงานในการคัดเลือกพันธุ์ยูคาลิปตัส   

    ยูคาลิปตัส เป็นไม้พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย มีมากกว่า 700 ชนิด แต่ที่ปลูกอย่างแพร่หลายในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยมีอยู่ชนิดเดียวคือ ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูง 24 – 26 เมตร และอาจสูงถึง 50 เมตร รูปทรงสูง มีกิ่งก้านน้อย ใบ เป็นคู่ตรงข้ามเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปหอก ก้านใบยาว ใบสีเขียวอ่อนทั้งสองด้าน บางครั้งมีสีเทาใบบาง ห้อยลง เส้นใบ มองเห็นได้ชัด เปลือก มีลักษณะเรียบเป็นมัน มีสีเทาสลับสีขาวและน้ำตาลแดงเป็นบางแห่ง เปลือกนอกจะแตกร่อนเป็นแผ่นหลุดออกจากผิวของลำต้น เมื่อแห้งและลอกออกได้ง่ายในขณะสดหลังจากการตัดฟัน เมล็ด ขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร สีเหลือง เมล็ด 1 กิโลกรัม มีเมล็ดประมาณ 1 – 200,000 เมล็ด ช่อดอก เกิดที่ข้อต่อระหว่างกิ่งกับใบ มีก้านดอกเรียวยาว และมีก้านย่อยแยกไปอีก ออกดอกเกือบตลอดปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นไม้บางครั้งมีทั้งดอกตูม ดอกบาน ผลอ่อน และผลแก่ในกิ่งเดียวกัน ออกดอกปีละ 7 – 8 เดือน เหมาะกับการเลี้ยงผึ้ง ผล มีลักษณะครึ่งวงกลม หรือรูปถ้วย มีขนาด 0.2–0.3 x 0.2–0.3 นิ้ว ผิวนอกแข็ง เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เมื่อผลแก่ปลายผลจะแยกออก ทำให้เมล็ดที่อยู่ภายในร่วงหล่นออกมา ลักษณะเนื้อไม้ มีแก่นสีน้ำตาล กระพี้สีน้ำตาลอ่อน กระพี้และแก่นสีแตกต่างเห็นได้ชัด ไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ที่มีอายุมากขึ้นจะมีสีน้ำตาลแดงเข้มกว่าไม้อายุน้อย เนื้อไม้มีลักษณะค่อนข้างละเอียด สามารถนำมาทำเครื่องเรือนและก่อสร้างได้

     ผลการดำเนินงานในการคัดเลือกพันธุ์ยูคาลิปตัสที่มีปริมาณน้ำมันหอมระเหยในใบสูง พบว่าเนื่องจากยูคาลิปตัสเป็นไม้ต่างประเทศไม่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในประเทศไทย จึงคัดเลือกจากชนิดและสายต้นที่นิยมปลูกในเชิงอุตสาหกรรมและสายต้นที่เคยมีรวบรวมพันธุ์ไว้ในประเทศไทย ดำเนินการเก็บตัวอย่างใบสดของยูคาลิปตัสและนำมาวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์น้ำมันหอมระเหย 22 ตัวอย่าง พบว่าปริมาณน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้ด้วยเครื่องกลั่นไอน้ำ มี2 สายต้นที่ได้จากสวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน อ.สตึ จ.บุรีรัมย์  ซึ่งเป็นยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิสจากประเทศออสเตรเลีย  ให้น้ำมันหอมระเหยในใบสูงที่สุด คือ 2.25 และ 1.55 เปอร์เซ็นต์ และรองลงมาคือสายต้นจากบริษัทเอกชนที่อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ให้น้ำมันหอมระเหย 1.52 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ได้ทำการคัดเลือกสายต้นจาก จ.ขอนแก่น  เป็นสายต้นที่ดีเพื่อการผลิตน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันหอมระเหยในใบสูง  ผลการสกัดและวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส พบว่ามีสาร 1,8-Cineole สูง 72.14 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์สูงสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดใช้ในผลิตภัณฑ์ได้หลายประเภท

เสม็ด1เสม็ด2

เสม็ด3

เสม็ด4  เสม็ด5

เสม็ด8เสม็ด6

เสม็ด10เสม็ด11

เสม็ด12

ผลการดำเนินงานในการคัดเลือกพันธุ์เสม็ดขาว

   เสม็ดขาว เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อาจสูงถึง 40 เมตร  เป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งในสกุล Melaleuca ซึ่งพันธุ์ไม้ในสกุลนี้มีประมาณ 250 ชนิด สำหรับประเทศไทยมีการสำรวจพบเพียงชนิดเดียว คือ ไม้เสม็ดขาว โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melaleuca cajuputi Powell สำหรับชนิดที่พบในประเทศไทยนั้นอยู่ใน คือ subsp. cumingiana (Turcz) Barlow ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันที่พบในพม่า เวียดนาม และมาเลเซีย มีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ภาคกลางเรียกว่า เสม็ด ภาคใต้เรียก เม็ด หรือ เหม็ด ชาวไทยอิสลามเรียก กือแล ชื่อทั่วไปในภาษาอังกฤษเรียก cajeput, swamp tea tree และ paper barks เคยเข้าใจกันว่า ไม้เสม็ดขาวมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า M. leucadendron (L.) ซึ่งเป็นคนละชนิดกับ M. cajuputi Powell พืชในสกุล Melaleuca ถูกจัดอยู่ในวงศ์หว้า (Myrtaceae) ทั่วโลกมีพันธุ์ไม้ในวงศ์นี้ประมาณ 100 สกุล 3,000 ชนิด แต่พบในประเทศไทยเพียง 14 สกุล 112 ชนิด  เช่น สกุลหว้า (Eugenia) สกุลสนทราย (Beackea) สกุลขี้ไต้ (Decaspermum) สกุลทุ (Rhodomyrtus) และ สกุลเสม็ดขาว (Melaleuca) รวมทั้งไม้ยูคาลิปตัส (Eucalyptus) ซึ่งเป็นไม้โตเร็วจากต่างประเทศที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก็เป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับเสม็ดขาวนี้ด้วย ไม้เสม็ดขาวเป็นพันธุ์ไม้เด่นที่สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ เป็นที่รู้จักดีของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าพรุเป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดนราธิวาส  นครศรีธรรมราช และพัทลุง เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้เร็วที่สุดเมื่อเปรียบเทียบพันธุ์ไม้อื่นๆที่ได้นำมาทดลองปลูกในพื้นที่พรุเสื่อมสภาพ เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่มีการปลูกตามหัวไร่ปลายนา  และปลูกเป็นสวนป่า โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

          ไม้เสม็ดขาวเป็นพันธุ์ไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมหลากหลาย ทั้งในสภาวะเป็นกรดจัด ดินเค็ม สภาพน้ำท่วม และแห้งแล้ง  ทนต่อไอน้ำเค็ม สามารถเจริญเติบโตและกระจายพันธุ์ได้ดีมากในที่ลุ่มน้ำขังตามขอบพรุ กระจายเป็นกลุ่มใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นในป่าพรุเปลี่ยนสภาพ ทำให้บางครั้งเรียกป่าพรุเปลี่ยนสภาพนี้ว่า “ป่าเสม็ดขาว” จากการสำรวจไม่พบไม้เสม็ดขาวในป่าพรุดั้งเดิม (primary forest) จึงถือได้ว่าป่าเสม็ดขาวเป็นป่าทดแทน (secondary forest) ที่เกิดขึ้นหลังจากป่าเดิมถูกทำลายไม้เสม็ดขาวเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์มานานแล้ว เช่น เนื้อไม้ นำมาใช้สร้างที่พักอาศัย เปลือก ทำฝาบ้าน มุงหลังคา อุดรูรั่วของเรือ และใช้เป็นวัสดุในการย้อมแห อวน ทำขี้ไต้จุดไฟ นำใบไม้เสม็ดขาวมาต้ม เพื่อใช้ดื่มแทนน้ำชา ช่วยรักษาโรคปวดเมื่อย ดีซ่าน โรคหอบ ถ่ายพยาธิ แก้ไอ และดื่มช่วยให้มดลูกของสตรีหลังคลอดบุตรเข้าอู่เร็ว และในต่างประเทศ นำมาใช้เป็นสารผสมทำยาหม่อง ยาสระผม ยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และยาถ่ายพยาธิ น้ำมันเขียวที่ได้จากใบเสม็ดขาวให้คุณภาพดีและมีราคาสูงกว่าน้ำมันที่สกัดจากใบไม้ยูคาลิปตัส การผลิตน้ำมันจากใบเสม็ดขาวในอินโดนีเซียนี้ถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จทางอุตสาหกรรม ปัจจุบันส่วนใหญ่มีการผลิต cajuput oil เพื่อการส่งออกจากประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียมีการส่งออกเล็กน้อยจากประเทศมาเลเซีย โดยส่วนใหญ่ผลิตจากไม้เสม็ดขาวที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Melaleuca cajuputi subsp. cajuputi  ซึ่งมีปริมาณซินีออลในน้ำมันสุง ในขณะที่ไม้เสม็ดขาวที่พบในประเทศไทยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Melaleuca cajuputi subsp. cumingiana (Turcz) Barlwe ซึ่งพบว่ามีปริมาณของซินีออลค่อนข้างต่ำ  อย่างไรก็ตามองค์ประกอบและปริมาณน้ำมันในใบเสม็ดขาวนั้น มีความผันแปรแตกต่างกันอย่างมากตามสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่มีการกระจายพันธุ์ และตามชนิดพันธุ์  และยอดอ่อนสามารนำมากินเป็นผักสดได้ ในส่วนของประโยชน์ทางอ้อมนั้น ป่าเสม็ดขาวเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เห็ดตามธรรมชาติที่เรียกว่า “เห็ดเสม็ด” นำมาปรุงเป็นอาหารให้รสชาติดี และมีราคาสูง 

  ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกแม่ไม้เสม็ดขาวจากแหล่งพันธุ์ที่ให้ปริมาณน้ำมันสูง ทำการสกัดและวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากใบเสม็ดขาว พัฒนาเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเสม็ดขาวที่มีประสิทธิภาพ โดยหาสูตรอาหารเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมรวมทั้งปลูกทดสอบพันธุ์เสม็ดขาวที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์เพื่อหาระบบการปลูก และการจัดการที่เหมาะสมในระดับอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของเสม็ดขาว ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นในป่าพรุที่กำลังถูกเผาทำลายอย่างหนักในปัจจุบัน

         การดำเนินงานสำรวจและเก็บตัวอย่างใบเสม็ดขาว คลอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและภาคใต้ฝั่งอันดามัน เมื่อจากการสกัดและวิเคราะห์น้ำมันหอมระเหยจากใบเสม็ดขาว พบว่า สายต้น TNG 4  และTNG 6จากป่าเสม็ดขาวในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้(ทุ่งค่าย) อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง มีน้ำมันหอมระเหยในใบสูงที่สุด 2.45 และ 1.85 เปอร์เซ็นต์  ส่วนสายต้น KB 5 จากป่าเสม็ดขาวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา อ.เมือง จ.กระบี่ มีน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมที่สุด  ผลการสกัดและวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยที่วิเคราะห์โดยใช้เครื่อง Gas Chromatograph-Mass Spectrometry พบว่า  สายต้น TNG4 และ TNG6 มีสาร α-Terpinolene และสาร α-Terpinene เป็นองค์ประกอบหลัก น้ำมันหอมระเหยสายต้น KB5 พบว่ามีสาร α-Phellandrene,Limonene และ р-Cymene เป็นองค์ประกอบหลัก ได้ทำการคัดเลือกสายต้นเสม็ดขาว 3 สายต้น คือ TNG 4, TNG 6 และ KB5  มาทำการเก็บท่อนพันธุ์และขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช หาสูตรอาหารเพิ่มจำนวนยอด สูตรอาหารชักนำให้ออกราก และมีอีกส่วนจากท่อนปักชำจากธรรมชาติที่นำมาเป็นต้นแม่เพื่อผลิตยอด ในส่วนต้นที่ออกปลูกในแปลงธรรมชาติเป็นต้นเสม็ดขาวเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ผลิตมาจากยอดของต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดของสายต้นที่คัดเลือก เพื่อให้ได้จำนวนต้นออกปลูกเพียงพอภายในกรอบเวลาของโครงการ 

         โครงการได้ทำการปลูกทดสอบในระดับแปลงปลูกที่สวนป่าลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยใช้เสม็ดขาวสายต้นที่คัดเลือกไว้และเสม็ดขาวแหล่งเมล็ดจากอินโดนิเซีย (Melalueca Capujti sub sp. Capujuti ) และทีทรี (Melalueca alternifolia) แหล่งเมล็ด 3608 ซึ่งเป็นพืชในสกุล Melalueca อีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหยอย่างแพร่หลายจากประเทศออสเตรเลียมาปลูกเปรียบเทียบด้วย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

มะลิ1

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ 

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและ

อุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

 ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์