ความถี่การให้อาหารปลาเก๋าที่เลี้ยงในกระชัง

    การเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นวิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มแหล่งผลิตอาหารโปรตีนจากทะเลเพื่อทดแทนจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ   ปลาเก๋า เป็นปลาทะเลในตระกูลปลากะรังทางภาคใต้เรียกปลาราปู ปลาตุ๊กแก หรือ อ้ายเก๋า เนื้อปลามีรสชาติดี ประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่าง  เป็นปลาที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นอาหารที่สามารถเสริมสร้างบำรุงกำลัง จึงเป็นที่นิยมบริโภคมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย นับเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการพาณิชย์ ที่มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน พบว่าปลาเก๋าที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงส่วนมากคือ ปลากะรังดอกแดงหรือปลากะรังปากแม่น้ำ เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีขนาดใหญ่ เนื้อนุ่ม รสชาติดี มีการซื้อขายกันในราคาที่สูงและสามารถจัดหาพันธุ์ปลาได้ในท้องถิ่น ลูกพันธุ์ปลาที่นิยมนำมาเลี้ยงจะมีขนาดตั้งแต่ 8-10 นิ้ว ราคาลูกพันธุ์ปลาค่อนข้างสูงถึงตัวละ 30-50 บาท ดังนั้นหากการจัดการในการเลี้ยงไม่ดี มีโอกาสที่จะประสบภาวะขาดทุนสูง จึงจำเป็นต้องมีเทคนิควิธีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม การจัดการด้านการให้อาหารก็เป็นขั้น ตอนหนึ่งที่สำคัญเนื่องจากมีเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ในปลาต่างชนิด และต่างพื้นที่การเลี้ยง จากการสำรวจการให้อาหารปลาในกระชังของเกษตรกรบริเวณคลองกำพวน  อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน พบว่าเกษตรกรนิยมให้อาหารปลาแบบวันเว้นวันเพราะมีความเชื่อว่าการให้อาหารมากเกินไปจะทำให้ปลาท้องอืดตาย ในทางวิชาการแล้วการให้อาหารสัตว์น้ำจะแตกต่างกันตามชนิดและขนาด และความถี่ของการให้อาหารยังส่งผลถึงอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ ความอ้วนและอัตราการกินอาหารของปลา

1

014

2DSC08504  

      ด้วยเหตุนี้ นายวิสัย คงแก้ว นักวิชาการประมง ของสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาระดับความถี่ที่เหมาะสม ของการให้อาหารปลาเก๋าที่เลี้ยงในกระชัง  เปรียบเทียบผลการให้อาหารแบบต่างๆ ต่อการเจริญเติบโตของปลา   โดยการทดลอง ได้คัดขนาดปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกันลงเลี้ยงในกระชัง ๆ ละ 50 ตัว จำนวน 8 กระชัง ความหนาแน่นของปลาในการทดลองอยู่ที่ 5.5 ตัว ต่อตารางเมตร หรือ ความแหนาแน่นที่ 3.7 ตัว ต่อปริมาตรน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ทำการศึกษาความถี่ของการให้อาหาร 3 ชุดการทดลอง โดยชุดที่ 1 ให้อาหารปลาสองวันเว้นวัน เวลา 16.00 น.ชุดที่ 2 ให้อาหารปลาวันละหนึ่งครั้ง เวลา 16.00 น.ชุดที่ 3 ให้อาหารปลาวันละสองครั้ง เวลา 9.00 น. และ 16.00 น.อาหารปลาที่ใช้ในการทดลอง เป็นปลาที่หาในพื้นที่ ได้แก่ปลาหลังเขียว ปลาข้างเหลือง ปลาทูเล็ก และปลาขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ โดยจะสับปลาให้มีขนาดพอดีกับขนาดของปลา ให้อาหารจนปลาหยุดกินอาหาร ทำการบันทึกชนิดและน้ำหนักอาหารปลาของแต่ละกระชังที่ให้ทุกครั้ง เพื่อศึกษา อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเนื้อของปลาในแต่ละกระชัง และเพื่อศึกษาต้นทุนการเลี้ยงปลาเก๋าในกระชังที่มีความถี่การให้อาหารที่แตกต่างกัน  สุ่มเก็บข้อมูลน้ำหนักปลา ขนาดความยาวปลาทุกเดือนเป็นเวลา 5 เดือน นำมาวิเคราะห์อัตราการแลกเนื้อ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงปลาเก๋าดอกแดงในกระชัง รวมทั้งสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อเผยแพร่ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงสถานีวิจัย

12969288_1039281322817803_1608815793_n009

  ผลการทดลองพบว่า การให้อาหารวันละสองครั้งมีผลต่อการเจริญเติบโตด้านน้ำหนักดีที่สุด รองลงมาเป็นการให้อาหารวันละครั้ง และการให้อาหารวันเว้นวันปลาจะมีการเจริญเติบโตน้อยที่สุด ดังนั้นความถี่ในการเลี้ยงปลาเก๋าในกระชังที่เหมาะสม สามารถทำการให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ปลาจะมีการเจริญเติบโตเร็วที่สุด แต่เมื่อพิจารณาถึงอัตราเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ จะพบว่าการให้อาหารวันเว้นวันจะมีอัตราเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อดีที่สุด ในขณะที่อัตราการเจริญเติบของปลาที่ให้อาหารวันละครั้งและการให้อาหารวันละ 2 ครั้ง จะมีค่าใกล้เคียงกัน ดังนั้น ความถี่ในการให้อาหารควรคำนึงถึงสถานการณ์ในการเลี้ยงปลา ว่าหากในช่วงที่ปลามีขนาดเล็ก การกินอาหารและกาดูแลรักษาอาจต้องใช้ความเอาใจใส่มาก จึงควรให้อาหารวันละครั้ง สลับกับการให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ปลาเติบโตได้รวดเร็วในระยะแรก และเมื่อปลามีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว สามารถลดการให้อาหารลงเป็นวันละครั้ง สลับกับการให้อาหารวันเว้นวัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง และอาจจะมีการเปลี่ยนมาเป็นการให้อาหารวันละครั้ง สลับกับการให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในช่วงใกล้จับปลาขายและใกล้ฤดูกาลน้ำหลากเพื่อป้องกันการสูญเสียจากภัยธรรมชาติ  นอกจากนั้นยังได้ศึกษาผลตอบแทนหรือรายได้ที่ได้รับจากน้ำหนักปลาที่เพิ่มขึ้น เมื่อหักค่าอาหาร พบว่าการให้อาหารวันละ 2 ครั้งให้ผลตอบแทนดีที่สุด รองลงมาคือการให้อาหารวันละครั้ง และให้อาหารวันเว้นวัน ตามลำดับ

วิสัย2

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : นายวิสัย คงแก้ว

สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน

คณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่องโดย : น.ส.วันเพ็ญ นภทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

                     นายวิสัย คงแก้ว