เครื่องช่วยเดินแบบพกพา : นั่งได้ พับเก็บ เคลื่อนย้ายสะดวก

      นักวิจัยมก. พัฒนาอุปกรณ์เครื่องช่วยเดินแบบพกพา เพื่อช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น แก่ผู้ใช้อุปกรณ์ให้สามารถเคลื่อนย้ายไปใช้ยังสถานที่ต่างๆได้อย่างสะดวก มีน้ำหนักน้อย พับเก็บ เคลื่อนย้ายได้ง่าย ประกอบเป็นที่นั่ง รับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม นำขึ้นใส่ในรถยนต์แบบเก๋งหรือหิ้วด้วยมือเดียวได้สบาย

DSC03469

DSC03461DSC03466

DSC03454DSC03037

DSC03088DSC03455

     เครื่องช่วยเดินแบบสี่ขา หรือ Walker เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยในการพยุงร่างกายเพื่อให้สามารถยืน เดิน และเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น  ช่วยลดการลงน้ำหนักของขาในการก้าวเดิน เพิ่มความมั่นคงในการทรงตัว เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหาการควบคุมการทรงตัวในการเดิน มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม  มีความผิดปกติต่างๆในการเดิน รวมทั้งการใช้ในการทำกายภาพบำบัดเพื่อการการฟื้นฟูสมรรถภาพการเดิน และเนื่องจากราคาไม่แพง จึงเป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องช่วยเดินดังกล่าวยังไม่สะดวกในการเคลื่อนย้ายหรือนำออกไปใช้นอกสถานที่ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตและจิตใจถดถอยลง 

       ดังนั้น ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย อ.กภ.สมภิยา สมถวิล  และ ดร.กภ.อรอุมา บุณยารมย์ อาจารย์และนักกายภาพบำบัด จากสาขาวิชาจิตวิทยาการกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมด้วย ผศ.ดร.ธำรงค์ พุทธาพิทักษ์ผล จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ตระหนักถึงความสำคัญด้านคุณภาพชีวิตรวมทั้งด้านจิตใจของบุคคลเหล่านี้ และผู้เกี่ยวข้องที่รับภาระดูแลบุคคลเหล่านี้ จึงได้ร่วมกันทำการพัฒนา และปรับปรุงแก้ไขปัญหาของเครื่องช่วยเดินแบบสี่ขา โดยการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เป็นโครงอลูมิเนียมให้มีน้ำหนักน้อยลง จุดเด่นคือเป็นเครื่องช่วยเดินแบบพกพา ที่สามารถพับเก็บได้ ง่ายต่อการติดตั้ง และมีที่นั่งพับเก็บได้เสริมให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายนำไปใช้นอกสถานที่ สามารถนำเข้าใส่ในรถเก๋ง หรือหิ้วด้วยมือเดียวได้อย่างสบาย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยเดินเป็นประจำ และการนำไปใช้งานตามสถานพยาบาลต่างๆ รวมทั้งบ้านพักอาศัย และการนำออกไปใช้งานนอกสถานที่ด้วย

      ส่วนประกอบของเครื่องช่วยเดิน ประกอบด้วย วัสดุโครงสร้างหลักเป็นอลูมิเนียม6061 วัสดุเก้าอี้เป็นสแตนเลสสตีล304 น้ำหนักชิ้นงานหลังการพัฒนารวมที่นั่ง 3.86 กิโลกรัม โดยประกอบด้วยน้ำหนักของเครื่องช่วยเดินไม่รวมที่นั่ง 2.78 กิโลกรัม และน้ำหนักที่นั่ง 1.08 กิโลกรัม ตัวโครงด้านหน้าและโครงด้านข้างสำหรับรับน้ำหนักผู้ใช้และส่งแรงไปยังขาทั้ง 4 ขา โดยโครงด้านหน้าเป็นโครงประกอบขึ้นจากกรอบโครงแข็งปิดล้อมที่ว่าง อย่างน้อย 2 ชิ้น ซึ่งมีส่วนของกรอบโครงวางตัวในแนวตั้ง สำหรับติดตั้งขนานกับโครงรับของโครงด้านข้าง หรือติดตั้งขนานกับส่วนของกรอบโครงวางตัวในแนวตั้งของกรอบโครงแข็งปิดล้อมที่ว่างอื่นๆ และเชื่อมต่อด้วยบานพับ มีกลไกการล็อคการพับขณะใช้งาน โครงด้านข้างมีลักษณะโครงรูปตัวยูคว่ำ มีส่วนมือจับด้านบน มีโครงรับเป็นโครงตามแนวตั้ง มีโครงในแนวแกนนอนยึดที่ส่วนล่างระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง และมีโครงรองรับส่วนที่นั่งซึ่งมีส่วนค้ำติดตั้งด้านใต้สำหรับช่วยรับน้ำหนัก มีโครงที่นั่งซึ่งมีลักษณะเป็นกรอบโครงแข็งปิดล้อมที่ว่าง ซึ่งมีกลไกเก็บส่วนที่นั่งและกลไกยึดโครงที่นั่งติดตั้งด้านบน จึงทำให้เครื่องช่วยเดินแบบพกพานี้สามารถพับทบได้อย่างน้อย 4 ทบ สามารถใช้งานในการช่วยยืนหรือเดิน และนั่งพักได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งพับเก็บ พกพาได้สะดวกในเครื่องเดียวกัน โดยกระบวนการผลิตนี้ ได้ผ่านการออกแบบ และทดสอบแรงในขณะใช้งานจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม

   รูปแบบเครื่องช่วยเดินแบบพกพาที่พัฒนาขึ้นนี้ยังไม่เคยมีที่ใดผลิตมาก่อน และได้รับรางวัล “The Best Paper” ใน Session Sports Therapies and Biomechanics ในการประชุม 7th Asia Pacific Conference on Exercise and Sports Science (APCESS 2015) ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

1

สมภิยา อรอุมา ธำรงค์

ที่มาข้อมูล : ผลงานนวัตกรรม เกษตรศาสตร์นำไทย สู้ภัยแล้ง 

งานเกษตรแฟร์ ปี 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : อ.สมภิยา สมถวิล 

สาขาวิชาจิตวิทยาการกีฬา

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

เรียบเรียง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

           อ.สมภิยา สมถวิล  

         ดร.อรอุมา บุณยารมย์ 

      ผศ.ดร.ธำรงค์ พุทธาพิทักษ์ผล