ศักยภาพการใช้สารสกัดจากเสม็ดเพื่อควบคุมวัชพืช

  การใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช ก่อให้เกิดผลตกค้างในพืชและในดิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต  เป็นปัญหากระทบต่อห่วงโซ่อาหาร สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ  ปัจจุบันมีการศึกษาและนำสารจากพืชต่างๆมาใช้แทนสารเคมีสังเคราะห์ เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีในการเกษตร  สารที่พืชสร้างขึ้นและปลดปล่อยสู่ธรรมชาติที่เรียกว่าสารอัลลิโลเคมี(allelochemical substance) เป็นสารที่มีองค์ประกอบทางเคมีที่มีผลทั้งทางด้านยับยั้ง และ กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชอื่นได้ในระบบนิเวศเกษตร จึงมีการศึกษาผลทางอัลลิโลพาธี(allelopathy) ทั้งในพืชปลูกต่อพืชปลูก วัชพืชต่อวัชพืช และวัชพืชต่อพืชปลูก เพื่อนำมาพัฒนาใช้ทางการการเกษตร

   รศ.ดร.สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่าพืชชายเลนในธรรมชาติ เช่น โกงกาง ลำแพน แสม และเสม็ด โดยมากมักขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่และจะพบว่าไม่มีพืชชนิดอื่นขึ้นแทรก โดยเฉพาะวัชพืชต่างๆ พืชเหล่านี้มีแนวโน้มว่า อาจมีสารบางชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นสารอัลลิโลเคมีในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชบางชนิด พืชเหล่านี้จึงน่าจะเป็นพืชที่มีศักยภาพทางอัลลิโลพาธี หรือนำมาใช้เป็นสารธรรมชาติในการควบคุมวัชพืชได้  และจากการสืบค้นรายงานวิจัยต่างๆพบว่ามีการใช้เสม็ดเป็นสารต้านจุลชีพและสารกำจัดแมลง ดังนั้น รศ.ดร.สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์ จึงได้นำเสม็ดขาวมาศึกษาผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช และการงอกของเมล็ดวัชพืช

 3

2

   เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi Powell) เป็นไม้ป่าชายเลนขึ้นกระจายตามธรรมชาติในเขตร้อนสามารถขึ้นได้ในทุกสภาพทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง พื้นที่ดอนดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พื้นที่ดินสภาพเป็นกรด พื้นที่หลังแนวเขตป่าชายเลนต่อกับป่าบก  จากการวิเคราะห์ส่วนของลำต้นใบ เมล็ด ของเสม็ด พบว่ามีสารแทนนินเป็นองค์ประกอบ สารแทนนินเป็นพอลิเมอร์ของสารประกอบฟีนอล ซึ่งเป็นสารทุติยภูมิที่พืชสร้างขึ้น และจัดเป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช จึงได้ทำการสกัดสารออกฤทธิ์ด้วยเมทานอลจากส่วนของใบและกิ่งเสม็ดขาว โดยนำสารสกัดมาทดสอบผลที่มีต่อการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชจากแปลงข้าวโพดไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ จังหวัดนครราชสีมา 12 ชนิด ได้แก่ กะเม็ง กระดุมใบ ตีนตุ๊กแก ต้อยติ่ง บานไม่รู้โรยป่า ผักโขม ผักเบี้ย หญ้ายาง หญ้าโขย่ง หญ้ารังนก หญ้าพันงู และหญ้าบุ้ง ในระดับห้องปฏิบัติการ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากใบเสม็ดจะให้ผลในการยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของต้นกล้าวัชพืชได้ดีกว่าสารสกัดจากกิ่งเสม็ด สารสกัดจากใบเสม็ด 1 กรัมน้ำหนักแห้งจะยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชทั้ง 12 ชนิดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสารสกัดจากกิ่งเสม็ดจะให้ผลในการยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชได้10 ชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้น หญ้ายาง และหญ้าพันงู  ส่วนการทดสอบผลการยับยั้งการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของวัชพืช 5 ชนิด คือหญ้ายาง ต้อยติ่ง หญ้าโขย่ง หญ้าบุ้ง และหญ้าพันงู ที่ปลูกในกระถาง ทำการทดสอบหาระดับความเข้มข้นของสารจากเสม็ดที่เหมาะสมจากระดับ 5 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และวิธีการให้สารได้แก่ วิธีการสเปรย์และวิธีผสมดินปลูก มีชุดการทดลองที่ไม่ใส่สารจากเสม็ดเป็นชุดควบคุม ผลการทดสอบพบว่า สารจากใบเสม็ดยับยั้งการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบของวัชพืชทั้ง 5 ชนิดได้ดีกว่าสารจากกิ่งเสม็ด การสเปรย์สารจากใบเสม็ดที่ความเข้มข้น 15 เปอร์เซ็นต์ สามารถยับยั้งการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของหญ้ายาง และหญ้าบุ้ง ได้สูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการผสมใบเสม็ดบดละเอียดในดินปลูกที่ความเข้มข้น 15 เปอร์เซ็นต์ จะยับยั้งการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของต้อยติ่งได้สูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ ยับยั้งการงอกของวัชพืชที่เหลือได้ 85-92 เปอร์เซ็นต์  

1

  ในการทดสอบผลของสารสกัดจากใบและกิ่งเสม็ดที่มีต่อการงอกและเจริญเติบโตของวัชพืชต่างๆ ในแปลงข้าวโพดและต่อต้นข้าวโพดในแปลง พบว่าสารสกัดจากใบเสม็ดความเข้มข้น 15 เปอร์เซ็นต์ สเปรย์ ทำให้ความหนาแน่นของวัชพืชในแปลงลดลง และยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช ทำให้น้ำหนักแห้งของวัชพืชในแปลงดลงมากกว่าชุดการทดลองอื่น โดยจะให้ผลดีในระยะแรกของการปลูก แต่ในระยะ 60 – 120 วันหลังปลูก ประสิทธิภาพน้อยลง และพบว่า สารจากเสม็ดไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดทั้งด้านความสูง ขนาดต้น น้ำหนักต้น ข้าวโพด วันออกดอก วันออกไหม และผลผลิตข้าวโพด

  นอกจากนั้นยังได้ทำการศึกษากลุ่มสารอัลลิโลเคมีจากใบเสม็ด พบว่าส่วนที่ละลายในไดคลอโรมีเทน ที่แยกด้วยวิธีแบ่งปันสารละลาย ให้ผลดีในการยับยั้งการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของต้นกล้าวัชพืชได้ดีกว่าสารสกัดส่วนที่ละลายในเฮกเซน เอทิลอะซิเทต และเมทานอล และได้ทำการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากใบเสม็ด ที่มีบทบาทการยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชในปริมาณสูง. องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้สามารถนำมาต่อยอด ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพใช้ควบคุมวัชพืชต่อไป

สมบุญ

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์

ภาควิชาพฤกษศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรียบเรียง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์