รายการวิทยุ เรื่อง การใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารปลา/อุทัย คันโธ

https://www.youtube.com/watch?v=bksis_ly6bw&feature=youtu.be

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่28 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เรื่อง  การใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารปลา

บทวิทยุโดย  รติกาล   สุขใจ

………………………………………………………………….

 -เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่านคะ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศให้ผู้ฟังได้ฟังกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ รายการนี้ผลิตโดย        ฝ่ายประยุกต์และถ่ายทอดงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีดิฉัน…………………………………………เป็นผู้ดำเนินรายการ วันนี้ดิฉันขอเสนอเรื่อง “การใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารปลา”

คุณผู้ฟังคะ มันสำปะหลังจัดว่าเป็นวัตถุดิบอาหารแป้ง หรือวัตถุดิบอาหารพลังงานที่มีราคาถูก เมื่อเทียบกับวัตถุดิบอาหารพลังงานชนิดอื่นๆ เช่น ปลายข้าว และข้าวโพด นอกจากนี้การปลูกมันสำปะหลังยังกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในเขตภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย ยกเว้นเพียงภาคใต้ของประเทศไทยเพียงเท่านั้นที่ไม่มีการปลูกมันสำปะหลัง มันสำปะหลังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารทดแทนข้าวโพดและปลายข้าวได้ดีในสูตรอาหารสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งในอาหารสัตว์น้ำด้วย จากผลการวิจัยการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ในภาคสนาม และการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์น้ำพบว่า มันสำปะหลังสามารถใช้ทดแทนข้าวโพดและปลายข้าวในอาหารสัตว์ทุกชนิด รวมถึงสัตว์น้ำโดยไม่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการผลิตและการสืบพันธุ์แต่ประการใดค่ะ  นอกจากนี้ มันสำปะหลังยังมีข้อดีเหนือกว่าการใช้ปลายข้าวและข้าวโพดตรงที่สูตรอาหารมันสำปะหลังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์ให้สูงขึ้น สัตว์เลี้ยงมีความทนทานต่อโรคมากขึ้น อัตรารอดชีวิตมากขึ้น สามารถลดการใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์ลงได้มาก หรือไม่ต้องใช้เลยก็ได้ มันสำปะหลังจึงเป็นวัตถุดิบอาหารที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งค่ะ

ด้วยเหตุนี้  รศ.อุทัย คันโธ  จากศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ สถาบันสุวรรณวาจากสิกิจฯ และภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้ทำการวิจัยและพัฒนาในการนำมันสำปะหลังมาใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำค่ะ รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามในช่วงหน้าค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังคะ สำหรับการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์น้ำนั้น สามารถใช้ได้ 2 รูปแบบ ค่ะ แบบแรกคือ การใช้ในรูปหัวมันสำปะหลังสด เป็นการนำมันสำปะหลังสดมาผ่านการต้มหรือนึ่งให้สุกและผสมกับวัตถุดิบอาหารชนิดอื่นๆ เพื่อให้ได้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางอาหารครบตามความต้องการของสัตว์น้ำที่จะเลี้ยง โดยทั่วไปมักใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปของอาหารปั้นเท่านั้น  แบบที่สอง คือการใช้ในรูปมันสำปะหลังแห้งหรือมันเส้น  โดยทำการบดมันเส้นให้ละเอียด แล้วผสมกับวัตถุดิบอาหารชนิดอื่นๆ เพื่อให้ได้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางอาหารครบตามความต้องการของสัตว์น้ำที่จะเลี้ยง จากนั้นจึงทำการแปรสภาพอาหารให้เป็นอาหารปั้นหรือเป็นอาหารเม็ดนิ่มโดยใช้เครื่องอัดแบบมินเซอร์ หรือทำเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำโดยเครื่องอัดเม็ดแบบเอ็กทรูดเดอร์ค่ะ

สำหรับการใช้มันสำปะหลังในรูปมันเส้นจะมีความสะดวกสบายมากกว่าการใช้มันสำปะหลังในรูปหัวมันสด ทั้งนี้เพราะมันเส้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไป สะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เสีย มันเส้นที่แห้งและบดละเอียดแล้วเก็บใส่กระสอบอาหารสามารถเก็บได้เป็นเวลา 8-10 เดือนโดยไม่มีมอดมากิน ส่วนการใช้หัวมันสำปะหลังสดจะมีความยุ่งยากและมีความไม่สะดวกในการใช้ผสมอาหารสัตว์น้ำมากกว่าค่ะ ทั้งนี้เนื่องจากหัวมันสำปะหลังสดต้องใช้ผสมอาหารอย่างรวดเร็ว เมื่อขุดขึ้นมาจากดินและหัวมันสำปะหลังถูกตัดออกมาจากต้นแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากหัวมันสำปะหลังจะมีการเน่าเสียและเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อหัวมันสำปะหลังถูกขุดขึ้นมาจากดิน ทำให้เกษตรกรต้องซื้อหัวมันสดทุกวันและซื้อเฉพาะส่วนที่จะใช้ผสมในวันนั้นเท่านั้น แม้หัวมันสำปะหลังสดจะมีราคาต่อกิโลกรัมถูกกว่ามันเส้น แต่หัวมันสดมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 65-75% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูการขุดหัวมันสำปะหลังด้วย จึงทำให้หัวมันสดมีส่วนที่เป็นคุณค่าทางอาหารและเป็นประโยชน์ต่อปลาจริงๆ เพียง 25-35% ของมันเส้นเท่านั้น นอกจากนี้เกษตรกรต้องเสียค่าขนส่งน้ำในหัวมันสำปะหลังสดมาที่ฟาร์มของเกษตรกรด้วย ยิ่งทำให้ต้นทุนการใช้หัวมันสำปะหลังแพงมากขึ้นไปอีก ในการนำหัวมันสดไปเลี้ยงปลา เกษตรกรต้องมีการนึ่งแป้งในหัวมันสดให้สุกเพื่อให้สัตว์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และเพื่อเป็นการลดปริมาณสารพิษ คือกรดไฮโดรไซยานิคด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายทั้งในแง่การลงทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ ที่สำคัญคือ การใช้หัวมันสดเลี้ยงสัตว์น้ำจะกระทำได้สะดวกเฉพาะการเลี้ยงสัตว์น้ำที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลัง เพราะถ้าหากไกลมาก ค่าขนส่งหัวมันสดจะเป็นต้นทุนทำให้อาหารสัตว์ที่ผลิตได้มีราคาแพงขึ้น จึงจะเห็นได้ว่าการใช้มันเส้นเป็นอาหารสัตว์น้ำ มีความสะดวกในเชิงปฏิบัติมากที่สุด วัตถุดิบอาหารมีความสม่ำเสมอของคุณภาพมากกว่า และก่อให้เกิดผลดีต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำมากที่สุดด้วยค่ะ

คุณผู้ฟังคะ ในช่วงหน้าเรามาทราบวิธีและขั้นตอนการทำอาหารสัตว์น้ำด้วยมันสำปะหลังในรูปแบบต่างๆ กันค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังคะ ตามหลักแล้วสัตว์น้ำจะกินอาหารในน้ำ เพราะฉะนั้นการให้อาหารสัตว์น้ำจึงจำเป็นที่จะต้องทำอาหารให้เป็นเม็ด โดยจะเป็นเม็ดอาหารจมน้ำ หรือเม็ดอาหารลอยน้ำ หรือจะปั้นเป็นก้อนก็ได้ เพื่อให้สัตว์น้ำสามารถกินวัตถุดิบอาหารทุกชนิดในสูตรอาหารได้ครบถ้วนพร้อมกัน แต่อาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำต้องมีความคงทนในน้ำได้ดี เม็ดหรือก้อนอาหารไม่ยุ่ยหรือไม่แตกง่าย อาหารต้องอยู่ในสภาพที่เป็นอาหารผสม ไม่แตกตัวจนกว่าสัตว์น้ำจะกินอาหารหมด นอกจากนี้สัตว์น้ำเป็นสัตว์ที่มีทางเดินอาหารสั้นเมื่อเทียบกับสัตว์บก จึงทำให้สัตว์น้ำโดยทั่วไปมีระบบทางเดินอาหารสั้นและกิจกรรมน้ำย่อยแป้งต่ำ แต่ในการเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการเสริมอาหารให้กับสัตว์น้ำ โดยวัตถุดิบอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชจากบนบก ซึ่งสัตว์น้ำย่อยแป้งจากพืชบกได้ยากกว่าแป้งที่ได้จากพืชน้ำ ดังนั้นในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์น้ำจึงจำเป็นต้องทำให้แป้งในอาหารสุกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อนนำไปเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นการช่วยทำให้แป้งจากพืชบนบกสามารถย่อยได้ดีโดยสัตว์น้ำนั่นเอง

หลักในการผลิตอาหารสัตว์น้ำให้มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นต้องประกอบด้วยกระบวนการบดวัตถุดิบอาหารให้มีความละเอียด จากนั้นทำการผสมอาหารแต่ละชนิดในสูตรอาหารให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน  และสุดท้ายคือการนำอาหารที่ผสมแล้วปั้นเป็นก้อน หรือทำเป็นอาหารเม็ดแบบจมน้ำหรือลอยน้ำ            ในกระบวนการผลิตอาหารข้างต้น โดยเฉพาะกระบวนการอัดเม็ดจะมีความร้อนเกิดขึ้น ความร้อนดังกล่าวจะต้องช่วยทำให้แป้งในอาหารสุกมากพอที่จะทำให้สัตว์น้ำสามารถย่อยและใช้ประโยชน์ได้ดี แต่ถ้ากระบวนการอัดเม็ดหรือปั้นก้อนไม่สามารถทำให้เกิดความร้อนเพียงพอจนแป้งสุก ผู้ผลิตอาหารจะต้องใช้วิธีทำให้แป้งในวัตถุดิบอาหารสุกก่อนนำมาอัดเม็ด เช่น ใช้วิธีต้มวัตถุดิบอาหารที่เป็นแป้งให้สุกก่อน หรืออาจเลือกใช้วัตถุดิบอาหารที่สุกแล้ว เช่น เศษหมี่ เศษก๋วยเตี๋ยว เศษข้าวสุก แป้งข้าวโพดหรือแป้งปลายข้าวเป็นอาหารสัตว์น้ำค่ะ

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังคะ วันนี้รายการของเราขอนำเสนอการใช้มันสำปะหลังในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ 3 แบบด้วยกัน ซึ่งได้แก่ การทำอาหารปั้นก้อน อาหารเม็ดจมน้ำ และอาหารเม็ดลอยน้ำค่ะ

เริ่มด้วยการทำอาหารแบบปั้นก้อนกันก่อนเลยค่ะ  อาหารปั้นก้อนคือ การนำอาหารแห้งที่ผสมเสร็จเรียบร้อยแล้วมาคลุกหรือผสมกับน้ำให้มีความชื้นประมาณ 50% จากนั้นจึงทำการนวดและขยี้อาหารเพื่อให้แป้งในอาหารเกิดลักษณะเหนียวเป็นก้อน ไม่ละลายน้ำ แล้วจึงนำไปวางใต้น้ำเพื่อให้สัตว์น้ำ เช่น ปลา มาตอดกินอาหารจนหมด การทำอาหารสัตว์น้ำแบบปั้นก้อนเหมาะกับการใช้วัตถุดิบอาหารเปียกหรืออาหารสดที่มีความชื้นสูง เช่น กากมันสำปะหลังสด กากนมถั่วเหลืองสด ปลาสด ไส้ไก่สด ฯลฯ มาผสมกับวัตถุดิบอาหารแห้ง เช่น กากถั่วเหลือง มันเส้นบด รวมทั้งพรีมิกซ์ซึ่งบางครั้งเรียกว่า อาหารเสริม เป็นสารผสมล่วงหน้าที่มีส่วนผสมจากหัวไวตามินและแร่ธาตุซึ่งไม่สามารถนำไปผสมกับอาหารได้โดยตรง เพราะอาจมีปัญหาเรื่องการผสมอาหารไม่ทั่วถึง จึงมักถูกผสมล่วงหน้าไว้กับวัตถุดิบบางชนิด เช่น กากถั่วเหลือง รำ แกลบบด หรือหินปูน เป็นต้น

การทำอาหารแบบปั้นก้อนนี้มีความจำเป็นต้องนวดอาหารให้เหนียวเป็นก้อนก่อน แต่การนวดอาหารหากใช้แรงงานคนจะเสียเวลาและทำได้ช้ามาก อีกทั้งต้องการแรงงานมาก ในทางปฏิบัติอาจใช้เครื่องบดแบบมินเซอร์มีเกลียวสกรูที่สามารถนวดอาหารที่อยู่ในเครื่องจนแป้งเกิดการสุก สัตว์น้ำสามารถย่อยและใช้ประโยชนได้มากขึ้นอีกทั้งเนื้อแป้งมีการแปรสภาพให้มีความหนืดมากขึ้น ทำให้สามารถคงทนในน้ำได้ดี สัตว์น้ำสามารถกินอาหารได้หมด น้ำในบ่อเลี้ยงไม่เน่าเสีย แต่การทำอาหารปั้นก้อนนั้นต้องทำและใช้งานเลย มื้อต่อมื้อของการเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเพราะอาจเกิดการเน่าเสียได้ค่ะ

และนี่ก็คือสูตรอาหารปั้นก้อนที่ใช้ในการเลี้ยงปลานิลขนาดกลางค่ะ ซึ่งประกอบด้วย กากมันสำปะหลังสด 60 กก. รำละเอียด 12 กก. กากถั่วเหลือง 44% 32 กก. ถั่วเหลืองเอ็กทรูด 10 กก. ปลาป่น 64 % 15 กก. น้ำมันรำ 1 กก. เกลือ 3 ขีด พรีมิกซ์ 5 ขีด รวมทั้งหมด 130.8 กก.ค่ะ สำหรับสูตรที่เลี้ยงปลานิลใหญ่นั้น เพียงแค่เพิ่มกากมันสำปะหลังสด เป็น 70 กก. และลดถั่วเหลืองเอ็กทรูกลงเหลือเพียง 5 กก.ค่ะ

สูตรอาหารสัตว์น้ำแบบต่อไปคือ การทำอาหารเม็ดจมน้ำที่เป็นอาหารแห้งค่ะ ซึ่งการผลิตอาหารชนิดนี้เป็นการผลิตอาหารเม็ดสำหรับสัตว์น้ำที่ทำเป็นอาหารเม็ดแห้ง สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น แต่จมในน้ำขณะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทั่วไปจะใช้เครื่องอัดเม็ดนิ่มหรือเครื่องบดแบบมินเซอร์ มาดัดแปลงเพื่อใช้ในการทำอาหารเม็ดจมน้ำดังกล่าว โดยมีขั้นตอนกระบวนการผลิตอาหาร คือ นำอาหารที่ผสมเสร็จแล้วมาผสมกับน้ำให้มีความชื้นเพิ่มขึ้นเป็น 20-25 % โดยการเติมน้ำอีกประมาณ 12-15 กก. ต่ออาหาร 100 กก. คลุกน้ำกับอาหารให้เข้ากันดี ให้ความชื้นในอาหารมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปจะใช้เครื่องผสมถังนอนแบบใบพายเป็นตัวช่วยผสม จากนั้นจึงป้อนเข้าเครื่องอัดเม็ดแบบมินเซอร์ซึ่งเครื่องอัดเม็ดจะรีดอาหารออกมาเป็นเส้นยาว จากนั้นเกษตรกรจึงนำเอาเส้นอาหารไปทำให้แห้งโดยวิธีการใดก็ได้ แต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การผึ่งแดด ระหว่างการผึ่งแดด ต้องมีการเกลี่ยและกลับอาหารบนลานตากเป็นระยะๆ เพื่อให้อาหารแห้งอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ การเกลี่ยและกลับอาหารช่วยให้เส้นอาหารหักออกเป็นชิ้นสั้นลง และเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น เมื่ออาหารแห้งแล้ว จึงนำอาหารมาผึ่งในที่ร่มเพื่อให้มีอุณหภูมิลดลง  แล้วจึงเก็บใส่ภาชนะบรรจุ เช่น กระสอบ หรือถุงพลาสติกไว้เพื่อให้สัตว์น้ำต่อไป แต่เนื่องจากอาหารสัตว์น้ำเป็นอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเม็ดที่แห้งแล้วสามารถเก็บได้ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น หากเก็บนานกว่านี้ อาจมีปัญหาการหืนของไขมันในอาหาร ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้เลี้ยงสัตว์น้ำค่ะ

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังคะ อาหารสัตว์น้ำอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ อาหารเม็ดลอยน้ำค่ะ  เป็นการทำอาหารสัตว์น้ำให้มีลักษณะพองตัว เมื่อโยนอาหารนั้นลงในน้ำเม็ดอาหารจะลอยน้ำ ซึ่งจะมีข้อดีคือ สามารถควบคุมการให้อาหารสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารที่สัตว์น้ำกินไม่หมดจะยังลอยอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถช้อนทิ้งได้ ทำให้ลดการเน่าเสียของน้ำในบ่อ โดยปกติอาหารเม็ดลอยน้ำมักผลิตโดยบริษัทอาหารสัตว์ โดยใช้เครื่องเอ็กทรูดเดอร์ที่มีราคาแพง มีกำลังการผลิตสูง แต่ปัจจุบัน ได้มีผู้พัฒนาเครื่องเอ็กทรูดเดอร์ขนาดเล็กผลิตในประเทศไทยที่มีกำลังการผลิตอาหารเม็ดลอยน้ำได้วันละประมาณ 2-3 ตัน ที่การทำงาน 8 ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ในฟาร์มของเกษตรกร  อีกทั้งยังมีราคาถูก เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำสามารถซื้อมาใช้ผลิตอาหารลอยน้ำใช้เองในฟาร์มได้  เครื่องทำอาหารเม็ดลอยน้ำหรือเครื่องเอ็กทรูดเดอร์ขนาดเล็กมีหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องอัดเม็ดแบบมินเซอร์ แต่เครื่องเอ็กทรูดเดอร์ขนาดเล็กถูกออกแบบให้มีกระบอกอัดเม็ดยาวขึ้น อีกทั้งเกลียวอัดภายในก็ถูกออกแบบให้สามารถนวดและขยี้อาหารให้เกิดความสุกมากขึ้น มีผลให้ขณะทำการอัดเม็ดอาหารในกระบอกมีความร้อนและความดันเกิดขึ้นสูงมาก อาหารในกระบอกแปรสภาพเป็นของเหลวและน้ำในอาหารจะร้อนจนเดือดเป็นไอ เมื่ออาหารหลุดออกมาจากกระบอกอัด อาหารจะเกิดการพองตัวทันที และความชื้นก็จะระเหยออกอย่างรวดเร็ว ทำให้อาหารแห้งเร็ว แม้ยังไม่ได้ผึ่งแดดก็ตาม

การผลิตอาหารเม็ดลอยน้ำ มีวิธีการทำคล้ายกับการอัดเม็ดอาหารแบบจมน้ำด้วยเครื่องอัดแบบมินเซอร์ โดยอาหารแห้งที่บดและผสมเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการเพิ่มความชื้นให้สูงขึ้นเป็น 20-25 % โดยการเติมน้ำอีกประมาณ 12-15 กก.ต่ออาหาร 100 กก. คลุกน้ำกับอาหารเข้ากันดี ให้ความชื้นในอาหารมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปจะใช้เครื่องผสมถังนอนแบบใบพายเป็นตัวช่วยผสม จากนั้นจึงทำการป้อนอาหารเข้าเครื่องเอ็กทรูดเดอร์ขนาดเล็ก ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะทำการรีดอาหารออกมาจากเครื่องให้เป็นเส้นอาหารยาวออกมาเช่นเดียวกัน จะมีใบมีดหมุนเพื่อตัดเส้นอาหารให้มีขนาดสั้นยาวได้ตามความต้องการได้ ชิ้นอาหารที่สั้นและพองตัวจะมีผลทำให้เม็ดอาหารมีลักษณะกลมเหมือนกับอาหารลอยน้ำที่ผลิตโดยบริษัทผลิตอาหารสัตว์ทั่วไป อาหารเม็ดที่ออกมาจากเครื่องจะแห้งอย่างรวดเร็ว เพราะการระเหยของน้ำในเม็ดอาหาร ถ้าใช้พัดลมเป่าเม็ดอาหารเข้าช่วยด้วยจะทำให้อาหารนั้นแห้งเร็วขึ้น

คุณผู้ฟังคะ สำหรับสูตรอาหารที่ใช้ในการผลิตอาหารเม็ดจมน้ำและลอยน้ำในการเลี้ยงปลานิลขนาดกลางนั้น มีส่วนประกอบดังนี้ค่ะ มันสำปะหลังสด 30.2 กก. รำละเอียด 12 กก. กากถั่วเหลือง 44 % 32 กก. ถั่วเหลืองเอ็กทรูด 10 กก. ปลาป่น 64% 15 กก. เกลือ 3 ขีด พรีมิกซ์ 5 ขีด  รวมส่วนผสมทั้งหมดเท่ากับ 100 กก. ส่วนสูตรที่ใช้เลี้ยงปลานิลใหญ่นั้น เพียงแค่เพิ่มมันสำปะหลังสด เป็น 33.2 กก. ลดกากถั่วเหลืองเหลือ 28 กก. และเพิ่มน้ำมันรำอีก 1 กก. นอกนั้นก็ใช้ส่วนผสมในอัตราส่วนเท่าเดิม นอกจากนี้แล้วเกษตรกรต้องมีการเสริมไวตามินซีในอัตรา 200 กรัมต่ออาหาร 1 ตัน หรือ 20 กรัมต่ออาหาร 100 กก.ในอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำทุกสูตรด้วยค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังคะ การที่เกษตรกรจะเลือกใช้เครื่องจักรในการผลิตอาหารสัตว์น้ำอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ซึ่งได้แก่ ชนิดของวัตถุดิบอาหารที่หาได้เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ ความต้องการความสะดวกของเกษตรกรในการบริหารและการจัดการผลิตอาหารสัตว์น้ำ รวมทั้งกำลังทุนทรัพย์ของเกษตรกรด้วยค่ะ อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารสัตว์น้ำใช้เองในฟาร์มไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าทำอย่างถูกต้อง แป้งสุกอย่างเต็มที่จะทำให้อาหารมีการย่อยได้และใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์น้ำได้ดี ทำให้มีการเติบโตและให้ผลผลิตเต็มที่ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำได้มาก  ซึ่งเป็นทางรอดอีกทางหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะคุณผู้ฟัง สำหรับการใช้มันสำปะหลังในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปแบบต่างๆ ดิฉันหวังว่า สาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะคะ คุณผู้ฟังสามารถติชมรายการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยการเขียนจดหมายและจ่าหน้าซองมายัง  “สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเล็บมุมซองว่า “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903” หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 และ 0-2579-5548 ในวันและเวลาราชการค่ะ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีค่ะ

 

……………………………………………………………………………………………………………