รายการวิทยุ เรื่อง ธูปหอมชนิดแท่งจากกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมัน

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่10 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2558

เรื่อง ธูปหอมชนิดแท่งจากกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมัน

บทวิทยุโดย  รติกาล   สุขใจ

……………………………………………………………………………………………..

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่านคะ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศให้ผู้ฟังได้ฟังกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ค่ะ รายการนี้ผลิตโดย        ฝ่ายประยุกต์และถ่ายทอดงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราก็เป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวงานวิจัยดีดีที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีดิฉัน…………………..เป็นผู้ดำเนินรายการ และเรื่องที่จะนำเสนอในวันนี้เป็นเรื่อง “ธูปหอมชนิดแท่งจากกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมัน” ค่ะ

ปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยสูงถึง 3,600 ล้านบาทต่อปี โดยแยกเป็นการนำเข้าของสารที่มีกลิ่นหอมร้อยละ 91.5 และน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 8.5 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากน้ำมันหอมระเหย ก็มีการนำเข้าประมาณ 3,800 ล้านบาท เช่น ลิปสติก, หัวน้ำหอม และน้ำหอม สิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับเส้นผม สิ่งปรุงแต่งเพื่ออนามัยในช่องปาก และอื่นๆ โดยตลาดหลักที่นำเข้าคือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฮ่องกง และคาดว่าจะมีแนวโน้มการส่งออกน้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกน้ำมันหอมระเหย และสารผสมที่มีกลิ่นหอม มีมูลค่าประมาณ 1,900 ล้านบาทต่อปี ลักษณะของการใช้น้ำมันหอมระเหยโดยทั่วไป มีลักษณะที่ต่างกัน คือ การนวด การอาบน้ำ การใช้กลิ่นหอมต่างๆ ที่เรียกว่า สุวคนธบำบัด หรือ อโรมาเธอราพี หมายถึง การบำบัดรักษาเพื่อให้บรรเทาหรือทุเลาอาการด้วยเครื่องหอม ซึ่งมีสรรพคุณ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของร่างกาย เช่น บรรเทาอาการอักเสบ บรรเทาอาการของโรคความดันสูงและต่ำ บรรเทาอาการหวัด ไอ และปวดเมื่อย และป้องกันแผลติดเชื้อ เป็นต้น กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มออกฤทธิ์ให้สดชื่น เช่น ช่วยให้สดชื่น ขจัดความวิตกกังวล ลดความท้อแท้วิตกกังวล และหดหู่ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และความเครียด เป็นต้น และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มออกฤทธิ์ให้ผ่อนคลาย เช่น ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและความเครียด บรรเทาอาการหวัด นอนไม่หลับ

คุณผู้ฟังคะ ผลิตภัณฑ์ธูปหอมที่ใช้กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยต่างๆ เมื่อจุด จะทำให้มีกลิ่นระเหยออกมาในอากาศ ทำให้บรรยากาศสดชื่น สามารถทำให้อาการวิตก กังวล หดหู่ และความเครียดบรรเทาลงได้ ทั้งนี้จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับชนิดและประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยนั้นๆ ค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังคะ ธูปเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละคนมีความเชื่อถือ หรือกราบไหว้เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ ใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนานับเป็นเวลานานแล้วค่ะ ธูปในประเทศไทยมีการพัฒนามานาน และต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสีสัน กลิ่นของธูปและรูปร่าง ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เช่น รูปร่างเป็นอักขระ หรือภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถแบ่งแยกประเภทของธูป เป็นธูปที่ใช้จุดไหว้พระ ไหว้พระพรหม ไหว้รัชกาลที่ 5 ไหว้เจ้าแม่กวนอิม โดยแบบที่นิยมใช้กันมากจะเป็นแท่งและขดวงกลม ราคาค่อนข้างถูก หาซื้อได้ง่ายค่ะ

เรามาพูดถึงในเรื่องของไม้กฤษณากันบ้างค่ะคุณผู้ฟัง ซึ่งไม้กฤษณานั้นเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น ที่มีตั้งแต่ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ สรรพคุณของเนื้อไม้ เมื่อนำมาสกัดด้วยไอน้ำ ก็จะได้น้ำมันหอมออกมา ซึ่งเรียกว่า Agar-atar (อะการ์-อาตาร์) และ chuwah (ชูว่าห์) ของประเทศอัสสัม เนื้อไม้ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาเจียน แก้วิงเวียนศีรษะ ท้องร่วง โรคปวดขัดตามข้อ โดยให้นำมาผสมกับยาหอมกิน สำหรับคนป่วยที่มีความกระหายน้ำมากให้นำมาต้มน้ำดื่ม  สำหรับชันไม้กฤษณา ชาวฮินดูนิยมนำมาใช้จุดไฟให้มีกลิ่นหอมในโบสถ์ ไม้กฤษณามีถิ่นกำเนิดอยู่ทางแถบเขตร้อนของเอเชีย เช่น ในประเทศมาเลเซีย ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศไทย ซึ่งมีมากในแถบของจังหวัดตราด และจังหวัดจันทบุรี เนื้อไม้กฤษณาที่ดีนั้น ต้องมีกลิ่นหอม และเป็นสีดำ วิธีที่จะใช้พิสูจน์ว่า คุณภาพของไม้ดีหรือไม่ดีนั้น กระทำโดยให้ตัดเป็นท่อนๆ แล้วโยนลงไปในน้ำ จากนั้นสังเกตว่าท่อนใดจมน้ำทันที เราเรียกว่า Gharki (การ์กกิ) ส่วนท่อนที่ลอยน้ำ เรียกว่า samaleh (ซามาเลห์) ซึ่งชนิดนี้เราจะพบกันทั่วไป และสำหรับท่อนที่ลอยปริ่มน้ำ เรียกว่า samaleh-l-aala (ซามาเล่ห์-แอล-อาล่า) หรือ Neem Gharki (นีม การ์กกิ) จะเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือสีน้ำตาลอ่อน จะไม่นิยมใช้ในทางยา นอกจากนี้ยังมีวิธีที่จะพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งคือ โดยการนำเอาเนื้อไม้ไปฝังดินไว้ เนื้อไม้ที่ดีก็จะค่อยๆเปลี่ยนสีเป็นสีดำ และกลิ่นของมันก็จะหอมด้วย นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำกลิ่นมาใช้บำบัดได้ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ ช่วยผ่อนคลายวิตกกังวล กลิ่นดอกแก้ว ช่วยให้สดชื่น กลิ่นมะลิ ช่วยคลายวิตกกังวล แก้ปวดศีรษะ กลิ่นจำปี ช่วยให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า และกลิ่นพิกุล ช่วยให้บำรุงหัวใจ ชุ่มชื่นใจ ขับเสมหะ และรักษาอาการไข้ได้

ดังนั้น ถ้าหากนำส่วนเหลือที่เป็นกากของไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมันหอมระเหยแล้ว แต่ยังมีความหอมอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำธูปหอม ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือดังกล่าวได้ และช่วยทำให้สุขภาพของผู้ใช้ดีขึ้นด้วย การศึกษาทดลองในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธูปหอมชนิดแท่งจากกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมันแล้วให้มีความหอม และคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยมีขอบเขตใช้กากไม้กฤษณา ที่ผ่านการสกัดน้ำมันแล้ว มาพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิต ให้ได้ธูปหอมชนิดแท่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพและเคมีของธูปที่พัฒนาแล้วค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังคะ และสำหรับผู้ที่ได้คิดค้นโครงการวิจัยนี้ขึ้นมา ก็คือ คุณวุฒินันท์ คงทัด นักวิจัย จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศาสตร์ และคณะทำงาน ในโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธูปหอมชนิดแท่งจากกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมัน โดยมีวิธีการวิจัยคือ เริ่มด้วยการตรวจสอบคุณภาพกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมันแล้วและผงไม้บง เป็นตัวอย่างของกากไม้ที่ซื้อจากศูนย์ส่งเสริมความรู้เกษตรระหว่างภาครัฐกับเอกชนของจังหวัดตราด กากไม้มีความชื้นค่อนข้างสูง เพราะได้ผ่านการสกัดใหม่ๆ จึงต้องอบด้วยตู้อบลมร้อนอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส อบจนน้ำหนักคงที่ แล้วบดเป็นผงด้วยเครื่องบดละเอียด ขนาดของผงที่บดคือ 60 mesh ส่วนผงไม้บงเป็นผงไม้บงจากบริษัทผงธูปไทยที่บดละเอียดแล้ว จากนั้นจึงสุ่มตัวอย่างไปตรวจสอบคุณภาพเพื่อหาความชื้น ไขมัน และเถ้า ผลปรากฏว่าตัวอย่างผงกากไม้กฤษณาที่ได้ มีความชื้นค่อนข้างต่ำเหมาะที่จะใช้ทำธูปหอมได้ เพราะจะเป็นเชื้อเพลิงช่วยในการเผาไหม้ได้ค่อนข้างดี เนื่องจากผงส่วนใหญ่มาจากเนื้อไม้จึงทำให้มีปริมาณของเถ้าค่อนข้างสูง ดังนั้นการเผาไหม้ย่อมจะมีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการเผาไหม้ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควัน ส่วนกลิ่นหอมที่เกิดจากน้ำมันหอมระเหยกฤษณาที่ยังเหลือจากการสกัดน้ำมันอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก คือร้อยละ 3.92 ปริมาณไขมันหรือน้ำมันหอมระเหยที่เหลืออยู่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตัวไม้กฤษณาที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่มากหรือน้อย วิธีการเตรียมเนื้อไม้ที่จะใช้กลั่น ถ้าบดละเอียดก็จะสกัดน้ำมันหอมระเหยออกไปได้มาก และวิธีการสกัดน้ำมันที่ดีจะช่วยสกัดน้ำมันหอมระเหยออกไปได้มาก จะทำให้กากไม้กฤษณาที่ผ่านกระบวนการสกัดน้ำมันแล้ว เหลือน้ำมันหอมระเหยอยู่น้อย การนำกากไม้ไปทำธูปหอมก็จะได้กลิ่นหอมน้อยตามไปด้วย การที่จะคัดเลือกกากไม้กฤษณาที่มีน้ำมันหอมระเหยเหลืออยู่ในปริมาณมากคงจะหาได้ยาก เพราะการสกัดน้ำมันหอมระเหยจำเป็นต้องสกัดน้ำมันหอมระเหยออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นการคัดเลือกกากไม้กฤษณา คงต้องพิจารณาจากลักษณะของกากไม้ที่เป็นเนื้อไม้มากกว่า เพราะจะช่วยเป็นส่วนผสมของธูปโดยไม่ต้องเติมขี้เลื้อยจากผงไม้อื่นๆ อีก จะเป็นการลดต้นทุนและลดปัญหากลิ่นควันไฟลงได้  หรือจะพิจารณาจากกลิ่นหอมที่ยังเหลืออยู่ในกากไม้ที่สกัดน้ำมันแล้ว ถ้าเป็นกากไม้ที่ใหม่และสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยออกไปน้อย ก็จะเหลือกลิ่นหอมอยู่มากก็จะนำมาผลิตธูปได้ดี ส่วนผงไม้บงจะเป็นกาวเหนียวช่วยให้ผงกากไม้ติดกัน จึงไม่มีผลต่อผงกากไม้กฤษณามากนัก คุณสมบัติของกาวจากผงไม้บงเมื่อแห้งแล้ว จะไม่เกิดแผ่นฟิล์มที่เนื้อหรือผิวด้านนอกของธูป ดังนั้นอากาศจะสามารถเข้าไปได้ในขณะที่เผาไหม้ จะช่วยทำให้ธูปเผาไหม้ต่อเนื่องโดยไม่ดับ ซึ่งจะดีกว่าการใช้กาวจากแป้งมันสำปะหลังค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังคะ ในการขั้นตอนการวิจัยในลำดับถัดมาคือ การพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิตธูปหอมค่ะ โดยเริ่มจากการหาสูตรพื้นฐานของธูป ซึ่งได้ผลปรากฏว่า สูตรพื้นฐานของธูปหอมที่ใช้นั้นมีการนำกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมันแล้ว และผงไม้บง ที่ใช้เป็นตัวยึดส่วนผสมให้ติดกัน ใช้ปัจจัยละ 3 ระดับ คือระดับต่ำ กลาง และสูง กากไม้กฤษณาใช้ที่ 40, 50 และ 60 ผงไม้บงใช้ที่ 40, 50 และ 60 นำส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ผสมส่วนผสมกับน้ำสะอาด ในอัตราส่วน ส่วนผสมต่อน้ำ 1:1 นวดให้ส่วนผสมกับน้ำเข้ากันอย่างสม่ำเสมอ แล้วรีดเส้นธูปด้วยเครื่องรีดเส้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร  ตัดให้มีความยาวแท่งละ 25.5 เซนติเมตร เสียบก้านด้วยไม้อบด้วยตู้อบลมร้อนอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส จนน้ำหนักคงที่ นำธูปมาทดสอบคุณภาพทางกายภาพประกอบด้วย น้ำหนักต่อแท่ง  เวลาเผาไหม้ การเผาไหม้ ควันของธูปและคุณสมบัติทางประสาทสัมผัส โดยผู้ทดสอบที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้วจำนวน 10 คน เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบหาสูตรที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นสูตรพื้นฐาน ได้ผลคือ สูตรที่เหมาะสมที่สุดคือสูตรที่ 4 ที่มีส่วนผสมของผงกากไม้กฤษณาที่ระดับ 50 ต่อผงไม้บงที่ระดับ 40 และควรจะนำสูตรนี้ไปพัฒนาเรื่องกลิ่นต่อไป เนื่องจากผู้ทดสอบยังต้องการให้มีการปรับปรุงเกี่ยวกับกลิ่นให้มีกลิ่นหอมที่ดีกว่านี้ เพราะกลิ่นหอมยังไม่สดชื่นและยังมีกลิ่นของควันที่เกิดจากการเผาไหม้อยู่ ควรจะต้องหากลิ่นอื่นๆ มาช่วยเสริมกลิ่นหอมของกฤษณาให้ดีขึ้น และการจะนำน้ำมันหอมระเหยของกฤษณามาผสมเพิ่มลงไปอีก คงจะไม่คุ้มทุน เพราะน้ำมันหอมระเหยกฤษณาที่สกัดออกมาได้นั้นมีราคาที่แพงมาก ดังนั้นควรจะใช้เฉพาะส่วนที่ยังคงเหลือจากการสกัดเอาน้ำมันออกไปแล้วเท่านั้น จึงจะเป็นการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากไม้ที่เหลือจากการสกัดน้ำมันแล้ว ดังนั้นสูตรพื้นฐานที่จะนำไปพัฒนาต่อเป็นสูตรที่ 4 ที่ประกอบด้วยผงกากไม้กฤษณาร้อยละ 55.5 และผงไม้บงร้อยละ 44.5 ซึ่งเป็นสูตรที่เหมาะสม มีอัตราการเผาไหม้นาทีละ 26.88 กรัมค่ะ

คุณผู้ฟังคะ ขั้นตอนต่อมาเป็นการหากลิ่นสังเคราะห์ที่เหมาะสม โดยการนำสูตรที่ 4 ซึ่งเป็นสูตรพื้นฐานที่เหมาะสมที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้ทดสอบมาแล้ว มาผสมกลิ่นสังเคราะห์จำนวน 4 กลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นที่ใช้ผสมทำธูปหอมที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานครมากที่สุด ประกอบด้วยกลิ่นมะลิ กลิ่นโรสแมร์รี่ กลิ่นลาเวนเดอร์ และกลิ่นโรส ใช้ปริมาณกลิ่นร้อยละ 20 ของสารละลาย นำธูปทั้ง 4 ตัวอย่างบรรจุในซองพลาสติกให้กับผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัสชุดเดิมทดสอบ เพราะผู้ทดสอบชุดนี้เป็นผู้ทดสอบที่จะใช้คัดเลือกสูตร จึงต้องมีความรอบคอบในการคิดพิจารณาในการทดสอบแต่ละครั้งเพื่อให้ได้สูตรที่ดี จำนวน 10 คน พร้อมแบบทดสอบเพื่อคัดเลือกกลิ่นที่ผู้ทดสอบชอบมากที่สุด ส่วนผลที่ได้จะเป็นอย่างไร ผู้ทดสอบจะชอบกลิ่นไหนมากที่สุด ช่วงหน้ามาติดตามกันค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังคะ เมื่อสักครู่นักวิจัยได้ให้ผู้ทดสอบจำนวน 10 คน ทดสอบหากลิ่นของธูปที่เหมาะสม ซึ่งกลิ่นนั้นประกอบไปด้วยกลิ่นมะลิ กลิ่นโรสแมร์รี่ กลิ่นลาเวนเดอร์ และกลิ่นโรส ซึ่งผลจากการทดสอบที่ได้คือ ผู้ทดสอบ 10 คน คัดเลือกกลิ่นลาเวนเดอร์มากที่สุด จากการทดสอบผู้ทดสอบตอบว่าไม่มีอาการแพ้กลิ่นของธูปเลย และไม่ต้องการให้ปรับปรุงกลิ่นร้อยละ 90 และอีกร้อยละ 10 ต้องการให้มีการปรับปรุงกลิ่น เช่น ให้มีกลิ่นหอมในขณะจุดและหลังจุดมากกว่านี้ นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้ปรับปรุงสีให้สวยงาม ขนาดเล็กและสั้นลง ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ผู้ทดสอบแนะนำมานี้ สามารถปรับปรุงตามความต้องการของตลาดได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นสี ขนาด เพราะจะไม่กระทบต่อคุณภาพของธูปมากนัก แต่สิ่งที่สำคัญคือ กลิ่นต้องมีการศึกษาหาความเหมาะสมต่อไป เพื่อจะได้ธูปที่มีกลิ่นหอมตามที่ผู้ทดสอบต้องการ และเป็นสิ่งที่สำคัญมากของธูปหอมรองจากการจุดติดและเผาไหม้ ดังนั้นสรุปได้ว่า ผู้ทดสอบคัดเลือกกลิ่นหอมของลาเวนเดอร์ในการทำธูปหอมจากกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมันแล้วมากที่สุดค่ะ

และเมื่อเราทราบความต้องการของผู้ทดสอบแล้วว่า ผู้ทดสอบชอบกลิ่นลาเวนเดอร์มากที่สุด  คณะนักวิจัยจึงได้ดำเนินการหาความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ที่เหมาะสมในขั้นตอนต่อมาค่ะ และเนื่องจากผู้ทดสอบได้มีคำแนะนำว่าน่าจะปรับปรุงความหอมของกลิ่นลาเวนเดอร์นี้ คณะนักวิจัยจึงได้ปรับปริมาณของกลิ่นลาเวนเดอร์ที่ผสมเป็น 4 ระดับ โดยวางแผนการทดลองแบบ CRD คือใช้ที่ร้อยละ 5, 10, 15 และ 20 ของสารละลาย ทำธูปหอมตามแบบเดิม แล้วนำตัวอย่างของธูปหอมพร้อมแบบทดสอบ ให้ผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัสชุดเดิม จำนวน 10 คนทดสอบ เพื่อคัดเลือกระดับกลิ่นที่ผู้ทดสอบชอบมากที่สุด ผลที่ได้คือ ผู้ทดสอบคัดเลือกธูปที่ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ที่ร้อยละ 15 ของสารละลายมากที่สุด ดังนั้นสูตรธูปหอมกากไม้กฤษณาควรใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ที่ร้อยละ 15 ของสารละลาย ก็จะได้กลิ่นหอมที่เหมาะสมที่สุดค่ะ

คุณผู้ฟังคะ และขั้นตอนต่อมาที่นักวิจัยจะต้องดำเนินการวิจัยต่อไปนั้น คือการพัฒนากรรมวิธีการผลิตธูปหอมกากไม้กฤษณาค่ะ ซึ่งการพัฒนากรรมวิธีการผลิตธูปหอมกากไม้กฤษณาใช้วิธีของคุณวุฒินันท์ คงทัด และคณะทำงาน ซึ่งเป็นวิธีของผู้วิจัยเอง และเป็นวิธีที่เหมาะสมต่อการผลิตธูปชนิดแท่งที่รีดเส้น ในขณะที่ส่วนผสมเปียกจะสามารถผลิตในปริมาณมากได้ ธูปที่ศึกษาเป็นธูปชนิดแท่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ยาว 25.5 เซนติเมตร มีความชื้นสูง หลังจากรีดเส้นประมาณร้อยละ 45 ดังนั้นต้องทำให้แห้งก่อนที่จะมีเชื้อราเกิดขึ้น ถ้าตากแดดหรืออบด้วยตู้อบลมร้อน โดยวางบนถาดธรรมดาไม่มีช่องบังคับให้แท่งธูปตรง ธูปที่ตากแดดจะแห้งเหลือความชื้นร้อยละ 5 ในเวลา 6 ชั่วโมง แต่ถ้าอบด้วยตู้อบลมร้อนจะแห้งภายใน 3 ชั่วโมง ธูปที่ได้จะคดงอมาก ไม่สามารถจะบรรจุซองและจำหน่ายได้ ดังนั้นจำเป็นต้องวางธูปที่รีดออกมาใหม่ๆ วางลงในช่องวางบนถาดไม้ที่มีช่องวางขนาด 3.5 เซนติเมตร ใส่อบได้ช่องละ 5 แท่ง แล้วมีฝาปิดด้านบน ขันน็อตยึดฝาและถาดด้านล่างให้แน่น อบด้วยตู้อบลมร้อนอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เวลา 48 ชั่วโมง ธูปจะเหลือความชื้นร้อยละ 8-10 แท่งธูปจะมีความตรง จะงอบ้างก็เพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อธูปแห้งขนาดจะลดลง ทำให้เหลือที่ว่างระหว่างธูปกับช่องว่าง ธูปจึงอาจจะงอเล็กน้อยค่ะ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังคะ การที่เราจะทราบว่าธูปหอมชนิดแท่งจากกากไม้กฤษณาที่สกัดน้ำมันแล้วที่เราผลิตได้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่นั้น สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ การทดสอบการยอมรับของผู้บริโภคโดยผลิตธูปหอมตามสูตรที่มีส่วนผสมของผงกากไม้กฤษณาร้อยละ 55.5 และผงไม้บงร้อยละ 44.5 ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ร้อยละ 15 ของสารละลาย สารยึดกลิ่น มัส ร้อยละ 1 ตัวทำละลายร้อยละ 1 ใช้ส่วนผสมของผงธูปต่อสารละลายในอัตราส่วน 1:1 รีดด้วยเครื่องรีดเส้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ยาว 25.5 เซนติเมตร อบอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เวลา 48 ชั่วโมง บรรจุธูปในซองพลาสติกชนิดหนาและใส ซองละ 4 แท่ง พร้อมแบบทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 100 คนนำไปทดสอบที่บ้าน ข้อมูลที่ผู้ทดสอบจะต้องตอบคือ ข้อมูลพฤติกรรมทั่วๆไปของผู้ทดสอบที่มีต่อผลิตภัณฑ์ธูปหอมชนิดแท่งที่มีขายอยู่ในตลาด ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ทดสอบ และข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทดสอบ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป และได้นำธูปหอมที่เหลือจากการทดสอบผู้บริโภคจำนวน 19 ซอง หรือจำนวน 152 แท่ง จำหน่ายในงานเกษตรแฟร์ ครั้งที่ 45 ในราคาซองละ 20 บาท เพื่อดูว่าจะสามารถจำหน่ายได้หรือไม่ จากข้อมูลการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค ผู้ทดสอบเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุมากสุดอยู่ระหว่าง 41-60 ปี ผู้บริโภคที่ทดสอบจะรู้จักธูปหอมชนิดแท่งที่จำหน่ายในตลาดมากกว่าผู้ที่ไม่รู้จัก และเคยซื้อมาใช้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยซื้อมาใช้ ผู้ทดสอบส่วนใหญ่จะชอบกลิ่นหอมกฤษณาของธูป ทั้งกลิ่นธูปก่อนจุด ในขณะจุดและหลังจุดธูปแล้ว ผู้ทดสอบชอบสีธรรมชาติ ซึ่งมีสีน้ำตาลของธูปสูงถึงร้อยละ 90 การเผาไหม้ของธูปดีเผาไหม้ต่อเนื่องตลาดแท่ง เวลาของการเผาไหม้ 1-2 ชั่วโมง ผู้ทดสอบจะมีความสดชื่นจากกลิ่นที่จุด ตั้งแต่สดชื่นเล็กน้อยจนถึงสดชื่นมาก ผู้ทดสอบส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแพ้จากการจุดธูป จะมีบ้างเพียงส่วนน้อยน่าจะมาจากมีสุขภาพไม่เหมาะต่อการจุดธูปอยู่แล้ว ถ้ามีผลิตภัณฑ์ธูปหอมกากไม้กฤษณาจำหน่ายจะซื้อเป็นส่วนใหญ่และจะมีบางส่วนที่ไม่แน่ใจ อาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยจะซื้อธูปหอมมาใช้นั่นเอง ราคาที่พอใจซื้อคือ ซองละ 10-20 บาท ผู้บริโภคส่วนใหญ่พอใจกับธูปที่ทดสอบ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอีก ส่วนที่จำหน่ายในงานเกษตรแฟร์ ปรากฏว่าจำหน่ายได้หมดภายในวันแรกที่ออกจำหน่าย และยังมีความต้องการจากผู้ซื้ออีก แต่ไม่สามารถผลิตให้ได้ตามความต้องการ ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ นั้น ธูปหอมชนิดนี้สามารถเก็บไว้ได้มากกว่า 3 เดือนในถุงพลาสติกใสหนาที่อุณหภูมิห้องธรรมดา โดยคุณภาพของธูปยังไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนต้นทุนการผลิตธูปหอม 1 ซองมี 8 แท่ง เป็นเงิน 50.63 บาทหรือกรัมละ 1.26 บาท ซึ่งผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากผู้บริโภคมีความชอบธูปหอมนี้และสามารถนำมาผลิตจำหน่ายได้ แต่ต้องพิจารณาขนาดรูปแบบให้เหมาะสมกับราคา เนื่องจากถ้าผลิตชนิดแท่งขนาดยาว 24 เซนติเมตรจะทำให้ต้นทุนสูง ซึ่งถ้านำมาจำหน่ายจะทำให้กำไรลดลงไปด้วย ดังนั้นควรทำแบบกรวยมากกว่าซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง และจะจำหน่ายได้กำไรมากกว่า หรือทำแบบแท่งก็ได้แต่เป็นแท่งสั้นๆ จะช่วยลดต้นทุน สามารถจำหน่ายได้กำไรและจำหน่ายได้ง่ายขึ้น และจากการแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิได้เสนอให้ใช้ไม้กฤษณาขาวแทนกากกฤษณาที่สกัดน้ำมันเพราะได้เคยเห็นชาวบ้านนำไปทำธูปหอม ดังนั้นน่าจะใช้แทนกากกฤษณาที่สกัดน้ำมันได้เช่นกัน และขอให้ศึกษาทดลองเพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปค่ะ

ท้ายรายการนี้หากคุณผู้ฟังท่านใดสนใจหรือมีข้อสงสัยอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือจะติชมรายการ คุณผู้ฟังสามารถเขียนจดหมายมายังรายการของเราและจ่าหน้าซองมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 ค่ะ หรือโทรมาได้ที่เบอร์ 02-5611474 ค่ะ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้าในวันและเวลาเดียวกันนี้ วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ