รายการวิทยุ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อย

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 4 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อย

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 …………………………………………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศให้ผู้ฟังได้ฟังกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราก็เป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวงานวิจัยดีดีที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการ และเรื่องที่จะนำเสนอในวันนี้เป็นเรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อย” ครับ

คุณผู้ฟังครับ การเลี้ยงโคเนื้อของประเทศไทยในปัจจุบันได้ขยายตัวไปเร็วมาก แต่อย่างไรก็ตามปริมาณเนื้อโคก็ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ การพัฒนาประเทศไปสู่ระบบอุตสาหกรรมใหม่ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร ตลอดจนการขยายตัวและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ต่างมีส่วนผลักดันให้ความต้องการอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศมีปริมาณที่สูงขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้มีการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อให้มีมาตรฐานสูงขึ้น จากระบบการเลี้ยงที่เป็นอาชีพเสริมหรือแบบรายย่อยที่มีการลงทุนต่ำ มาสู่ระบบการเลี้ยงที่อาศัยวิชาการและมีการลงทุนมากขึ้น แต่จากจำนวนโคเนื้อทั้งหมดภายในประเทศพบว่าร้อยละ 90 ยังคงอยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อย การพัฒนาวิธีการเลี้ยงไปสู่ระบบฟาร์มขนาดใหญ่ จึงทำได้ยากเพราะต้องลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องที่ดินมีราคาแพง การเพิ่มผลผลิตของเนื้อโคให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในอนาคต จะต้องเพ่งเล็งหรือเน้นหนักไปที่เกษตรกรรายย่อยเป็นหลัก เพราะการเพิ่มจำนวนโคเนื้อในระบบฟาร์มขนาดใหญ่ทำได้ยากและในวงจำกัด  ดังนั้นรูปแบบของการเลี้ยงแบบรายย่อยจะเหมาะสมมากที่สุด เพราะจะกระจายได้ในวงกว้าง อาศัยพื้นที่น้อย สอดคล้องกับสภาพสังคมและระบบการเกษตรซึ่งสามารถใช้แรงงานในครัวเรือน ผลพลอยได้หรือเศษเหลือทิ้งจากการเกษตรบางชนิดก็สามารถนำมาเป็นอาหารเลี้ยงโคได้ ดังนั้นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสู่เกษตรกรรายย่อยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโคเนื้อจะมีวิธีการอย่างไรบ้างนั้น อีกสักครู่มาติดตามกันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ การเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยนี้ ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยจนได้ผลสำเร็จที่สามารถนำมาปฏิบัติจนได้ผลนั้น ผู้นั้นก็คือ รศ.สมิต ยิ้มมงคล อาจารย์จากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งสิ่งที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโคเนื้อ ประการแรกที่ต้องคำนึงก็คือ การตรวจโรคแท้งติดต่อของโคครับ ซึ่งโรคแท้งติดต่อเป็นโรคที่มีมานานแล้ว และก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากมายมหาศาล เช่น การแท้งลูก ผสมไม่ติด เป็นสัดไม่สม่ำเสมอ และอาจทำให้แม่โคเป็นหมันได้ ในโคเพศผู้จะมีอาการข้อขาและอัณฑะบวม การติดต่อของโรคนี้ส่วนใหญ่ติดต่อทางระบบสืบพันธุ์และการสัมผัส โดยเฉพาะการดม การเลียรกหรือน้ำเมือกของแม่โคหลังคลอดลูก ในสมัยก่อนนั้นเกษตรกรยังไม่ให้ความสำคัญกับโรคนี้เท่าที่ควร อาจเป็นเพราะยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง กล่าวคือ แม่โคที่เป็นโรคแท้งติดต่อบางตัวอาจจะให้ลูกปกติ และบางตัวอาจจะแท้งลูก ในกรณีของแม่โคที่ให้ลูกปกติจะเป็นตัวที่แพร่โรคไปให้ตัวอื่นๆ ได้ง่ายโดยที่เกษตรกรไม่รู้ตัว โรคแท้งติดต่อเป็นโรคที่รักษาได้ยากและไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องกำจัดออกจากฝูง โดยการจำหน่ายเข้าโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งเนื้อสามารถนำมาบริโภคได้แต่ต้องนำมาทำให้สุกก่อน แต่ไม่ควรนำมาจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ให้เกษตรกรรายอื่นๆ เพราะจะเป็นการกระจายโรคไปสู่ที่อื่นได้ และยากต่อการกำจัดโรคนี้ให้หมดไป เกษตรกรไม่สามารถที่จะพิจารณาได้จากลักษณะภายนอกได้เลยว่า โคตัวใดเป็นโรคแท้งติดต่อ ยกเว้นว่าอาจจะสันนิษฐานได้เฉพาะในกรณีของโคบางตัวที่กำลังแท้งลูก หรือโคเพศผู้ที่มีลักษณะของอัณฑะและข้อขาบวม แต่นั่นยังไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้องและชัดเจนนอกเสียจากการเจาะเลือดเพื่อนำมาตรวจให้แน่ใจ  เกษตรกรอาจจะขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือได้จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะปศุสัตว์อำเภอ หรือสัตวแพทย์ ในกรณีที่โคของเกษตรกรจำเป็นต้องเลี้ยงปนกันกับของเกษตรกรรายอื่น ก็สามารถเจาะเลือดตรวจเพียงครั้งเดียวก็พอ แล้วคัดทิ้งตัวที่เป็นโรคออกจากฝูง และคอยระวังอย่าให้โคของตนได้ใกล้ชิดกับโคฝูงอื่นๆ ต่อไป การป้องกันโรคแท้งติดต่อในโคเนื้อทำได้โดย การทำวัคซีนป้องกันโรคแท้งติดต่อ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า วัคซีนสเตรน 19 วัคซีนชนิดนี้ทำได้เฉพาะลูกโคเพศเมียที่มีอายุในช่วง 3-8 เดือน วัคซีนมีผลคุ้มกันโรคได้นาน 7-8 ปี เกษตรกรสามารถหาซื้อวัคซีนชนิดนี้ได้ที่กรมปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขตหรือจังหวัด หรืออาจจะติดต่อโดยตรงกับปศุสัตว์อำเภอก็ได้

คุณผู้ฟังครับ สิ่งที่ควรปฏิบัติลำดับถัดไปคือการคัดเลือกลักษณะที่ดีเอาไว้ และคัดทิ้งลักษณะที่ไม่ดีออกไป ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถปรับปรุงคุณภาพของโคในฝูงให้ดีขึ้น โดยที่เกษตรกรไม่ต้องลงทุนอะไรเลย มีเกษตรกรอีกมาก ที่ยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่เห็นความสำคัญของการคัดเลือก เกษตรกรมักจะเก็บโคเพศเมียทุกตัวในฝูงไว้ใช้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป เพราะเห็นว่าให้ลูกได้ ผลเสียก็คือ ในกรณีที่โคตัวใดที่มีพันธุกรรมที่ไม่ดี เช่น อัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารต่ำ แคระแกรน แม่โคพวกนี้มีโอกาสที่จะกระจายลักษณะพันธุกรรมที่ไม่ดีไปสู่ลูกหลานได้อีก สรุปได้ว่า คุณภาพของโคในฝูงก็จะค่อยๆ ต่ำลงๆ นอกจากนี้แล้ว ลูกโคเพศผู้ในฝูงก็ไม่ควรเก็บไว้ใช้เป็นพ่อพันธุ์ แม้ว่าจะมีลักษณะก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายทางด้านพันธุกรรม และคุณภาพของโคในช่วงต่อๆ ไป ในทางตรงกันข้ามลักษณะที่ดีๆ เช่น มีอัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารสูง เชื่อง เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศร้อน  หรือปรับตัวได้ดี เป็นต้น พวกนี้ควรคัดเอาไว้ นานๆ เข้าคุณภาพของโคในฝูงก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ตัวอย่างลักษณะที่ควรคัดทิ้งออกจากฝูง เช่น แคระแกรน โตช้า รูปร่างหรือโครงร่างเล็ก โคเพศเมียที่เป็นสัดไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ค่อยแสดงอาการเป็นสัด ทั้งๆ ที่สภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ส่วนโคเพศผู้ที่สังเกตได้จะมีอัณฑะเพียงข้างเดียวหรืออัณฑะทองแดง หรือ โคเพศเมียที่มีลักษณะเหมือนโคเพศผู้ เช่น ขนาดใหญ่โตมากเกินไป ไหล่ใหญ่และหนา คอสั้นและหนา มีเหนียงคอยานมาก มีขนหยาบกร้าน ลักษณะเช่นนี้จะเป็นโคที่มีความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ ลักษณะโคเนื้อที่ดีจึงต้องเป็นโคที่มีลำตัวยาว และไม่ลึกมากจนเกินไป หลังตรง แนวท้องตรงและขนานกับพื้น โครงร่างใหญ่ สะโพกกว้างกลมและยาว โครงสร้างกีบและขาแข็งแรงครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ การดูแลและเอาใจใส่ต่อสุขภาพของโคเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากครับ เกษตรกรส่วนใหญ่ละเลยหรือไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องนี้ เว้นเสียแต่ว่าโคของตนเกิดเจ็บไข้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งยังเข้าใจผิดเพราะคิดว่าการทำโปรแกรมการป้องกันโรคต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุนสูง บางส่วนเห็นความสำคัญแต่ยังขาดความรู้ที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง บางส่วนเคยปฏิบัติมาแล้วแต่ไม่ได้ผล เพราะยังขาดความเข้าใจในบางจุด และบางส่วนเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะบางครั้งโคของตนเป็นโรคแต่ก็สามารถหายเองได้ โดยไม่ต้องไปช่วยเหลืออะไรมากนัก หรือว่าถ้าตายก็ยังขายเนื้อได้ ดังนั้นการเผยแพร่ให้ความรู้และความเข้าใจถูกต้องต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อรายย่อย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งผลให้ปริมาณการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโคและกระบือให้สูงกว่าที่แล้วมา และถ้าหากทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง โรคระบาดบางโรคก็จะสามารถกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทยได้ การส่งออกเนื้อสัตว์ไปยังตลาดต่างประเทศคงจะมีอนาคตที่สดใสขึ้น ซึ่งการป้องกันกำจัดโรคในโคเนื้อที่เกษตรกรควรปฏิบัติคือ

1.การถ่ายพยาธิ ระบบการเลี้ยงดูโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง เป็นการประหยัดไม่ต้องลงทุนทำแปลงหญ้า แต่ผลเสียที่ได้รับก็คือ หญ้าธรรมชาติมีผลผลิตและคุณค่าทางอาหารต่ำ ตลอดจนผันแปรไปตามฤดูกาล  อีกทั้งโคมักจะได้รับตัวอ่อนหรือไข่พยาธิอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำหรือที่มีน้ำท่วมขัง เพราะจะมีพยาธิหลายชนิดที่มีหอยน้ำจืดเป็นตัวกลาง และผลเสียที่เกิดขึ้นต่อโคก็คือ ซูบผอม การเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารต่ำ สุขภาพอ่อนแอ และถ้าเป็นมากๆ อาจถึงตายได้

  1. การทำวัคซีนป้องกันโรคระบาด ที่สำคัญในโคเนื้อ คือ โรคปากและเท้าเปื่อย และโรคคอบวม โรคทั้งสองชนิดนี้ระบาดไปได้รวดเร็วมาก การป้องกันสามารถทำได้ง่ายๆ คือ การทำวัคซีนป้องกันโรคอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

3.จัดโปรแกรมการจัดการสุขภาพโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยโดย

อายุ 1เดือน    ทำการถ่ายพยาธิลูกโค

อายุ 3-8 เดือน          ทำวัคซีนป้องกันโรคแท้งติดต่อให้กับลูกโคเพศเมีย

อายุ 6 เดือน และทุก 6 เดือน หรือ 2 ครั้งต่อปีให้ถ่ายพยาธิครั้งที่ 2 และอีก 2 ครั้งต่อปี ทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ทั้ง 3 ชนิดและโรคคอบวม

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ สิ่งที่เกษตรกรควรปฏิบัติในการเลี้ยงโคเนื้อวิธีการที่ 4 ก็คือ ให้ใช้วิธีการผสมเทียมครับ เพราะวิธีการผสมเทียมเป็นวิธีที่ได้ผลดี ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อพ่อโคมาเลี้ยงดูอีกทั้งลูกโคที่ได้ก็จะมีคุณภาพดี เนื่องมาจากพ่อโคที่ใช้ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งสำหรับการผสมเทียมเป็นพ่อโคที่มีคุณภาพ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และปลอดจากโรคต่างๆ ที่สามารถติดต่อกันทางระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถเลือกได้ว่าต้องการน้ำเชื้อของโคพันธุ์ใด โคเนื้อหรือโคนม เป็นต้น เกษตรกรสามารถขอรับบริการผสมเทียมได้จากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ  หรือสถานีผสมเทียมในพื้นที่  ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วแทบทุกอำเภอ ซึ่งวิธีการผสมเทียมจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อ เกษตรกรสามารถเช็คการเป็นสัดได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ นั่นหมายความว่าเกษตรกรต้องเอาใจใส่ดูแลแม่โคของตนโดยสม่ำเสมอ จนสามารถสังเกตสิ่งผิดปกติ หรืออาการเป็นสัดของแม่โคได้อย่างถูกต้อง วิธีการผสมเทียมที่ได้ผลก็คือการฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในมดลูกของแม่โคในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อการผสมติดโดยอาศัยช่วงเวลาของการเป็นสัด เป็นตัวกำหนดที่เหมาะสมในการผสมเทียม ซึ่งแม่โคต้องไม่มีความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ เช่น คอมดลูกไม่คด รังไข่สมบูรณ์ปกติ และมีอายุไม่มากเกิน 10 ปี ไม่ควรใช้วิธีการผสมเทียมกับแม่โคสาว โดยเฉพาะในแม่โคพื้นเมือง เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาการคลอดยาก เนื่องจากช่องเชิงกรานยังขยายไม่เต็มที่ ซึ่งแม่โคที่เกษตรกรจะใช้เป็นแม่พันธุ์นั้นต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีสุขภาพดี ปลอดจากโรคแท้งติดต่อ ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป มีการถ่ายพยาธิและทำวัคซีนป้องกันโรคระบาดอย่างสม่ำเสมอตามโปรแกรม

วิธีการต่อไปคือ การให้พ่อพันธุ์คุมฝูง เพื่อช่วยแก้ปัญหาการผสมเทียมที่ไม่ได้ผล เนื่องจากเกษตรกรเช็คการเป็นสัดของแม่โคได้ไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจำเป็นต้องซื้อพ่อพันธุ์มาเลี้ยงซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงพอสมควร และถ้าจะให้ผลดียิ่งขึ้น อายุของพ่อพันธุ์และอัตราส่วนระหว่างพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ก็มีความสำคัญอย่างมากครับ ถ้าพ่อพันธุ์อายุ 2-3 ปี ควรมีจำนวนแม่พันธุ์ 20-30 ตัว พ่อพันธุ์อายุ 3-4 ปี ควรมีแม่พันธุ์ 30-40 ตัว พ่อพันธุ์ 4-5 ปี ควรมีแม่พันธุ์ 40-50 ตัว และถ้าพ่อพันธุ์อายุ 5-8 ปี ควรมีแม่พันธุ์ไม่เกิน 50 ตัวครับ

นอกจากนี้แล้วเกษตรกรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนพ่อพันธุ์ทุกๆ 2 ปี ทั้งนี้เนื่องจากในปีที่ 2 ลูกเพศเมียที่เกิดในปีแรกจะเริ่มแสดงอาการเป็นสัด ดังนั้นอาจเกิดปัญหาเรื่องการผสมแบบเลือดชิด ซึ่งจะทำให้คุณภาพของโคในฝูงด้อยลงไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อครบสองปีแล้ว โคพ่อพันธุ์ตัวนั้นจะใช้งานไม่ได้ พ่อพันธุ์ยังคงใช้งานได้ แต่เกษตรกรควรจำหน่ายออกไป แล้วซื้อพ่อพันธุ์ตัวใหม่แทน ที่สำคัญที่สุดคือ พ่อพันธุ์ที่ซื้อมาใหม่นั้นต้องแน่ใจว่าปลอดจากโรคแท้งติดต่อ และห้ามนำเพศผู้ที่เป็นลูกในฝูงมาใช้เป็นพ่อพันธุ์โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการผสมแบบเลือดชิดครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ร่างกายมีความต้องการให้ได้สารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ แร่ธาตุครับ แม้ว่าร่างกายจะต้องการแร่ธาตุน้อยมาก แต่ว่าก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ครับ เพราะแร่ธาตุเป็นตัวที่ทำให้เกิดความสมดุลของการทำงานในระบบต่างๆ ในร่างกายของคนและสัตว์ให้เป็นไปตามปกติ สำหรับโคปกติแล้วได้รับอาหารประเภทเกลือแร่หรือแร่ธาตุจากดิน โดยผ่านทางพืชอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารหลักของโค หรือจากน้ำและอาหารเสริม อย่างไรก็ตามนะครับเกษตรกรควรเสริมแร่ธาตุเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการขาดแร่ธาตุ โดยมีการเสริมในรูปของแร่ธาตุก้อน ซึ่งมีราคาไม่แพง

และสารอาหารอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั้นก็คือ ไวตามินครับคุณผู้ฟัง ไวตามินเป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกายของสัตว์อย่างมาก แม้ว่าจะต้องการในปริมาณน้อยก็ตาม แต่ก็ช่วยทำให้เกิดความสมดุลและการทำงานระบบต่างๆ ในร่างกายของสัตว์ให้เป็นปกติ ถ้าเกษตรกรดูแลโคของตนให้ได้รับสารอาหารอย่างพอเพียง มีสุขภาพดี ปัญหาเรื่องการขาดไวตามินก็จะมีน้อย เพราะส่วนใหญ่จะได้รับจากอาหารที่กินเข้าไป และอีกส่วนหนึ่งจุลินทรีย์ในกระเพาะผ้าขี้ริ้วของโคสามารถสังเคราะห์ไวตามินได้เองบางตัว เช่น ไวตามินบี ซี และเค ซึ่งทำให้โคได้รับไวตามินเหล่านี้ตามไปด้วย ไวตามินที่โคต้องการมากและมักจะขาด คือ ไวตามินเอ ดี และอี ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ผลิตไวตามินเหล่านี้จำหน่ายกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะที่ให้ในรูปของการฉีด อย่างน้อยที่สุดเกษตรกรควรเสริมให้กับโคพ่อแม่พันธุ์ที่อยู่ในช่วงผสมพันธุ์ หรือเสริมให้แม่โค 1 เดือน ก่อนและหลังคลอด เพื่อช่วยให้ร่างกายของแม่โคมีความสมบูรณ์ เต้านมมีการพัฒนาเพื่อกลั่นสร้างน้ำนมได้มาก มดลูกของแม่โคกลับสู่สภาพปกติได้เร็วหลังคลอด การทำงานของระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ แต่นั่นต้องหมายความว่าแม่โคต้องมีสุขภาพดีและได้รับอาหารอย่างเพียงพอ และอาจมีการให้อาหารเสริมในบางระยะด้วยครับ

คุณผู้ฟังครับ โดยปกติแล้วการเลี้ยงดูโคของเกษตรกรรายย่อยมักใช้แรงงานในครัวเรือนของตน ความใกล้ชิดของโคจึงค่อนข้างมีมาก ซึ่งในบางระยะควรมีการดูแลเอาใจใส่กันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อใกล้คลอด ควรขังแม่โคไว้ในคอดไม่ควรปล่อยทุ่ง เพราะถ้าหากเกิดการคลอดยาก หรือคลอดผิดท่าจะได้ทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก่อนที่ลูกโคจะตาย หรือกรณีที่ลูกโคอ่อนแอก็จะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ควรขังแม่โคและลูกโคไว้ด้วยกันจนแน่ใจแล้วว่าลูกโคแข็งแรงดีจึงปล่อยทุ่งได้ การเช็คการเป็นสัดของแม่โคก็เช่นกัน ต้องหมั่นสังเกตและเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดจึงจะไม่พลาด และในกรณีที่โคมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาผู้รู้ เพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือหรือแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

คุณผู้ฟังครับ เนื่องจากการเลี้ยงโคเนื้อในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยวิชาการใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยที่ได้ผลคุ้มค่ากับการลงทุน อันเป็นผลเนื่องมาจากความต้องการและราคาเนื้อโคที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้การเลี้ยงโคของเกษตรกรประสบผลสำเร็จ เกษตรกรเองก็ควรจะขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ จากแหล่งต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย นอกจากนี้เกษตรกรควรให้ความสนใจกับการจดบันทึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโคของตนหรือที่เรียกว่าพันธุ์ประวัติ ข้อมูลที่ต้องบันทึกได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บันทึกการผสมพันธุ์ การให้ลูก การจัดการด้านสุขภาพต่างๆ เช่น การทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโคตัวนั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้แล้วในอนาคต ถ้าหากว่าโคของเกษตรกรปรับปรุงสายพันธุ์มาเป็นอย่างดี ข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกไว้รวมไปถึงสำเนาบันทึกการผสมเทียมที่ได้จากเจ้าหน้าที่ผสมเทียม สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อขอรับการจดทะเบียนรับรองพันธุ์จากสมาคมโคเนื้อพันธุ์ต่างๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรอย่างมากเพราะโคพ่อแม่พันธุ์ที่มีเอกสารรับรองพันธุ์จะจำหน่ายได้ราคาดีกับโคทั่วๆ ไป

คุณผู้ฟังครับ และสิ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถที่จะเลี้ยงโคเนื้อให้มีประสิทธิภาพนั้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงได้ดีนั้นก็คือ การรวมกลุ่มกันของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อครับ เพราะจะทำให้การติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับบริการต่างๆ ทำได้ง่ายยิ่งกว่าครับ อย่างเช่น การขอรับบริการการผสมเทียม หรือการทำวัคซีนหรือถ่ายพยาธิ เหล่านี้เป็นต้น ในส่วนของการจำหน่าย ก็สามารถทำได้ง่ายกว่าต่างคนต่างขายครับ มีการกดราคาของพ่อค้าคนกลางน้อยลง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดการดูแลสุขภาพ การให้อาหาร หรืออื่นๆ สามารถเฉลี่ยกันไปได้ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเลี้ยงดูไม่สูงจนเกินไป การเลี้ยงดูโดยการปล่อยเลี้ยงอาจจะเลี้ยงรวมกันโดยมีการผลัดเวรกันดูแล ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ประหยัดแรงงานคนเลี้ยง เท่าที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคมักจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมากกว่าเกษตรกรโดยทั่วๆ ไป ซึ่งอาจเป็นเพราะงบประมาณมีน้อย เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้การส่งเสริมและช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรทำได้ง่ายและทั่วถึงกว่าครับ

ท้ายรายการนี้หากคุณผู้ฟังท่านใดสนใจหรือมีข้อสงสัยอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือจะติชมรายการ คุณผู้ฟังสามารถเขียนจดหมายมายังรายการของเราและจ่าหน้าซองมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 ครับ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้าในวันและเวลาเดียวกันนี้ วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ