รายการวิทยุ เรื่อง การศึกษาธาตุอาหารและโลหะหนักในตะกอนดินป่าชายเลน

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่15 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558

เรื่อง  การศึกษาธาตุอาหารและโลหะหนักในตะกอนดินป่าชายเลน 

 บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 ……………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

คุณผู้ฟังครับ ทราบหรือไม่ว่า ป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง นั่นก็คือกลุ่มของสังคมพืช ซึ่งขึ้นอยู่ในเขตน้ำลงต่ำสุดและน้ำขึ้นสูงสุดบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำหรืออ่าว ป่าชายเลนเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดด้วยกัน ทั้งพืชและสัตว์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นฉากกำบังภัยธรรมชาติป้องกันการพังทลายของดินที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เพราะรากต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน ทำหน้าที่กรองสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มากับกระแสน้ำ ทำให้แม่น้ำลำคลอง และชายฝั่งทะเลสะอาดขึ้น และยังช่วยทำให้เกิดการงอกของแผ่นดินจากการทับถมของตะกอนแขวนลอยที่มากับกระแสน้ำได้อีกด้วยครับ

ทั้งนี้นะครับ จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในปัจจุบัน ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อขยายแหล่งที่อยู่ แหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งเกษตรกรรมมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบสมดุลในป่าชายเลน ดังนั้นการศึกษาปริมาณธาตุอาหารหลักและโลหะหนักในดินป่าชายเลน เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานของคุณภาพดินในป่าชายเลน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการบ่งชี้สภาวะแวดล้อมและใช้ในการวางแผนจัดการระบบ และการอนุรักษ์ป่าชายเลนได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

ในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ศึกษาปริมาณธาตุอาหารหลักในดิน ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม และปริมาณโลหะหนัก 6 ชนิด ได้แก่ ทองแดง สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว นิกเกิล และโครเมียม ในตะกอนดินป่าชายเลนบริเวณชุมชนแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

ซึ่งวัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้ คือ

เพื่อเป็นศึกษาปริมาณธาตุอาหาร ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในตะกอนดินในป่าชายเลนบริเวณชุมชนแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

เพื่อศึกษาปริมาณโลหะหนัก 6 ชนิด ได้แก่ ทองแดง สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว นิกเกิล และโครเมียม ในตะกอนดินป่าชายเลนบริเวณชุมชนแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์การสะสมของโลหะหนักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณป่าชายเลนในเขตจังหวัดชลบุรีและเขตจังหวัดใกล้เคียง

เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน สำหรับการวิจัยการปลูกป่าชายเลน ในเขตจังหวัดชลบุรีและเขตจังหวัดใกล้เคียงต่อไป ซึ่งข้อมูลดังกล่าวที่ต้องการศึกษานี้ ก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเอามาเปรียบเทียบในการศึกษาป่าเลนเลนที่อื่นด้วยครับ

คุณผู้ฟังครับ ป่าชายเลนมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นบริเวณที่น้ำจืดจากแผ่นดินและน้ำเค็มจากทะเลมาผสมกัน พื้นดินของป่าชายเลนเป็นทรายปนโคลนเลน พันธุ์ไม้ป่าชายเลนเป็นพันธุ์ไม้พุ่มที่ทนต่อความเค็มของน้ำทะเล มีรากอากาศและระบบรากที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในดินที่มีสภาพขาดออกซิเจนได้ ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าป่าบก เพราะเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่าทั้งทางด้านทรัพยากรป่าไม้และการประมง นอกจากนี้ป่าชายเลนยังช่วยดักกรองสารมลพิษที่พัดพามากับกระแสน้ำก่อนลงสู่ทะเล ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นลมและกระแสน้ำ จึงสามารถป้องกันการพังทลายของดินได้

นิพัทธ์ และสุรพล (2543) จากการศึกษาพบว่าการปลูกป่าชายเลนทำให้ปลามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจบริเวณป่าชายเลนบ้านคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม พบปลาทั้งหมด 75 ชนิด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมก่อนจะมีการปลูกป่าชายเลน 20 ชนิด

ปิยวรรณ และคณะ (2545) ศึกษาความสามารถของกล้าไม้โกงกางใบใหญ่และแสมทะเลในการบำบัดน้ำเสียชุมชนในดินป่าชายเลน พบว่ากล้าไม้ทั้งสองชนิดสามารถบำบัดน้ำเสียในชุมชนได้ดีกว่าชุดการทดลองซึ่งไม่ปลูกพืชครับ

สนิท และคณะ (2544) ทำการศึกษาการใช้ป่าชายเลนในการบำบัดน้ำเสียบริเวณแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้ป่าชายเลน เพื่อดูดซับของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือน และกิจกรรมอื่นของมนุษย์ พบว่าเมื่อขังน้ำเสียไว้ในแปลงทดลอง 2 สัปดาห์ ทำให้ค่าบีโอดีในน้ำลดลงอย่างมาก และเมื่อครบ 4 สัปดาห์ พบว่าคุณภาพน้ำมีค่าเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน และมีค่าออกซิเจนละลายน้ำสูงขึ้น ทั้งในแปลงทดลองที่เป็นป่าชายเลนธรรมชาติ ผสมป่าชายเลนที่ปลูก โดยป่าชายเลนธรรมชาติสามารถบำบัดน้ำเสียได้ดีที่สุด และพบว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับโลหะหนักจากน้ำเสียได้อีกด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นข้อมูลประกอบของเนื้อหางานวิจัย ในครั้งนี้ครับ

คุณผู้ฟังครับ ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่เป็นเอกภาพ เนื่องจากป่าประเภทนี้ขึ้นอยู่เฉพาะในแถบร้อน และอยู่ตามชายฝั่งทะเลระหว่างบริเวณน้ำทะเลขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด องค์ประกอบและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศป่าชายเลนคล้ายกันทุกแห่ง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ องค์ประกอบที่เป็นโครงสร้างของระบบนิเวศ และส่วนที่เป็นหน้าที่หรือกิจกรรมของระบบนิเวศซึ่งเกี่ยวข้องกับการหมุนเวียนของสารและธาตุอาหาร และการถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศ (วันชัย, 2539)