รายการวิทยุ เรื่อง ศึกษาการฆ่าเชื้อโดยความร้อนของ ขวดพีพีที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม

 

 

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่1 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558

เรื่อง  ศึกษาการฆ่าเชื้อโดยความร้อนของ

ขวดพีพีที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม

 บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 ……………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ วันนี้เสนอเรื่อง “ศึกษาการฆ่าเชื้อโดยความร้อนของขวดพีพีที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม” ครับ โดยมีหัวหน้าโครงการ  นางมณฑาทิพย์ ยุ่นฉลาด สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และยังมีทีมคณะร่วมวิจัย คือสิริพร สธนเสาวภาคย์ ชิดชม ฮิรางะ พิสมัย ศรีชาเยช ครับ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้นะครับ จะมุ่งเน้นการหาอัตราการแทรกผ่านความร้อนในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทั้งกรดต่ำและกรดสูงบรรจุขวดพลาสติกที่ทนร้อนหรือขวดพลาสติกพอลีพรอพีลีน เพื่อกำหนดอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสมในการฆ่าเชื้อ และศึกษาสมบัติของขวดพลาสติกดังกล่าว เมื่อผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนแบบพาสเจอร์ไรเซชันและสเตอริไรส์ โดยศึกษาสมบัติของบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ การแยกตัวของสารจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม และความปลอดภัยทางจุลินทรีย์ของเครื่องดื่มที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน  และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ และวัตถุประสงค์ในครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของกระบวนการผลิตด้วยความร้อนที่มีต่อคุณภาพและคุณลักษณะของขวดบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มระหว่างการเก็บรักษาครับ

มาเริ่มกันเลยนะครับ ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ โดยการนิยมบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผักและผลไม้เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารดังกล่าวเพียงพอ จึงนิยมนำผักและผลไม้มาคั้น เพื่อดื่ม และเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการเตรียม ผู้บริโภคจึงเลือกที่จะซื้อน้ำผักและผลไม้สำเร็จรูป จึงทำให้มีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก หันมาผลิตน้ำผักและผลไม้บรรจุขวด เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค แต่ไม่เข้าใจพื้นฐานเทคโนโลยีการผลิตที่ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ และอายุการเก็บรักษาก็สั้นกว่าปกติ

ซึ่งผู้ผลิตรายย่อยจำนวนมากจึงเกิดความยุ่งยากที่จะต้องเอาใจใส่ต่อการขนส่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อลดการเสื่อมสภาพของตัวผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันผู้ค้าย่อยไม่ได้เห็นความสำคัญต่อการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์เน่าเสีย ผู้ผลิตรายย่อยจึงต้องเก็บสินค้าคืน จึงทำให้ขาดรายได้ที่ควรจะได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับฟังกันบ่อยๆ ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยเกิดความท้อถอยในการประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามนะครับ มีผู้ประกอบการรายย่อยเฉพาะรายที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและแหล่งทุนวิจัยทำระบบการผลิตน้ำสมุนไพร ด้วยเครื่องมือแปรรูประดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ทำให้สามารถเพิ่มกำลังผลิตและขยายตลาดได้กว้างขึ้น แต่บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกที่ได้รับความร้อนสูง อาจมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพอาหารและสุขภาพของผู้บริโภค ควรมีการศึกษาวิจัยปัจจัยดังกล่าว เพราะว่าบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดลูกค้าให้สนใจในผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้ผลิตควรมีความรู้ดีพอในการเลือกใช้ชนิดของพลาสติกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อการบรรจุผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย

นอกจากนี้นะครับ สิ่งที่สำคัญ คือ อุณหภูมิของผลิตภัณฑ์อาจไม่สูงพอจากการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เนื่องจากพลาสติกมีอัตราการถ่ายเทความร้อนต่ำกว่าโลหะและแก้ว ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ของผนังภาชนะพลาสติกเกือบทั้งหมดบางกว่าแก้ว แต่การถ่ายเทความร้อนต่อหน่วยเวลายังต่ำกว่าปกตินั่นเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความร้อนไม่เพียงพอที่จะทำลายจุลินทรีย์ทำให้ผลิตภัณฑ์เน่าเสีย หรือทำให้เกิดโรคได้ อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค การถ่ายเทความร้อนของพลาสติก จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการใช้ความร้อนในการทำลายจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท เพื่อยืดอายุการเก็บและทำให้สามารถเก็บ รักษาผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิห้องได้ครับ ช่วงนี้เราพักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

          คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า บรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบรรจุอาหารในภาชนะปิดสนิทในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 คือ ขวดแก้วและกระป๋องเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกในการบรรจุอาหารเพิ่มมากขึ้น พลาสติกเป็นวัสดุที่ของเหลวเเละเชื้อจุลินทรีย์ซึมผ่านไม่ได้ครับ แต่ความสามารถในการซึมผ่านของไอน้ำและก๊าซจะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของวัสดุด้วย บางชนิดป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำเพียงอย่างเดียว บางชนิดสามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซ เช่นออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้นะครับขึ้นกับสมบัติเชิงกลและการทนต่อความร้อนของพลาสติกแต่ละชนิด ซึ่งข้อดีของพลาสติกแต่ละชนิดนั้นสามารถนำมารวมกัน เพื่อทำให้เกิดสมบัติตามที่ต้องการได้ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ชนิดที่นำมารวมกัน ได้แก่ วัสดุที่เป็นตัวขัดขวางการซึมผ่านของก๊าซ และวัสดุที่เป็นตัวสนับสนุนทางกายภาพด้านทนทานต่อความร้อนและการซึมผ่านของไอน้ำ พลาสติกพอลีพรอพิลีน(PP, Polypropylene:) เป็นพลาสติกที่มีสมบัติเด่นในการทนความร้อนได้สูง และมีสมบัติป้องกันความชื้น และออกซิเจนซึมผ่าน จึงนิยมนำมาใช้สำหรับกระบวนการให้ความร้อน นอกจากสมบัติดังกล่าวแล้วนะครับ พอลีพรอพิลีนยังเป็นพลาสติกที่มีความใส คงตัวดี และทนอุณหภูมิฆ่าเชื้อได้ (121OC) ถึงแม้ว่าพลาสติกพอลีพรอพิลีนที่ใช้ในการบรรจุร้อนจะคงรูปและทนความร้อน แต่ความร้อนอาจทำให้สมบัติของพลาสติกเปลี่ยนไป และเร่งให้เกิดการแยกตัวของสารเคมี (migration of chemical) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการแยกตัว คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการให้ความร้อนและเวลาในการสัมผัส ( Caslte, 2000 )

ซึ่งคณะนักวิจัยจึงให้ความสนใจกับการแยกตัวของสารเจือปน (indirect additive) จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสู่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารเจือปนดังกล่าวมีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และสมบัติในการซึมผ่านของก๊าซซึ่งมีผลต่อคุณภาพของอาหารทางด้านกายภาพและเคมี รวมถึงการป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ โดยคุณภาพดังกล่าวส่งผลต่ออายุการเก็บของผลิตภัณฑ์ ซึ่งพลาสติกมีสมบัติในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาหารที่เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ออกซิเจน แสงและจุลินทรีย์ และป้องกันสูญเสียขององค์ประกอบในอาหาร เช่น น้ำ และกลิ่นรสต่างๆ บรรจุภัณฑ์พลาสติกจึงช่วยในการรักษาคุณภาพของอาหาร และยืดอายุการเก็บของอาหารให้อยู่ในสภาวะปลอดเชื้อได้ แต่สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบที่ใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์จะต้องมีความคงตัวในระหว่างการแปรรูปและการเก็บรักษา จึงมีความจำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับปฏิกิริยาระหว่างวัสดุที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์กับอาหาร เริ่มมีการศึกษาในเรื่องการแยกตัวของพลาสติก (migration) สู่อาหาร ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมีขององค์ประกอบในอาหารและวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ (Terrany และ Desobry, 2006) คุณผู้ฟังครับ จากเอกสาร Plastics Task Force ได้รายงานเกี่ยวกับชนิดของสารต่างๆที่อาจแยกตัวออกจากภาชนะพลาสติกแต่ละชนิด เช่น อะเซตะดีไฮด์จากพลาสติกชนิด PET พลาสติไซเซอร์ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท พาทาเลท (phathalate) และสารก่อมะเร็งจากพลาสติกพีวีซี BHT Chimassorb 81 Irganox PS 800 Irganix 1076 และIrganox 101 จากพลาสติกชนิดพีพี

คุณผู้ฟังครับ ตัวทำละลายที่ใช้ในการพิมพ์สีบนบรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถปนเปื้อนสู่อาหารได้ โดยตัวทำละลายนี้ประกอบไปด้วยสารทีมีมวลโมเลกุลต่ำ ได้แก่ สารไฮโดรคาร์บอน แอลกอฮอล์ คีโตน และเอสเทอร์ ซึ่งสารดังกล่าวสามารถปนเปื้อนลงในอาหารได้ ปรกติพลาสติกและสารเจือปนที่เติมในกระบวนการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ต้องเข้ากันได้ดี ทำให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามข้อกำหนดของเอฟดีเอ-ยุโรป (FDA) โดยที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่กระจายจากวัสดุบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การตั้งข้อจำกัดมากที่สุดสำหรับสารแพร่กระจายที่มีศักยภาพทำให้เกิดอันตราย บางกรณีที่มีการแพร่กระจายเกิดอันตรายน้อยมาก จึงไม่ต้องตั้งค่าเฉพาะของปริมาณสารเจือปนที่อนุญาตครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ พลาสติกบางชนิดต้องใช้สารเจือปนหลายๆชนิด เช่น สารทำให้คงตัว สารลดการเกิดประจุและพลาสติไซเซอร์ รวมทั้งสารที่ปรับสมบัติอื่นๆของพลาสติก กระบวนการขึ้นรูปพลาสติกที่ต้องใช้สารเจือปนบางชนิดจะเกิดการแพร่กระจายมาก กว่าสารชนิดอื่น โดยคำนึงถึงพลาสติไซเซอร์เป็นหลัก เพื่อใช้ปรับปรุงการอ่อนตัวของวัสดุที่ใช้ทำภาชนะบรรจุ  แนวโน้มการแพร่กระจายของพลาสติไซเซอร์เพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น พลาสติกที่ออกแบบเฉพาะสำหรับตู้อบจึงเหมาะสมต่อการหุงต้ม มีการเข้าใจที่สับสนเกิดขึ้นสำหรับการใช้พลาสติกในตู้อบทั่วไป ความปลอดภัยการใช้ในตู้อบไมโครเวพยังซับซ้อน ภาชนะพลาสติกหลายหลายชนิดอาจทำขึ้นเพื่อใช้กับเตาไมโครเวพ ระดับการแพร่กระจายที่อุณหภุมิสูงยังไม่จำเป็นต้องทดสอบ ที่เคยเป็นข่าว ได้แก่ พลาสติไซเซอร์ในการทำขวดพีวีซี ทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกทำการปรับสูตรในการใช้พลาสติกฟิล์มเพื่อลดการเกิดการแพร่กระจายของพลาสติไซเซอร์ ทั้งที่ยังไม่เคยพบอุบัติการณ์ว่าพลาสติไซเซอร์ที่พบทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ และควรหลีกหลี่ยงทำให้การเกิดการปนเปื้อนเช่นนั้น จึงทำให้เกิดกฎระเบียบที่ซับซ้อนพัฒนาขึ้นระหว่างชาติ (AS 2070, 1999)

สำหรับการบรรจุอาหารที่อุณหภูมิต่างๆ อาจมีการแยกตัว/การแพร่กระจาย (migration) ของสารเจือปน (indirect additive) ในบรรจุภัณฑ์สู่อาหาร ควรมีปริมาณต่ำกว่าค่าจำกัดสูงสุดที่ยอมรับได้ จึงสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีอายุการเก็บพอเพียงตามระยะเวลาที่คาดคะเนไว้ โดยที่ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อการบริโภค สมบัติของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การซึมผ่านของอากาศเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งพลาสติกแต่ละชนิดมีค่าอัตราการซึมผ่านของก๊าซแตกต่างกัน อาจทำให้เป็นปัญหาในบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากพอลิเมอร์ชนิดเดียว และมีสมบัติป้องกันการซึมผ่านของก๊าซไม่ดี เช่น พอลีพรอพีลีน เพราะก๊าซที่ซึมผ่านส่วนใหญ่เป็นออกซิเจน ทำให้เกิดการออกซิเดชันซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพกลิ่นรสของผลิตภัณฑ์ และสูญเสียวิตามินในน้ำผักผลไม้ ความสามารถการซึมผ่านของออกซิเจนเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น บรรจุภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อซึ่งเป็นสภาวะที่มีอุณหภูมิสูง และความชื้นสัมพัทธ์สูงด้วย อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสมบัติการป้องกันการซึมผ่านได้ และยังมีค่าจำเพาะของอัตราการดูดซึมสารผสมในผลิตภัณฑ์เข้าสู่เนื้อพลาสติก เช่น พลาสติกพวกพอลีโอลิฟิน ได้แก่ พอลีพรอพีลีนสามารถดูดซึม essential oil ที่ให้ flavorant และ odorant จากผลิตภัณฑ์ พลาสติกยังมีข้อจำกัดของอุณหภูมิในเรื่องของการอ่อนตัวและการหลอมเหลวด้วย

-เพลงคั่นรายการ-

          การผลิตอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทด้วยความร้อน เป็นการใช้อุณหภูมิสูงเพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและทำให้อาหารเสื่อมเสียและเอนไซม์ต่างๆ ซึ่งการใช้ความร้อนแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การพาสเจอไรส์ (pasteurization) โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 OC และการ สเตอริไลซ์ (sterilization) ที่ใช้ความร้อนอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 100 OC ขึ้นไป (ประภาศรี, 2547) โดยอาหารต้องได้รับความร้อนเพียงพอและนานพอที่ทำให้ผลิตภัณฑ์บรรจุในภาชนะปิดสนิทนั้นปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ซึ่งป้องกันการปนเปื้อนหลังผลิต ภัณฑ์ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ในการฆ่าเชื้ออาหารนั้นต้องได้รับปริมาณความร้อนอย่างน้อยในระดับที่เรียกว่า สภาพปลอดเชื้อทางการค้า (commercial sterility) คือ การทำให้อาหารปราศจากเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และไม่มีจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเน่าเสียของอาหาร ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ในอาหารภายใต้สภาวะการเก็บรักษาปกติที่อุณหภูมิห้อง โดยอาหารที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ ในความเป็นจริงอาหารเมื่อได้รับความร้อนอุณหภูมิของอาหารจะไม่เปลี่ยนแปลงทันที จึงจำเป็นต้องหาอัตราการแทรกผ่านความร้อน (heat penetration) ในอาหารควบคู่ไปด้วยเพื่อกำหนดเวลาในการฆ่าเชื้อ (BB) สำหรับอาหารนั้นได้

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ การศึกษาผลของการใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อที่มีต่อคุณภาพและลักษณะของขวดพีพีที่บรรจุเครื่องดื่ม โดยเริ่มศึกษาเวลาการแทรกผ่านความร้อนของน้ำผลไม้กรดสูง 5 ชนิดบรรจุขวดพีพีขนาด ความจุ 180 มิลลิลิตร พบว่าการให้ความร้อนแก่เครื่องดื่มน้ำผลไม้บรรจุขวดพีพี โดยการต้มขวดในน้ำเดือด และการนึ่งขวดด้วยไอน้ำใช้เวลาสั้นกว่าการนึ่งขวดในรังถึง เพื่อนำผลมาใช้ในการฆ่าเชื้อเครื่องดื่ม จึงเตรียมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เป็นกรดสูงด้วยวิธีบรรจุร้อน และวิธีพาสเจอไรซ์ทั้งขวด และน้ำสมุนไพรกรดต่ำ 5 ชนิดที่ผ่านการ สเตอริไลซ์ โดยเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางจุลินทรีย์ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยที่สามารถบริโภคได้ แต่พบว่าคุณภาพของเครื่องดื่มที่บรรจุขวดมีสีและกลิ่นรสเปลี่ยนแปลงหลังจากเก็บไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ 1 และ 2 เดือนในน้ำผลไม้บรรจุร้อน น้ำผลไม้ทั้งขวดพาสเจอไรซ์ และน้ำสมุนไพร จึงทำให้คุณภาพไม่เหมาะต่อการบริโภค ทั้งที่ผลการทดสอบการแพร่กระจายของสารจากขวดที่ใช้บรรจุผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ข้อกำหนดในมาตรฐาน ไม่มีผลต่อความเสี่ยงในการบริโภค แต่อาจมีผลทำให้สีและกลิ่นรสเปลี่ยนแปลง ขวดพีพีจึงไม่เหมาะกับการบรรจุเครื่องดื่มเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง ถึงแม้ว่าวิธีการที่ใช้ในการบรรจุน้ำผลไม้มีความเป็นไปได้ที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ช่วยลดปัญหาการเสื่อมเสียของผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ความเย็นในการเก็บรักษา และลดต้นทุนการผลิตในการขนถ่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดจำหน่าย แต่อายุการเก็บค่อนข้างสั้น ผลงานนี้คงเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่ยังขาดความเข้าใจและมีพื้นฐานเทคโนโลยีการผลิตไม่ดีพอ นำไปใช้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตเครื่องดื่มกรดต่ำ อย่างไรก็ตาม วิธีการสเตอริไลซ์น้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มกรดต่ำในภาชนะบรรจุปิดสนิทให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนในหม้อฆ่าเชื้อ (รีทอร์ต, retort) ด้วย

ครับ ท้ายรายการนี้หากคุณผู้ฟังท่านใดสนใจที่จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือจะติชมรายการ ท่านสามารถเขียนจดหมายหรือไปรษณียบัตร ส่งมาได้ที่ “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ตู้ ปณ. 1077 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กทม. 10903” หรือโทรสอบถามได้ที่ 02-561-1474 ครับ กระผมหวังว่า สาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะครับ  สุดท้ายก่อนจบรายการ กระผมขอฝากไว้ประโยคหนึ่งครับว่า สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นการใส่ใจเรื่องของอาหารการกินเป็นสิ่งที่ดีครับ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า กระผม วิทวัส ยุทธโกศา ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ