การลดปริมาณไนเตรทในผลสับปะรด

รูปสับปะรด1       

    ผลสับปะรดสดซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สับปะรดชนิดต่าง ๆ หากมีปริมาณไนเตรทตกค้างสูงในผลสับปะรด สารไนเตรทจะไปทำปฏิกิริยากับดีบุกที่เคลือบผิวด้านในของกระป๋อง ทำให้ด้านในของกระป๋องเกิดเป็นสีดำ เป็นผลเสียต่อคุณภาพการผลิตและส่งออกสับปะรดกระป๋อง

    สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติได้กำหนดระดับมาตรฐานของไนเตรทในผลสับปะรดสดโดยอนุญาตให้มีไนเตรทตกค้างได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งโรงงานจะสุ่มตัวอย่างตรวจหาปริมาณไนเตรทในผลสับปะรดสดจากเกษตรกรก่อนรับซื้อ ซึ่งถ้ามีปริมาณไนเตรทสูงเกินมาตรฐาน โรงงานจะไม่รับซื้อ หรือรับซื้อในราคาต่ำ ทำให้เกิดความเดือนร้อนแก่เกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดบ่อยครั้ง

     รศ.ดร.จินดารัฐ วีระวุฒิ ภาควิชาพืชไร่นา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงทำการวิจัยเพื่อหาวิธีลดปริมาณไนเตรทในผลสับปะรดให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน โดยการให้ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ในความเข้มข้นและช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมหลังการบังคับผลในฤดูฝน และฤดูแล้ง โดยได้ทำการทดลองในพื้นที่ปลูกสับปะรดของเกษตรกรในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

    ผลการทดลองพบว่า  ต้นสับปะรดที่ไม่มีการให้ปุ๋ยไนโตรเจนหลังการบังคับผล และช่วงการพัฒนาของผลอยู่ในช่วงแล้ง มักจะไม่มีปัญหาด้านระดับไนเตรทในผลสูงเกินมาตรฐาน  แต่ต้นสับปะรดที่บังคับผลในช่วงฤดูแล้งและผลพัฒนาในช่วงที่มีฝนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 3 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว มีโอกาสที่จะมีระดับไนเตรทในผลสูง ถ้ามีการให้ปุ๋ยไนโตรเจนเพิ่มเติมหลังการบังคับผลหรือมีปุ๋ยตกค้างในดินสูง

            ในพื้นที่ที่มีปัญหาปุ๋ยตกค้างในดิน และมีฝนตกมาก ดินมีความชื้นสูงในช่วงการพัฒนาของผล ทำให้สับปะรดมีปัญหาในเตรทในผลสูงนั้น พบว่าการให้โพแทสเซียมคลอไรด์ 1.25-2.5% หลังการบังคับผล 3 เดือน 1 ครั้ง จะมีผลช่วยลดปริมาณไนเตรทในผลสับปะรดได้ดี

จินดารัฐ ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.จินดารัฐ วีระวุฒิ

ภาควิชาพืชไร่นา

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่องโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

    รศ.ดร.จินดารัฐ วีระวุฒิ