เครื่องอัดแท่งวัสดุปลูกต้นกล้าพืช

  6

7

      การเพาะชำกล้าไม้ ไม่ว่าจะเป็นกล้าผัก ไม้ดอก ไม้ผล ในขั้นตอนแรกต้องทำการเพาะกล้าลงในถาดเพาะชำหรือถุงพลาสติกดำสำหรับเพาะกล้าไม้ และเมื่อย้ายกล้าไปปลูก จะมีเศษถุงพลาสติกเหลือทิ้งจำนวนมากที่ยากต่อการย่อยสลาย ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา  เพื่อลดปัญหาดังกล่าว นายเสกสรร สีหวงษ์ นักวิจัย กองบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ  (ฝ่ายเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ) สำนักงานวิทยาเขต กำแพงแสน)  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงใช้แนวคิดของระบบปลูกพืชในวัสดุปลูก ทำการศึกษาชนิดและสมบัติของวัสดุปลูกที่เหมาะสมทั้งทางเคมี และทางกายภาพ เพื่อใช้เป็นวัสดุเพาะเมล็ดสำเร็จรูปแทนการใช้ถุงพลาสติกและถาดเพาะชำ โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยในการทำงาน

  2   3

1.1

    เครื่องอัดแท่งวัสดุปลูกต้นกล้าพืชที่ได้ออกแบบและพัฒนาขึ้น  มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ชุดอัดแท่งวัสดุปลูกต้นกล้าพืชและมอเตอร์ไฟฟ้า  จากการศึกษาและทดสอบการใช้งาน พบว่าการผลิตแท่งวัสดุปลูกต้นกล้าพืชที่มีสมบัติเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นกล้าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 และ 4 นิ้วเป็นขนาดที่มีสมบัติเหมาะสมในการเจริญเติบโตของพืชที่มีอายุการเจริญเติบโตในระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้อัตราส่วนผสมของวัสดุปลูกคือ กากตะกอนบ่อบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ต่อ ขุยมะพร้าว ต่อ ดินเหนียว ที่อัตราส่วน 1 : 0.25 : 0.50 โดยน้ำหนัก ใช้แรงอัดไฮดรอลิค 600 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว  สามารถผลิตแท่งวัสดุปลูกพืชขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง   3 นิ้วได้ 260 แท่ง และขนาด 4  นิ้วได้ 203 แท่งต่อชั่วโมง ใช้กำลังงานไฟฟ้า 1,556 และ 1,398 วัตต์-ชั่วโมง ตามลำดับ โดยใช้ผู้ปฏิบัติงานเพียง 1 คน  แท่งวัสดุปลูกที่ได้มีความพรุนรวม 53.26 และ 58.29 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ  มีความหนาแน่นรวม  0.76 และ 0.68  กรัมต่อ ลบ.ซม.ตามลำดับ  และมีความคงรูปทรงของแท่งวัสดุปลูก   85 และ 80  เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ  เครื่องอัดแท่งวัสดุปลูกต้นกล้าพืชต้นแบบมีศักยภาพที่จะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ได้

เสกสรร

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : นายเสกสรร สีหวงษ์

กองบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ

(ฝ่ายเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ)

สำนักงานวิทยาเขต กำแพงแสน

 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

นายเสกสรร สีหวงษ์