เพิ่มทางเลือกกำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่องแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  นักวิจัยมก. วิจัยหาแหล่งใหม่ๆจากสิ่งมีชีวิตในทะเล และชายฝั่ง สกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพใช้กำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่องและหวังที่จะพัฒนาเป็นยาต้านมาเลเรีย

4  1

5  33

          ภาพแสดงการทดสอบความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงก้นปล่อง

  มาลาเรีย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไข้ป่า ไข้จับสั่น เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยุงตัวเมียและออกกัดคนในเวลากลางคืน ขณะดูดเลือด ยุงจะปล่อยเชื้อโปรโตซัวที่มีอยู่ในน้ำลายของยุงเข้าสู่กระแสเลือดและจะไปทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้เสียชีวิตได้

  การควบคุมปริมาณยุงด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง การตัดวงจรชีวิตโดยกำจัดลูกน้ำยุงที่นิยมคือการใช้สารเคมี แต่วิธีที่กำลังได้รับความสนใจมากสุดขณะนี้ คือการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อพัฒนาสารจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาใช้กำจัดลูกน้ำยุงไม่ว่าจะเป็นการใช้จุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำ หรือการพัฒนาสารสกัดจากสัตว์ และพืชสมุนไพรต่างๆ ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

  สิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นอีกแหล่งที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางยาในด้านต่างๆ  ด้วยความแตกต่างของโครงสร้างและคุณสมบัติสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตบนบกกับในทะเล ดังนั้น ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ รศ.ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ และนางเยาวนารถ พลายมาต จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยหาแหล่งใหม่ๆจากสิ่งมีชีวิตในทะเล และชายฝั่งที่มีศักยภาพ เพื่อสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพใช้ป้องกันมาเลเรีย โดยมีการดำเนินงานวิจัยเป็น 2 แนวทาง คือ ใช้กำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่อง และใช้พัฒนาเป็นยารักษามาเลเรีย

 สำหรับเป้าหมายการกำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่อง ทีมวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเล  และชายฝั่ง จากพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 42 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์ทะเล 26 ชนิด  เช่น เห็ดทะเล กระต่ายทะเล ทากเปลือย ปลิงทะเล  พรมทะเล ฟองน้ำ ปะการัง กัลปังหา กลุ่มพืชทะเล  16 ชนิด เช่น สาหร่ายทะเล หญ้าทะเล และพันธุ์ไม้ป่าชายเลน โดยเลือกชนิดที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่นและมีรายงานหรือการศึกษาว่าประกอบด้วยสารที่มีคุณสมบัติยั้บยังจุลชีพ เป็นพิษต่อปลา หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  ส่วนเป้าหมายการคัดเลือกสารต้านมาเลเรีย เก็บตัวอย่างจากพื้นที่เดียวกัน ได้ทั้งสิ้น 146 ชนิด  ประกอบด้วย กลุ่มสัตว์ทะเล 97 ชนิด  และกลุ่มพืชทะเล 49 ชนิด ทำการสกัดสารออกฤทธิ์ด้วยตัวทำละลาย ต่างๆ เช่น ใช้น้ำ เอทธานอล เมทานอล คลอโรฟอร์ม  อะซีโตน   ด้วยความเข้มข้นระดับต่างๆ จากนั้นนำไปทดสอบความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงก้นปล่อง รวมทั้งทดสอบการเป็นสารต้านมาเลเรีย

 1a  1b

   การเตรียมสารสกัดจากสิ่งมีชีวิตเพื่อใช้ในการทดสอบความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงก้นปล่อง

ถอบแถบ

ส่วนต่างๆของเถาถอบแถบที่ใช้ในการศึกษา (ก) ใบ    (ข) กิ่งก้าน  (ค) ผล

ทดสอบยุง

         การทดสอบความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงก้นปล่องในภาคสนาม

  ผลการวิจัยสามารคัดเลือกสารสกัดชีวภาพที่มีศักยภาพได้รวม 25 สาร  ที่ทำให้ลูกน้ำยุงก้นปล่องมีอัตราการตาย อย่างน้อย 50 %  ที่ระดับความเข้มข้น 5000 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยพบว่าสารสกัดจากผลเถาถอบแถบ (Derris trifoliate) ด้วยเอทธานอล มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการกำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่อง  โดยพบว่าสารสกัดจากส่วนของผลมีความเป็นพิษสูงสุด แตกต่างจากการใช้ส่วนของใบ และกิ่งก้านต้นเถาถอบแถบ นอกจากนั้นยังพบว่าผลการทดสอบเบื้องต้นในภาคสนามในบริเวณบ้านที่ทำการเก็บตัวอย่าง ผลเถาถอบแถบเป็นพืชที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่องในชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด  เนื่องจากมีคุณสมบัติความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุง และยังเป็นพืชที่มีปริมาณมากและหาได้ง่ายบริเวณป่าชายเลนในท้องถิ่นด้วย  ส่วนกลุ่มสัตว์ทะเลที่มีประสิทธิภาพกำจัดลูกน้ำยุง คือสารสกัดจากเอทธานอลจากกัลปังหา ปะการังอ่อน และฟองน้ำ  แต่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณและการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่จะพัฒนาไปใช้ประโยชน์ 

ทดสอบ b-hematin

การเตรียมสารสกัด (crude extrct) ที่ใช้ในการทดสอบการยับยั้ง β-hematin

ทดสอบ b-hematin2

          การทดสอบการยับยั้งสาร β-hematin

  ส่วนการคัดเลือกสิ่งมีชีวิตเพื่อเป็นแหล่งที่จะพัฒนาเป็นยาต้านมาเลเรียด้วยกลไกการยับยั้ง β–hematin  ได้ถึง 42 สาร โดยสารที่มีศักยภาพนำไปพัฒนาได้ดี คือสารสกัดจากต้นฝาดขาว(Lumnitzera racemosa) ฟองน้ำสีม่วง(Neopetrosia sp.) สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน(Brachytrichia purpurea) หญ้าทะเล(Cymodocea rotundata) ผลของเถาถอบแถบ(Derris trifoliate) และฟองน้ำ(Pseudoceratina purpurea) ตามลำดับ

 การวิจัยนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการคัดเลือกสารสกัดชีวภาพจากสิ่งมีชีวิตในทะเลและชายฝั่ง เพื่อพัฒนาเป็นสารกำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่อง ทดแทนการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นสารต้านมาเลเรียต่อไป อย่างไรก็ตามการศึกษานี้อยู่ในรูปสารสกัดหยาบและเป็นการทดสอบเบื้องต้น  ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเชิงลึกเรื่องโครงสร้างสาร องค์ประกอบทางเคมี เทคนิคการสกัดและแยกสารออกฤทธิ์  เปรียบเทียบความเข้มข้น การทดสอบความเป็นพิษกับยุงต่างชนิด ซึ่งต้องบูรณาการสาขาวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมมือพัฒนางานวิจัยต่อไป

พันธุ์ทิพย์ ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.หัวหน้าโครงการ : ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลคณะประมง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

 

เรียบเรียง : วันเพ็ญ นภา

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

 

    ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์