ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ช่วยเร่งการย่อยสลายสารพิษตกค้างในดิน

  ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชมาเป็นเวลานาน เกิดการสะสมความเป็นพิษในดินและสิ่งแวดล้อม  ก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำเกษตรกรรม เป็นผลส่งต่อไปยังห่วงโซ่อาหารของมนุษย์

 ผศ.ดร.สุรางค์ สุธิราวุธ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการวิจัยเพื่อลดปริมาณสารพิษตกค้างในดิน โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพไปเร่งการย่อยสลายสารเคมีที่ใช้กำจัดแมลงซึ่งตกค้างในดินและปุ๋ย รวมทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพทั้งแบบผงและแบบของเหลวเพื่อสะดวกในการใช้

123

 ผลิตภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis  ที่ผสมตัวพาชนิดต่างๆ

ก. ดินขาว  ข. ดินจากจังหวัดกาญจนบุรี    ค. ขุยมะพร้าว

  ผศ.ดร.สุรางค์ สุธิราวุธ ได้ทำการทดสอบแบคทีเรีย Bacillus spp  9 สายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายคลอไพริฟอส ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ซึ่งมักใช้กับไม้ผลและข้าวโพด   และสามารถย่อยสลายสารคาร์โบฟูราน ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงที่นิยมใช้กันมากในไร่ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ และแตงโม  ซึ่งผลจากการทดสอบได้คัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ไว้ 2 สายพันธุ์ คือ B thuringiensis K033  ซึ่งมีประสิทธิภาพย่อยสลายคลอไพริฟอสได้ดีที่สุด และ B thuringiensis  P027 ซึ่งมีประสิทธิภาพย่อยสลายสารพิษในกลุ่มคาร์บาเมทได้ดีที่สุด   จากนั้นจึงศึกษาวิธีเพิ่มจำนวนสปอร์อิสระให้มากที่สุดด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดต่างๆ แล้วนำไปทำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ในรูปผงแห้ง โดยผสมสารแขวนลอยของสปอร์อิสระกับตัวพา 3 ชนิด คือ  ดินขาว  ดินจากจังหวัดกาญจนบุรี และขุยมะพร้าว พบว่าสปอร์อิสระสามารถคงการมีชีวิตได้ดีในตัวพาทั้ง 3 ชนิด ส่วนวิธีทำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์แบบของเหลว พบว่าควรใช้น้ำกลั่น เพราะให้ปริมาณแบคทีเรียรอดชีวิตไม่ต่างจากการใช้กลีเซอรอล แต่จะประหยัด และมีวิธีทำที่ง่ายกว่า  สำหรับการทดสอบความสามารถในการดูดซับแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด ในดินเปรียบเทียบกับในขุยมะพร้าวแห้งและขุยมะพร้าวเปียก ผลการทดสอบพบว่า วัสดุดูดซับที่เป็นขุยมะพร้าวทั้งแห้งและเปียกสามารถดูดซับเชื้อได้ไม่ต่างกัน แต่มีประสิทธิภาพดูดซับได้ดีกว่าดิน  เนื่องจากโครงสร้างขุยมะพร้าวมีรูพรุน มีการดูดซับน้ำได้มาก จึงดูดซับเชื้อไว้ได้มากกว่า จึงอาจสรุปได้ว่าการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยในสภาพแวดล้อมของการปลูกพืชในแปลงไร่นา สามารถนำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายสารพิษตกค้างทั้งแบบผง หรือแบบน้ำไปผสมกับขุยมะพร้าว ใส่ลงในบริเวณที่ปลูกพืช จะช่วยเร่งการย่อยสลายสารพิษได้ดีกว่าการใส่ลงในดินโดยตรง

สุรางค์

 

          ผศ.ดร.สุรางค์ สุธิราวุธ

 

 

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร.สุรางค์ สุธิราวุธ

ภาควิชาจุลชีววิทยา

คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรียบเรียง : วันเพ็ญ นภา

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร.02 561 1474

e-Mail : rdiwan@ku.ac.th