ผลตกค้างของยาฆ่าแมลงในขนเป็ดและไข่เป็ด

  ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างกว้างขวาง  อาทิ สารกำจัดแมลง สารกำจัดหนู สารกำจัดวัชพืช  ถึงแม้จะมีมาตรการในการห้ามใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิด แต่ก็ยังตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง  และเกิดการสะสม ที่สามารส่งผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ของพืช สัตว์ รวมถึงมนุษย์ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค

  เกษตรกรนิยมใช้สารเคมีในกลุ่มออร์กาโนคลอรีนเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมทั้งหอยเชอรี่ เป็นสารเคมีที่สลายตัวช้า มีฤทธิ์ตกค้างสะสมยาวนานได้กว่า 30 ปี  จึงตรวจพบได้ในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารเป็นปริมาณสูง ยาฆ่าแมลงในกลุ่มนี้ อาทิเช่น ออลดริน คลอเดน ดีลดริน  เอนดริน เฮปตาครอ ฯลฯ รวมทั้งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและประเทศไทยมีการห้ามใช้แล้ว  คือ ดีดีที

เป็ด2

  ดร. พรรณวิมล ตันหัน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาผลการตกค้างสะสมของยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์กาโนคลอรีน 20  ชนิด และโลหะหนักในดิน น้ำ  และใช้ขนเป็ด และไข่เป็ด เป็นตัวดัชนีชี้วัดทางชีวภาพในการตรวจสอบการตกค้างยาฆ่าแมลงเหล่านี้  เนื่องจากนกหรือสัตว์ปีกสามารถขับของเสียออกจากร่างกายโดยการสะสมไว้ที่ขน

 กำหนดพื้นที่ศึกษาเป็นฟาร์มเป็ด 8 แห่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีทำเลที่ตั้งใกล้หรือติดบริเวณที่มีการทำการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาข้าว  มีการเลี้ยงแบบมีเล้าและให้อาหารสำเร็จรูป ผสมกับการปล่อยเลี้ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่เรียกกันว่าเป็ดไล่ทุ่ง มีการหาอาหารกินเองจากธรรมชาติ เช่น หอย ปู ปลา รำข้าว ปลายข้าว  ข้าวเปลือก การวิจัยดำเนินการโดยการเก็บตัวอย่างดินที่ผิว  เก็บตัวอย่างน้ำ อาหารเป็ด ขนเป็ด และไข่เป็ด จากแต่ละฟาร์ม ทำการตรวจวัดปริมาณโลหะหนัก และการตกค้างของปริมาณยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน หาค่าความสัมพันธ์ของปริมาณสารปนเปื้อนในดิน น้ำ เทียบกับการตกค้างในขนเป็ดและไข่เป็ด ทั้งไข่แดง ไข่ขาว ของแต่ละฟาร์ม

เป็ด1 

 

  จากการศึกษาพบการตกค้างของสารในกลุ่มออร์กาโนคลอรีน ทั้ง 20 ชนิด ในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ และอาหารเป็ด พบว่ามีความสัมพันธ์กับปริมาณที่ตรวจพบในขนเป็ด และไข่เป็ด ของแต่ละฟาร์ม  โดยพบปริมาณสารประกอบกลุ่มเฮกซะคลอโรเบนซีน(HCB) ตกค้างสูงสุดในขนเป็ดและไข่เป็ด  โดยจากปริมาณที่ตรวจพบนี้พบว่าปริมาณของ ออลดริน คลอเดน  ดีลดริน เอนดริน เฮปตาคลอ ที่พบตกค้างในไข่เป็ดมีปริมาณสูงกว่า Acceptable Daily Intake (ADI) แต่ยังต่ำกว่าค่า maximum residue level นอกจากนี้พบการตกค้างของโลหะหนัก 7 ชนิดที่ทำการศึกษา โดยพบว่า Zn เป็นโลหะหนักที่พบเป็นปริมาณสูงสุดในขนเป็ด รองลงมาคือ Fe Pb Mn Cu Ni และ Cd ตามลำดับ ส่วนในไข่ขาว ไข่แดง และเปลือกไข่ พบว่ามีการตกค้างของ Pb Fe และ Cu สูงสุดตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อประเมินความเสี่ยงจากการบริโภคไข่เป็ดที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก จากค่า Target Hazard Quotient (THQ) พบว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการบริโภคได้เมื่ออ้างอิงจากการบริโภคเฉลี่ยของคนไทย

พรรณวิมล ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.หัวหน้าโครงการ : ดร.พรรณวิมล ตันหันภาควิชาเภสัชวิทยา

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่อง: วันเพ็ญ นภา

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 02 561 1474 

e-Mail : rdiwan@ku.ac.th

 

      ดร. พรรณวิมล ตันหัน