วัสดุปิดแผลเส้นใยนาโนผสมว่านหางจระเข้

    วัสดุปิดแผล คือ ผลิตภัณฑ์ทำแผลสำเร็จรูปสำหรับปฐมพยาบาลบาดแผล มักเป็นแผลขนาดเล็กที่เลือดหยุดไหลแล้ว มีหน้าที่ป้องกันบาดแผลจากเชื้อโรค ความชื้น สิ่งสกปรกต่างๆ และยังช่วยในการห้ามเลือดและสมานแผลของผู้ป่วยให้หายเร็วยิ่งขึ้น

    วัสดุปิดแผลที่ดีต้องป้องกันเชื้อโรค รักษาความชื้น ระบายอากาศได้ เพื่อรักษาสภาพที่เหมาะสมกับเซลล์เนื้อเยื่อ วัสดุปิดแผลที่รู้จักกันดีคือ ผ้าโปร่งปิดแผล ทำจากฝ้าย แต่มีข้อเสียคือติดแผลและลอกออกยาก วัสดุปิดแผลที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันมักทำจากวัสดุโพลิเมอร์สังเคราะห์มีหลายชนิด เช่น แผ่นปิดจากโพลียูรีเทน  แผ่นปิดเจลน้ำ  แผ่นปิดจากเรซิ่น แต่วัสดุปิดแผลที่ผลิตจากวัสดุชีวภาพ กำลังมาแทนที่เพราะสามารถช่วยให้แผลสมานกันได้เร็วกว่า  วัสดุชีวภาพที่นิยมนำมาใช้ เช่น คอลลาเจน ไคโตซาน อีลาสติน แอลกิเนท และว่านหางจระเข้  แต่วัสดุชีวภาพเหล่านี้ก็มีข้อด้อยในเรื่องของสมบัติทางกายภาพ เมื่อสัมผัสกับความชื้น

 ชุดอุปกรณ์ ว่านหางจระเข้

เก็บตัวอย่างฟิล์ม 

    ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยของ ดร.กอบศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาและพัฒนาวิธีการผลิตวัสดุปิดแผล ที่มีคุณสมบัติในการช่วยการสมานแผล ขณะเดียวกันยังมีความแข็งแรงเมื่อได้รับความชื้น โดยใช้วัตถุดิบชีวภาพ 2 ชนิด คือวัสดุโพลิเมอร์ชีวภาพจากเอทธิลเซลลูโลส ที่มีคุณสมบัติในด้านความเสถียรต่อน้ำสูง  มีโครงสร้างเป็นโพลีเมอร์สายยาวที่เหมาะกับกระบวนการปั่นด้วยไฟฟ้าแรงดันสูงที่เรียกว่าเทคนิคการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิต นำมาผสมกับวัสดุชีวภาพสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์สำคัญในการสมานแผล  ลดการอักเสบ และเพิ่มการเจริญของเซลล์เนื้อเยื่อ

   เมื่อนำสองสิ่งที่มีคุณสมบัติดีเด่นเหมาะสมมาผสานรวมกัน โดยใช้เทคนิคการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิต ในการผลิตเส้นใยนาโน ผลจากการวิจัย จึงได้เป็นวัสดุปิดแผลเส้นใยนาโนจากเอทธิลเซลลูโลสและว่านหางจระเข้  เป็นฟิล์มที่มีความอ่อนนุ่มเป็นลักษณะพิเศษ เนื่องจากได้โครงสร้างเส้นใยที่ละเอียดกว่า ได้ทำการศึกษาเงื่อนไขต่างๆที่เหมาะสมในการผลิตฟิล์มจากสารละลายเอทธิลเซลลูโลสกับวุ้นว่านหางจระเข้   หาความสัมพันธ์ระหว่างความหนืดกับความเข้มข้นสารละลายระดับต่างๆ อัตราการไหลของสารละลายและตัวทำละลาย ระยะห่างระหว่างปลายเข็มของสารละลายกับแผ่นรองรับ รวมทั้งแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิต  ความเข้มข้นของสารละลายที่เหมาะสมที่ทำให้สามารถผลิตเส้นใยเป็นเส้นตรงยาวอย่างต่อเนื่อง ทดสอบได้อัตราส่วนระหว่างสารละลายเอทธิลเซลลูโลส ต่อวุ้นว่านหางจระเข้ที่เหมาะสมที่ 9: 1 โดยปริมาตร เป็นอัตราส่วนที่จะไม่ทำให้เอทธิลเซลลูโลสในสารละลายเกิดการตกตะกอน เมื่อนำมาผ่านกระบวนการผลิตได้เป็นแผ่นฟิล์ม ที่มีเส้นใยขนาดเล็กวัดได้มีขนาดตั้งแต่ 200-600  นาโนเมตร นอกจากนั้นยังได้ทดสอบสมบัติทางกายภาพ ความแข็งแรงของฟิล์ม รวมทั้งทดสอบพบว่าไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์เนื้อเยื่อด้วย

ฟิล์มตัวอย่าง

นาโน

ขยายเส้นใยขยาย

  ผลจากงานวิจัยนี้ ได้วิธีการผลิตเส้นใยนาโนจากวัสดุชีวภาพเอทธิลเซลลูโลสและว่านหางจระเข้ ด้วยเทคนิคการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิต ได้เส้นใยนาโนขนาดเล็กที่มีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ได้แผ่นฟิล์มที่มีความแข็งแรง เป็นองค์ความรู้เพื่อการทำงานวิจัยในเชิงลึกและสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิดแผลเชิงพาณิชย์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่างๆตามต้องการได้ เช่น นอกจากผสมสารสกัดว่านหางจระเข้ ยังสามารถผสมสารออกฤทธิ์สำคัญอื่นๆ เช่น คอลลาเจน หรือสารยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรค เข้าไปในสารละลายโพลิเมอร์ชีวภาพ ทำให้ได้วัสดุปิดแผลที่มีสมบัติตามฤทธิ์ของสารที่เติมลงไป หรือพัฒนาเป็นวัสดุปิดผิว สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยที่ผิวหนังถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือบาดเจ็บทางผิวหนังต่างๆ โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศ

กอบศักดิ์

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ดร กอบศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล

ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร

คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียงเรื่อง : วันเพ็ญ นภา

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 02 5611474

e-Mail: rdiwan@ku.ac.th

              ดร.กอบศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล