การผลิตน้ำยางพาราไร้สารโปรตีนก่อภูมิแพ้

   น้ำยางธรรมชาติ จากต้นยางพารา มีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม  ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเนื้อยาง ซึ่งเป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอน เป็นอนุภาคแขวนลอยในน้ำ และส่วนที่ไม่ใช่ยาง เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดอมิโน และองค์ประกอบอื่นๆ โดยในส่วนประกอบของอนุภาคจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 1 %  ในขณะที่มีรายงานการแพ้สารโปรตีนเกิดขึ้นกับกลุ่มบุคคลที่ใช้ผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง โดยพบชนิดของโปรตีนก่อภูมิแพ้และพบว่าสารโปรตีนที่มีมากเกิน 0.1 % เป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้

กราฟ1

   

   ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.นันทิยา หาญศุภลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยวิธีกำจัดโปรตีนออกจากน้ำยางพารา  โดยเน้นการหาสภาวะที่เหมาะสมในการกำจัดชั้นโปรตีนของน้ำยางพาราด้วยการใช้เอ็นไซม์โปรติเอสจากจุลินทรีย์ที่เกิดจากแบคทีเรีย Bacillus  sp. และทำการประยุกต์ใช้เอ็นไซม์ตรึงบนตัวรองรับที่ทำจากไคโตซานอย่างเดียว เปรียบเทียบกับการใช้ไคโตซานผสมจุลผลึกเซลลูโลสเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เพื่อการย่อยโปรตีนในยางธรรมชาติ รวมทั้งเปรียบเทียบกับการใช้เอ็นไซม์อิสระ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสภาวะที่เหมาะสมในการตรึงเอ็นไซม์บนตัวรองรับ วิเคราะห์ประสิทธิภาพการกำจัดโปรตีนในน้ำยางด้วยการวัดปริมาณไนโตรเจนรวม โดยศึกษาเปรียบเทียบกับวิธีการใช้ยูเรียในการกำจัดโปรตีนออกจากน้ำยางด้วย   ซึ่งผลการวิจัยสามารถหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการตรึงเอ็นไซม์บนตัวรองรับทั้งสองชนิดได้ และพบว่าการมีจุลผลึกเซลลูโลสผสมผสมกับไคโตซานเป็นตัวรองรับนั้นสามารถช่วยกำจัดโปรตีนในน้ำยางได้ดีกว่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนชนิดที่เป็นต้นเหตุก่อภูมิแพ้ในมนุษย์ และเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เอ็นไซม์อิสระ พบว่าสามารถลดเวลาการแช่ยางกับเอ็นไซม์ลงได้ครึ่งหนึ่งด้วย

 กราฟ2  

   องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากยางพารา  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำยางพาราปราศจากโปรตีนก่อภูมิแพ้ในระดับอุตสาหกรรมเพื่อการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อสุขภาพต่อไป

นันทิยา

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

ผศ.ดร.นันทิยา หาญศุภลักษณ์

ภาควิชาวิศวกรรมเคมี 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียงโดย : วันเพ็ญ นภา

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย 

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 02 561 1474 

e-Mail : rdiwan@ku.ac.th

  ผศ.ดร.นันทิยา หาญศุภลักษณ์