มังคุดเนื้อแก้ว

    มังคุดได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทั้งด้านการผลิตและการส่งออก แต่ปัญหาของการส่งออกคือบางฤดูกาลมีผลผลิตไม่เพียงพอ  และคุณภาพของมังคุดยังไม่ดีพอ

มังคุดเนื้อแก้ว คืออะไร

เนื้อแก้ว

   คุณภาพของมังคุด ประเมินได้จากลักษณะภายนอก และภายใน  ซึ่งลักษณะภายนอก ได้แก่ สี ขนาด  รูปทรง ตำหนิที่ผิว คราบยาง เปลือกแข็ง และลักษณะภายในซึ่งจะบ่งชี้ถึงคุณภาพที่สำคัญ ได้แก่ อาการเนื้อแก้ว ซึ่งเป็นความผิดปกติทางด้านสรีรวิทยา เนื้อมังคุดจะใส กรอบ และมีลักษณะคล้ายฉ่ำน้ำอยู่ในเนื้อ รสชาติจืด ในการส่งออกนั้น มังคุดเนื้อแก้วถือเป็นมังคุดเสีย โดยเป็นลักษณะที่มองไม่เห็นจากผิวเปลือก จึงเป็นปัญหาของผู้ส่งออก  เราทราบกันว่า จำนวนกลีบภายในผลมังคุดจะเท่ากับจำนวนแฉก(ของยอดเกสรเพศเมีย)ที่ก้นผล  ขณะที่มังคุดเนื้อแก้วอาจเป็นเพียงบางกลีบ หรือบางส่วนของกลีบ และมักจะพบอาการเนื้อแก้วที่กลีบที่ใหญ่สุด และอาจรวมไปถึงกลีบข้างเคียงด้วย ซึ่งถ้าดูจากภายนอกผลมังคุดจะเบี้ยวมีส่วนที่โปนออกมา เป็นส่วนที่อยู่ของกลีบที่ใหญ่สุดนี้ ส่วนสาเหตุการเกิดอาการเนื้อแก้ว ยังไม่ทราบแน่ชัด มีเพียงการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการถูกกระทบกระเทือน หรือเป็นผลจากความไม่สมดุลของธาตุอาหาร

การตรวจสอบอาการเนื้อแก้วในมังคุด

แบบจำลอง

   เปลือกมังคุด

 ปัจจุบันใช้เทคนิคอินฟราเรดย่านใกล้ในการตรวจสอบคัดแยกมังคุดเนื้อแก้วออกจากมังคุดปกติ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบ มีต้นทุนสูงเนื่องจากต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง จึงทำได้เฉพาะบริษัทส่งออกขนาดใหญ่ๆ เท่านั้น

   รศ.ดร.อนุพันธ์ เทิดวงศ์วรกุล ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเทคนิกสเปกโทรสโกปีอิมพีแดนซ์ทางไฟฟ้า มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อจำแนกมังคุดที่เป็นเนื้อแก้วออกจากมังคุดปกติแบบทำลายน้อยที่สุด  เป็นเทคนิกที่สะดวก รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยศึกษาหารูปแบบและตำแหน่งการวัดที่เหมาะสม ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ตำแหน่งบนเปลือกที่ตรงกับกลีบเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  และแนวกลางที่ตั้งฉากแกนขั้วผล   กลีบเนื้อที่ใหญ่สุดจะทำให้ผลมังคุดเบี้ยวและมีส่วนที่โตที่สุดเพียงด้านเดียวเมื่อมองจากภายนอก ซึ่งมักจะพบว่ากลีบที่ใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อแก้ว จากการสร้างสมการโดยใช้ตัวแปรทางไฟฟ้า มาคัดแยกกลุ่มมังคุดเนื้อแก้วออกจากมังคุดปกติ ผลการวิจัยมีความแม่นยำประมาณ 75 % และเมื่อปรับชดเชยค่าความแตกต่างระหว่างการวัดตำแหน่งที่กลีบใหญ่สุดกับที่ตำแหน่งตรงข้าม ผลวิเคราะห์มีความแม่นยำเพิ่มขึ้นเป็น 83.3 %   ทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานในการนำไปศึกษาต่อยอดสู่การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับคัดแยกมังคุดเนื้อแก้วในอนาคต ซึ่งจะทำให้ได้มังคุดที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ ช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการส่งออกมังคุดได้สูงขึ้น

อนุพันธ์

ที่มาข้อมูล       : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ :  รศ.ดร.อนุพันธ์ เทอดวงศ์วรกุล

            ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร   คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน

                          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียงโดย   :  วันเพ็ญ นภา 

                     ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมก.

                     0-2561-1474

                      rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.อนุพันธ์ เทอดวงศ์วรกุล