กินผลไม้อะไรดี ช่วยชะลอแก่

   ฝรั่งกิมจู

           ผู้ที่ใส่ใจสุขภาพหลายๆคนเลี่ยงการบริโภคอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน โดยหันมาบริโภค ผัก ผลไม้ มากขึ้น ผลไม้ให้คุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับผัก บางคนไม่ชอบทานผัก ผลไม้จึงเป็นทางเลือกของการบริโภคของผู้รักสุขภาพ และโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนและไขมันควรบริโภคผลไม้แทนขนมหวาน นอกจากนั้นผลไม้หลายชนิดมีบทบาทในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (free radical) หรือการต้านออกซิเดชั่น (antioxidation) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่นำไปสูการเสื่อมของเซลล์ต่างๆของร่างกาย

     รศ.ดร.ทัศนีย์ ลิ้มสุวรรณ  อาจารย์ประจำภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร ได้ร่วมกับ นางลัดดา วัฒนศิริธรรม  และน.ส.จันทร์เพ็ญ แสงประกาย จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการคัดเลือกผลไม้พื้นบ้านของไทยที่มีปลูกและจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปรวมทั้งเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ราคาไม่แพง รวม 19 ชนิด ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ ลองกอง เงาะโรงเรียน แก้วมังกรเนื้อสีขาว แก้วมังกรเนื้อสีแดง มังคุด สละ ลิ้นจี่ ทุเรียนหมอนทอง ฝรั่งกลมสาลี่ ฝรั่งกิมจู มะละกอแขกดำ สับปะรดภูเก็ต สับปะรดศรีราชา และแตงโมจินตหราเพื่อทำการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ คำนวณปริมาณน้ำ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต พลังงาน และใยอาหาร วิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสารอาหาร เช่น วิตามินซี เบตาแคโรทีน วิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ไม่ใช่อาหาร เช่น สารประกอบฟีโนลิก รวมทั้งวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการระหว่างการเก็บรักษาเพื่อรอการบริโภค ในรูปแบบเป็นผลไม้ทั้งผล แบบหั่นเป็นชิ้น เก็บในอุณหภูมิตู้เย็นและอุณหภูมิห้องในระยะเวลาต่างๆกันด้วย

มะม่วงมังคุด   กล้วย1

   ผลการศึกษาจากผลไม้ที่คัดเลือกมาทั้ง 19 ชนิด เมื่อทำการวิเคราะห์คุณค่าทางโภขนาการ พบว่า ฝรั่งกิมจู มีปริมาณของส่วนที่บริโภคได้มากสุดกว่า 90%  เพราะเป็นผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือก และแทบจะไม่มีเมล็ด มังคุดมีเปลือกหนาจึงมีส่วนที่บริโภคได้น้อยสุด 27 % หรือไม่ถึงหนึ่งในสามของทั้งลูก และเมื่อเทียบคุณค่าทางโภชนาการพบว่า  โดยรวมแล้วผลไม้จะมีความชื้นสูง โดยแตงโมจินตหรามีความชื้นสูงสุด 89 % และทุเรียนหมอนทองมีความชื้นน้อยสุด 56 %  มีโปรตีนโดยรวมระดับต่ำ 0.6-4%  และไขมันต่ำ .05-2 % เท่านั้น ผลไม้ที่มีใยอาหารมากสุด คือ ฝรั่งกลมสาลี่ (22%) รองลงมาคือฝรั่งกิมจู (19%)  โดยแตงโมจินตหราให้ใยอาหารน้อยสุด (0.4% )   ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงสุดคือ ฝรั่งกิมจู (131 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม) รองลงมาคือฝรั่งกลมสาลี่ (125มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100กรัม) ผลไม้ส่วนใหญ่ให้พลังงานต่ำ ยกเว้นทุเรียนหมอนทองเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูงสุด 581 กิโลแคลอรี่ แตงโมจินตหราให้พลังงานต่ำสุด45กิโลแคลอรี่  กราฟ              ที่มา :  รายงานวิจัยโครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก. เรื่อง สารต้านออกซิเดชั่นและคุณค่าทางโภชนาการของผลไม้ไทย

    ในการวิเคราะห์ปริมาณสารต้านออกซิเดชั่น หรือฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถจัดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1. กลุ่มผลไม้ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่า 100 มิลลิกรัม (เทียบกับปริมาณวิตามินซีต่อตัวอย่างผลไม้ 100 กรัม) ได้แก่ ฝรั่งกิมจู มีปริมาณสารต้านออกซิเดชั่น สูงสุด 130 มิลลิกรัม รองลงมาได้แก่ ลิ้นจี่ 123 มิลลิกรัม กลุ่ม 2. กลุ่มผลไม้ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 50- 100 มิลลิกรัม ได้แก่ ฝรั่งกลมสาลี่ 99 มิลลิกรัม มะม่วงน้ำดอกไม้ 88 มิลลิกรัม  ส่วนผลไม้ที่เหลือจัดอยู่ในกลุ่ม 3 คือกลุ่มผลไม้ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม  โดยแตงโมจินตหรามีค่าต่ำสุด 4 มิลลิกรัม ทั้งนี้ได้ทำการวิเคราะห์เปลือกมังคุดพบว่ามีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมากถึง 2,755 มิลลิกรัม ขณะที่เปลือกแก้วมังกรที่มีสีแดงสดกลับมีค่าเพียง 17 มิลลิกรัม  ส่วนการวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิก พบว่ามีลักษณะทำนองเดียวกับปริมาณสารต้านออกซิเดชั่น  คือ ฝรั่งกิมจู มีค่าสูงสุด 129 มิลลิกรัม แตงโมจินตหรามีค่าต่ำสุด14 มิลลิกรัม

    ผลไม้ทุกชนิดดีต่อสุขภาพ แต่จากผลการศึกษานี้ จึงอยากเชิญชวนมากินฝรั่งกันเถอะ เพราะฝรั่งคือผลไม้ที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งแง่คุณค่าทางโภชนาการ อุดมด้วยสารอาหารที่มีคุณค่า มีวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระสูง ในราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ  โดยเฉพาะฝรั่งกิมจู เหมือนผลไม้ธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา จากจำนวนผลไม้ 19 ชนิดที่นักวิจัยคัดเลือกมาศึกษา ขอยกให้ฝรั่งกิมจูเป็นสุดยอดผลไม้พื้นบ้านที่มีดีเป็นพิเศษ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุด เป็นผลไม้ที่กินได้ กินดี มีให้กินได้ตลอดทั้งปี เป็นผลไม้ที่ควรกินเพื่อคนไทยจะได้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า….

ทัศนีย์

ที่มาข้อมูล  :        โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก 

รศ.ดร.ทัศนีย์  ลิ้มสุวรรณ และคณะ 

ภาควิชาคหกรรมศาสตร์  คณะเกษตร 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

รศ.ดร.ทัศนีย์ ลิ้มสุวรรณ

เรียบเรียงโดย              :               วันเพ็ญ นภา 

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

0-2561-1474

rdiwan@ku.ac.th