รายการวิทยุ เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาไม้ไผ่”

บทวิทยุ รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ที่ 30 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558
เรื่อง การวิจัยและพัฒนาไม้ไผ่
บทวิทยุโดย  หทัยรัตน์  ศรีสุภะ

…………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่านค่ะ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ค่ะ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายประยุกต์และถ่ายทอดงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีดิฉัน…………………..เป็นผู้ดำเนินรายการค่ะ
คุณผู้ฟังค่ะ ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัตถุดิบ ที่อยู่อาศัยและแม้กระทั้งการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านยารักษาโรค  ไม้ไผ่มีอยู่มากมายทั่วประเทศซึ่งมีสภาพภูมิอากาศของเขตร้อน ไม้ไผ่ที่พบอยู่ในประเทศไทยมี 12 สกุล 41 ชนิด แม้ว่าไม้ไผ่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นพืชเอนกประสงค์และมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อชาวชนบท  และด้วยความที่ไม้ไผ่เป็นไม้ที่มีคุณประโยชน์มากมายแต่กลับถูกนำมาใช้โดยปราศจากมาตรการทางด้านการอนุรักษ์แม้แต่น้อย เลยส่งผลทำให้ปริมาณไม้ไผ่ลดลงอย่างรวดเร็วและงานวิจัยเกี่ยวกับไม้ไผ่ก็ยังมีน้อยมาก ปัจจุบันปัญหาด้านการตลาดของผลิตผลของพืชเกษตรทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลพลอยได้ให้กับไม้ไผ่และงานวิจัยได้รับการพัฒนาไม้ไผ่ให้ได้รับความสนใจมากขึ้นไปด้วยค่ะ
การวิจัยเรื่องไม้ไผ่ในประเทศไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี  พ.ศ.2507  โดยเรื่องของไม้ไผ่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษของกรมป่าไม้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อความช่วยเหลือจากต่างประเทศหมดไป การวิจัยเรื่องไม้ไผ่ก็ถูกทอดทิ้งจนแทบจะกล่าวได้ว่าเกือบจะไม่มีผู้ใดทำการวิจัยหรือให้ความสนใจกับเรื่องไม้ไผ่เลย ระหว่างช่วง พ.ศ. 2515 – 2525
จนกระทั้งงานวิจัยเรื่องไม้ไผ่ได้เริ่มอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2526 ค่ะ เมื่อศูนย์พัฒนาการวิจัยระหว่างประเทศ แห่งประเทศแคนนาดา  ได้สนับสนุนงบประมาณวิจัยให้แก่นักวิจัยของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยของกองบำรุง กรมป่าไม้ เป็นเวลา 3 ปี โดยมีข่ายงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางเมล็ดไผ่  การบำรุงไผ่  การสร้างสวนรวมพันธุ์ไผ่และการทดลองปลูกสร้างสวนไผ่ไปด้วย
คุณผู้ฟังค่ะ เมื่อโครงการระยะแรกได้สิ้นสุดลง รัฐบาลแคนนาดาได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการวิจัยในโครงการระยะที่ 2 อีก 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 – 2532 โดยทำการขยายข่ายงานวิจัยให้เป็นแบบครบวงจร คือ ได้ทำการดำเนินกิจกรรมต่อจากการวิจัยระยะที่ 1 และเพิ่มข่ายงานวิจัยทางด้านเทคนิคการขยายพันธุ์ การผลิตและการตลาดของสินค้าไม้ไผ่ และการส่งเสริมเผยแพร่เข้าไว้ในโครงการด้วยค่ะ  คุณผู้ฟังงานวิจัยและพัฒนาไม้ไผ่มีอยู่หลายโครงการด้วยกันค่ะ แต่จะเป็นโครงการใดบ้างและมีเนื้อหาสาระอย่างไรนั้น ติดตามรับฟังในช่วงหน้านะค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาอีกช่วงหนึ่งแล้วนะค่ะคุณผู้ฟังหลังจากที่เมื่อช่วงที่แล้ว ดิฉันบอกข้อมูลคราวๆ ถึงความเป็นมาของโครงการงานวิจัยและพัฒนาไม้ไผ่ของ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยโครงการงานวิจัยและพัฒนาไม้ไผ่ที่ว่านี้ ประกอบอยู่อีกหลายโครงการด้วยกันนะค่ะ อย่างเช่น โครงการเทคโนโลยีทางเมล็ดไผ่ ไผ่ชนิดสำคัญในประเทศไทย เช่น ไผ่บง ไผ่ชางและไผ่รวก ซึ่งจะออกดอกแบบประปรายครั้งละเพียงไม่กี่กอในเนื้อที่ขนาดเล็ก ไผ่จะออกดอกและผลิตเมล็ดระหว่างช่วง เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนเมษายน ค่ะ ขนาดและน้ำหนักและเมล็ดไผ่จะมีความแปรผันสูง เมล็ดของไผ่ชนิดเดียวกันแต่ต่างถิ่นกันก็จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดและน้ำหนักได้ และเมล็ดขนาดใหญ่จะมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงกว่าเมล็ดขนาดเล็ก การประเมินการงอกของเมล็ดโดยใช้รังสีเอกซ์ก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งนะค่ะ การงอกของเล็ดมีความสัมพันธ์สูงกับความชื่นของเมล็ด ดังนั้นระดับความชื่นที่เหมาะสมของเมล็ดก็ควรที่จะได้รับการเก็บรักษาไว้ จากการศึกษาพบว่ามีเชื้อราอยู่หลายชนิดในเมล็ดไม้ไผ่ พวกเชื้อราเหล่านี้จะเข้าไปทำลายเมล็ดที่เก็บรักษาไว้ ภายหลังการหว่านเมล็ดในการเพาะชำและขณะที่เมล็ดกำลังงอก  ดังนั้นการขยายพันธุ์ไผ่โดยใช้เมล็ดจะต้องใช้เทคนิคต่างๆ ในการกำจัดและป้องกันเชื้อราเหล่านี้ด้วยค่ะ
โครงการปลูกบำรุงไม้ไผ่ การวิจัยและพัฒนาทางด้านการปลูกบำรุงไม้ไผ่ จะประกอบไปด้วยการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับการใส่ปุ๋ยไม้ไผ่ในป่าธรรมชาติ การใส่ปุ๋ยไผ่ในสวนป่า และใช่วิธีการตัดฟันไม้ไผ่  การทดลองใส่ปุ๋ยไผ่ในธรรมชาติทำในป่าไผ่ผาก ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผลที่ได้จากการใส่ปุ๋ย  N P K และผสม N-P-K 3 ระดับ เป็นประจำทุกปีเป็นระยะเวลา 3 ปี ผลที่ได้จากการใส่ปุ๋ยสรุปว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระดับ 16 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นการเพียงพอแก่การเพิ่มผลผลิตลำของไผ่ผากในป่าธรรมชาติได้อย่างดี และเมื่อทำการทดลองในสวนผาก ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ผลการทดลองแสดงว่าปุ๋ยสูตร 15-15-15 มีผลที่สำคัญต่อผลผลิตของสวนไผ่รวกและควรใส่ปุ๋ยสูตรนี้ อยู่ที่ระดับ 16 กิโลกรัมต่อไร่

การทดลองเกี่ยวกับวิธีการตัดฟันไม้ไผ่ ทำในป่าไผ่ผากอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผลการทดลองชี้ให้เห็นเห็นว่าการตัดลำไม้ไผ่ทุกลำออกหมดจำทำให้ไผ่กอนั้นตายไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งวิธีการตัดลำที่เหมาะสมนั้น ก็คือ วิธีการเลือกตัดโดยเฉพาะลำที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปนะค่ะ
โครงการสร้างสวนรวมพันธุ์ไผ่ คุณผู้ฟังค่ะ ในประเทศไทยมีสวนรวมพันธุ์ไผ่กว่า 30 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ สวนรวมพันธุ์ไผ่เหล่านี้สร้างและดูแลรักษาโดยกรมทางหลวงนั่นเองค่ะ  การปลูกไผ่ในสวนรวมพันธุ์ไผ่เหล่านี้ไม่ได้ยึดถือหลักทางพฤกษศาสตร์อย่างเคร่งครัดมากนัก โดยโครงการวิจัยและพัฒนาไม้ไผ่ได้สร้างสวนรวมพันธุ์ไผ่ไว้ 3 สวนในระยะแรกของโครงการที่สวนพฤกษศาสตร์แม่ลา จังหวัดเชียงใหม่ สถานีวิจัยหินลับ จังหวัดกาญจนบุรี และสถานีวิจัยสงขลา จังหวัดสงขลา สวนรวมพันธุ์ไผ่แต่ละแห่งมีขนาด 20 ไร่ ปลูกไผ่ 20 ชนิด ชนิดละ 1 ไร่ โดยใช้ระยะปลูก 8×8  เมตรสำหรับไผ่ขนาดใหญ่ และ 4×4 เมตรสำหรับไผ่ขนาดเล็กไผ่ในสวนรวมพันธุ์ไผ่ทั้ง 3 แห่งมีการเจริญเติบโตได้ดี และคาดว่าในอนาคตจะกลายเป็นแหล่งศึกษาเรื่องไม้ไผ่ได้เป็นอย่างดีต่อไปค่ะ คุณผู้ฟังค่ะ เพียงแค่ 3 โครงการที่ดิฉันได้พูดถึงไปนั้นต่างก็เป็นโครงการดีๆที่จะเป็นการอนุรักษ์และยังสามารถที่จะพัฒนาไม้ไผ่เอาไว้ในอนาคตได้ แต่โครงการดีๆก็ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นนะค่ะ เพราะว่ายังมีอีก 1 โครงการดีๆ แต่เราจะกลับมาฟังกันต่อในช่วงหน้าค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังค่ะ  เมื่อช่วงที่แล้วดิฉันได้พูดถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และพัฒนาไม้ไผ่ไปแล้วทั้งหมด 3 โครงการด้วยกันนะค่ะ แต่ว่ายังเหลืออีกหนึ่งโครงการนะค่ะ นั่นก็คือ โครงการปลูกสร้างสวนไผ่  ค่ะ  ซึ่งในระยะแรกของโครงการนี้ ก็ได้มีการทดลองปลูกสร้างสวนไผ่ไว้ด้วยกัน 4 แห่ง  แห่งละ 50 ไร่ นั่นก็คือ สวนพฤกษศาสตร์แม่สา จังหวัดเชียงใหม่ , สถานีวิจัยหินลับ จังหวัดกาญจนบุรี , สถานีวิจัยดงลาน จังหวัดขอนแก่น และสถานีวิจัยสงขลา แต่ละแห่งปลูกไป 3-8 ชนิด คือ ที่สวนพฤกษศาสตร์แม่สา ปลูกไผ่ป่า ไผ่ชางและไผ่ดง ที่สถานีวิจัยหินลับปลูกไผ่ป่า ไผ่หวานและไผ่ตง ที่สถานีวิจัยดงลานปลูกไผ่ตง ไผ่ชาง ไผ่หวาน และไผ่รวก ที่สถานีวิจัยสงขลาปลูก ไผ่จีน ไผ่ผ่า ไผ่สีสุก ไผ่ตง ไผ่บงใหญ่ ไผ่ไร่และไผ่รวกนั่นเองค่ะ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ได้ปลูกสร้างสวนไผ่เหล่านี้ ก็ได้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของไผ่ในสวน คือ ความโต ความสูง จำนวนลำ ซึ่งในช่วงนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่แน่นอนจากข้อมูลที่เก็บในแต่ละปีและคงต้องทำการเก็บข้อมูลไปจนกว่าจะหมดโครงการระยะที่ 2 เลยล่ะค่ะ  คุณผู้ฟังค่ะในช่วงเริ่มแรกของระยะที่ 2 ของโครงการ ก็ได้มีการปลูกสร้างสวนไผ่เพิ่มอีก 2 แห่งด้วยกันค่ะ คือ ที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ขนาด 50 ไร่ และได้ทำการขยายสวนไผ่ที่ดงลาน จังหวัดขอนแก่นไปอีก 50 ไร่ โดยปลูกไผ่ 4 ชนิด คือ ไผ่ตง ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยงและไผ่รวกนั่นเองค่ะ คุณผู้ฟังค่ะสวนไผ่เหล่านี้นอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกสร้างสวนไผ่แล้ว ก็ยังเป็นแปลงสาธิตสำหรับนักวิชาการ ประชาชนและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการปลูกสร้างสวนไผ่อีกด้วยค่ะ
ส่วนในด้านเศรษฐกิจของการผลิตและการตลาดสินค้าไม้ไผ่นั่น จากการสำรวจพบว่าจังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่ ที่สามารถเป็นแหล่งทรัพยากรไม้ไผ่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอไทรโยค ทองผาภูมิ และศรีสวัสดิ์  และเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม้ไผ่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางราชการได้ประกาศให้ไม้ไผ่ 12 ชนิดในท้องที่ทั้ง 3 อำเภอ ดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ด้วยค่ะ
คุณผู้ฟังค่ะ แต่ละปีไม้ไผ่กว่า 20 ล้านลำถูกตัดฟันออกจากป่าในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี ไม้ไผ่เหล่านี้ถูกส่งไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ ทั้งในท้องที่และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แม้กระทั่งเป็นไม้ไผ่ส่งออกต่างประเทศในลักษณะของลำไผ่ ที่ใช้ทำไม้ค้ำต้นองุ่นในยุโรป ไม้ไผ่ทำโครงว่าวในปากีสถาน หรือไม้ไผ่อัดที่ส่งไปขายทั่วโลก ไม้ไผ่ที่ตัดออกจากป่านี้นอกจากจะมีมูลค่าในตัวของมันเองแล้วนะค่ะ มันก็ยังสามารถเปลี่ยนเป็นแหล่งของการจ้างแรงงานอย่างกว้างขวางอีกด้วย  นับตั้งแต่ผู้มีอาชีพตัดไม้ทำลายป่า ผู้มีอาชีพจักรสาน ตลอดจนผู้ใช้แรงงานในการผลิตสินค้าไม้ไผ่เพื่อการส่งออก รายได้อันเกิดจากการจ้างแรงงานดังกล่าวนั้น  นับว่ามีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของไม้ไผ่ที่ตัดฟันออกจากป่ามากมายนัก และที่สำคัญก็คือการก่อให้เกิดการกระจายรายได้ในที่สุดค่ะ เดี๋ยวเราพักกันสักครู่แล้วกลับมาติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับไม้ไผ่กันต่อในช่วงหน้า  รับรองว่าไม้ไผ่ยังมีอะไรดีที่สนใจอีกมากมายเลยล่ะค่ะ ….

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังค่ะ นอกจากลำไม้ไผ่แล้ว ในส่วนของหน่อไม้ก็เป็นผลผลิตที่สำคัญของไม้ไผ่นะค่ะ คุณผู้ฟังหลายท่านอาจจะชื่นชอบในรสชาติหวานๆ ของไม้ไผ่ ซึ่งดิฉันก็เช่นกันค่ะ  ในช่วงฤดูฝนที่ยังไม่มีรายได้จากพืชเกษตรอื่นๆ ที่ปลูกไว้ หน่อไม้นอกจากจะเป็นอาหารในครัวเรือนแล้ว ก็ยังมีการนำมาแปรรูปได้หลายชนิด อย่างเช่น การทำหน่อไม้ดอง หน่อไม้อัดปีบ หน่อไม้แห้ง เพื่อขายให้กับตลาดภายในและส่งเป็นสินค้าส่งออก  ในช่วงกลางฤดูฝนจะมีการตัดหน่อไม้ในท้องที่อำเภอไทรโยคและอำเภอทองผาภูมิ ประมาณถึงวันละ  100  ตัน  คนหนึ่งจะตัดหน่อไม้ได้วันละประมาณวันละ  50  กิโลกรัม  โดยประมาณว่าในแต่ละวันจะมีผู้ตัดหน่อไม้ประมาณ 2,000  คน รายได้ประมาณคนละ 100 บาท ต่อวัน ผู้ตัดหน่อไม้จำนวนไม่น้อยจะมาจากต่างถิ่นจังหวัดไกลๆ เพื่อเข้ามาหารายได้จากการตัดหน่อไม้ในช่วงฤดูฝน  หน่อไม้นอกจากจะบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในลักษณะของหน่อไม้บรรจุปีบและกระป๋องประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็จะเป็นหน่อไม้สดแช่เย็นและหน่อไม้แห้ง โดยคิดเป็นมูลค่าถึง 173.65  ล้านบาท  คุณผู้ฟังค่ะ หน่อไม้บรรจุกระป๋องและปีบส่วนมากกผลิตจากหน่อไม้ตงในจังหวัดปราจีนบุรี เพราะเนื่องจาก พื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรีมีสวนไผ่ตงอยู่ถึง 30,000 ไร่ และได้ผลผลิตของหน่อไม้มากถึง 40,000 ตัน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกประเภทหน่อไม้บรรจุปีบและกระป๋องมีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และถ้าในอนาคตได้มีการจัดการด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว  ผลิตภัณฑ์ประเภทจะนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาอีกไม่น้อยเลยล่ะค่ะ
คุณผู้ฟังค่ะนอกจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสวนไผ่ตงแล้วยังมีการตัดหน่อไม้เพื่อการค้าในท้องที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ตาก ลำปาง อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ และจังหวัดอื่นๆ ที่ยังมีทรัพยากรป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์  และยังมีผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่เพื่อการส่งออกอีกประเภทหนึ่ง คือ ไม้ไผ่อัด ซึ่งมีโรงงานอยู่ 2 แห่ง คือ ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน  ซึ่งแต่ละแห่งนั้นจะสามารถผลิตไม้ไผ่อัดขนาด 1.20 x 2.40 เมตร ได้เดือนละประมาณ 20,000 แผ่น ไม้ไผ่อัดเหล่านี้ส่วนมากเป็นสินค้าส่งออกไปสู่ตลาดในยุโรปและอเมริกาเหนือ  ในประเทศไทยนอกจากจะใช้การตกแต่งภายในอาคารบ้านเรือนแล้ว  ยังใช้เป็นไม้แบบก่อสร้างซึ่งมีอายุใช้งานยาวนานกว่าไม้ นอกเหนือจากมูลค่าในการส่งออกแล้ว อุตสาหกรรมไม้ไผ่อัด ยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในชนบท  โดยการที่ชาวบ้านใช้เวลาว่างจากงานเกษตร มาทำอาชีพเสริมอย่างเช่นการสานเสื่อไม้ไผ่ส่งโรงงานเพื่อนำไปอัดเป็นแผ่นไม้ไผ่อัดต่อไป … สำหรับช่วงนี้เดี๋ยวเราพักกันสักครู่ค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังค่ะ ในปัจจุบันไม้ไผ่ถูกนำมาใช้ทำเครื่องจักรสานซึ่งนอกจากจะใช้กันในครัวเรือนแล้ว ยังเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดรายได้ของชาวชนบท อีกทั้งก็ยังเป็นการสืบทอดศิลปะพื้นบ้านของแต่ละแห่งในทางอ้อมอีกด้วย ไม้ไผทางภาคเหนือได้ถูกนำมาใช้ในการทำเครื่องจักรสาน เครื่องมือเครื่องใช้ และก่อสร้างบ้านเรือนกันอย่างกว้างขว้าง และผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ของที่ระลึกในรูปแบบต่างๆ เครื่องเขินไปจนถึงไม้ไผ่อัด  ไม้ไผ่ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงอันสำคัญของบรรดาโรงงานเครื่องเคลือบดินเผาในจังหวัดลำปาง อันเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งค่ะ
เครื่องจักรสานไม้ไผ่ในภาคอีสานนับว่าเป็นศิลปะพื้นบ้านที่สืบกันมาเป็นเวลาช้านานแทบทุกจังหวัดมีเครื่องจักรสานไม้ไผ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์จักรสานเหล่านี้นอกจากจะทำไว้ใช้กันเองในครัวเรือนแล้ว ยังเป็นสินค้าที่เกิดจากแรงงานของสมาชิกในครัวเรือนตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดรายได้เสริมแก่ครอบครัวในชนบท  ในส่วนของลำไม้ไผ่เลี้ยงในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดยโสธรถูกส่งไปยังจังหวัดปราจีนบุรีปีละนับแสนลำ  เพื่อนำมาแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ออกไปขายทั่วประเทศและยิ่งในปัจจุบันนี้  เฟอร์นิเจอร์ที่นำส่วนประกอบจากธรรมชาติมาใช้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากแถมยังขายได้ราคาสูงในตลาดต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ไผ่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจและสังคมต่อชาวอีสานเพียงใดนั้นดูได้จากการที่ไผ่เป็นพืชที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกันอย่างกว้างขวางในโครงการอีสานเขียว
ในภาคกลางนั้น  ไผ่เกี่ยวข้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวชนบทอย่างแน่นแฟ้น  การใช้ประโยชน์จากหน่อไม้และไม้ไผ่มีมูลค่ามหาศาลยากที่จะคำนวณเป็นตัวเงินที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรสานไม้ไผ่ในจักรสานไม้ไผ่ในจังหวัดชลบุรีที่ส่งขายไปทั่วประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ หรือแม้แต่ราวตากยางแผ่นในจังหวัดทางภาคใต้ก็ล้วนแต่เป็นผลิตผลของธรรมชาติ
คุณผู้ฟังค่ะ ไผ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่คนไทยนำมาใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง  ทั้งหน่อไม้และส่วนของลำไผ่  ไม่มีใครสามารถคำนวณปริมาณและมูลค่าการผลิตที่แท้จริงของหน่อไม้และลำไผ่ที่ตัดออกจากป่าในแต่ละปี  แต่ก็มีสิ่งที่น่าวิตกก็คือ  การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ก็ทำให้ปริมาณของทรัพยากรไม้ไผ่ลดลง  การตัดทั้งหน่อและลำโดยมิได้คำนึงผลผลิตในระยะยาว  จนทำให้ทรัพยากรไม้ไผ่เสื่อมโทรมลง ประกอบกับการขยายตัวของตลาดทำให้มีผู้สนใจที่จะปลูกไผ่และลงทุนในอุตสาหกรรมการใช้ประโยชน์จากไผ่มากขึ้น และวิทยาการทางด้านทรัพยากรไม้ไผ่ยังมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมการสร้างและการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่มากเท่าไหร่ ฉะนั้นการที่จะทำให้เรา ยังได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติสิ่งที่สำคัญก็คงจะไม่ใช่เพียงแค่การคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้รูปแบบที่สวยงามเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่ควรที่จะกลับมาคิดว่าควรที่จะปลูกทดแทนอีกเท่าไหร่ถึงจะชดเชยกับความต้องการของมนุษย์ที่มีมากขึ้นทุกวันมากกว่า …
สัปดาห์หน้า ดิฉัน จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆมาฝาก คุณผู้ฟังอีก  อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ได้ในวัน เวลาเดียวกันนี้
หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้  ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วค่ะ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ…….