รายการวิทยุ เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 4

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.
ออกอากาศวันเสาร์ที่ 18 เดือนเมษายน พ.ศ. 2558
เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 4
ในเรื่องย่อย การเกิดมลพิษจากปุ๋ยและการป้องกัน
บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา
…………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมี กระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่าน กระผม ………………………ผู้ดำเนินรายการ และก่อนอื่นเลยกระผมขอสวัสดีปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ขอให้คุณผู้ฟังมีความสุขกับครอบครัว คนที่กลับบ้านตามภูมิลำเนาก็ขอให้เดินทางปลอดภัยนะครับ และวันนี้กระผมมีผลงานวิจัยที่เป็นความรู้ในเรื่องของปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมาฝากครับ เป็นผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ท่านเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคปฐพีวิทยา คณะเกษตร มก. ประธานสภาข้าราชการ มก. รองอธิการบดี มก. และอุปนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 11 หลังเกษียณอายุราชการจึงได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ และกับการวิจัยในครั้งนี้ ท่านจึงได้ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลผลการวิจัยในเรื่อง “ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม” และเป็นตอนที่ 4 การเกิดมลพิษจากปุ๋ยและการป้องกัน

คุณผู้ฟังครับ แม้ว่าปุ๋ยจะมีประโยชน์ในการช่วยรักษาความสามารถของดินในการให้ผลผลิตพืช เพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพของพืช และปรับปรุงสมบัติของดิน แต่ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋นอินทรีย์ต่างก็อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย ซึ่งการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเกิดมลพิษหรือลดการเกิดมลพิษ ดังนั้นนะครับ ก่อนใช้ปุ๋ยควรทราบบทบาทของปุ๋ยในการทำให้เกิดมลพิษ และทราบว่ามีอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดมลพิษจากปุ๋ยมากน้อยต่างกันอย่างไร เรามาฟังว่าบทบาทในการทำให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดมลพิษจากปุ๋ยและการป้องกันกันในช่วงหน้านะครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่ครับ

-เพลงคั่นรายการ-

บทบาทในการทำให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดมลพิษจากปุ๋ยและการป้องกัน ซึ่งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีในดินให้แก่พืชอาจจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแดวล้อมได้ 4 ทางด้วยกันครับนั่นคือ

  1. การสะสมธาตุโลหะหนัก และสารพิษอื่นๆในดิน
  2. การก่อให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำ
  3. การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากดินและ
  4. การสะสมไนเตรทในพืช

มาฟังข้อแรกกันก่อนนะครับ การสะสมธาตุโลหะหนักและสารพิษอื่นๆในดิน ธาตุโลหะหนัก คือธาตุโลหะที่มีน้ำหนักต่อปริมาตรสูง นั่นก็คือในปริมาตรหนึ่งลูกบาศก์เซนติเมตร มีน้ำหนักตั้งแต่ 5.0 กรัมขึ้นไป เริ่มเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ที่ความเข้มข้นต่ำ ตัวอย่างได้แก่ จำพวกปรอท แคดเมียม อาร์เซนิค โครเมียม ธาลเลียม ตะกั่ว ทองแดง เซเรเนียม และสังกะสี และโลหะหนักบางธาตุอย่างเช่นพวก ทองแดง เซเรเนียมและสังกะสีเป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับมนุษย์แต่ร่างการมนุษย์ต้องการเพียงเล็กน้อย และหากได้รับมากเกินไปจะเป็นพิษ คุณผู้ฟังครับธาตุโลหะหนักนี้เราต้องให้ความสนใจเพราะนอกจากจะเริ่มเป็นพิษที่ความเข้มข้นต่ำแล้ว เมื่อธาตุเหล่านี้ผ่านเข้าไปในร่างกายก็จะเก็บกักไว้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กำจัดออกจากร่างกาย ทำให้มีการสะสมไว้ในร่างกายนั่นเองครับ

คุณผู้ฟังครับ ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์บางกรณีที่ทีธาตุโลหะหนักและสารพิษอื่นๆติดมาในปริมาณที่สูง หากนำปุ๋ยที่มีสารเหล่านี้ใส่ลงไปในดินช้ำๆกันจำทำให้มีกี่สะสมสารพิษจนถึงระดับที่พืชดูดเข้าไปมากจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อคนหรือสัตวที่กินพืชนั้น อย่างปุ๋ยฟอสฟอรัสปกติผลิตจากหิบนฟอสเฟต ซึ่งหินชนิดนี้จากบางแห่งจะมีธาตุโลหะหนัก โดยเฉพาะธาตุแคดเมียมและปรอทเจือปนอยู่มาก ส่วนปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทสเซียมปกติจะไม่มีธาตุโลหะหนักเจือปน และต่อกันที่ปุ๋ยอินทรีย์จากบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะกอนน้ำเสียจากชุมชนและผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม อาจมีธาตุแคดเมียมและปรอทเจือปนอยู่ในปริมาณที่มาก หรือจะเป็นปุ๋ยหมักที่มาจากขยะที่ไม่มีการแยกขยะที่มีโลหะหนักและสารพิษออกด้วยวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้อง คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า ปุ๋ยหมักที่ทำจากพืชที่ปลูกในบริเวณที่มีธาตุโลหะหนักสูง เช่น บริเวณเหมืองแร่เก่า และแหล่งรวมน้ำเสีย อาจจะมีธาตุแคดเมียม ธาตุปรอท และสารพิษอื่นๆเจือปนในปริมาณสูง มูลไก่อาจมีธาตุอาร์เซนิคเพราะอาร์เซนิคเป็นส่วนประกอบของสารเร่งการเจริญเติบโตบางชนิดสำหรับไก่ ธาตุเหล่าแหละครับที่เป็นพิษต่อคนและสัตว์หากได้รับมากเกินไป นอกจากนั้นมูลสัตว์อาจมีธาตุโซเดียมเจือปนอยู่ด้วย เช่น สุกรซึ่งมีการล้างพื้นคอกด้วยโซดาไฟซึ่งเป็นสารประโซเดียม เมื่อเรานำมูลสุกรดังกล่าวมาทำปุ๋ยจะทำให้ดินมีการสะสมโซเดียมซึ่งเป็นธาตุที่ทำให้เกิดดินเสียได้ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้ามาฟังการป้องกันปัญหาการปนเปื้อนธาตุโลหะหนักและสารพิษอื่นๆกันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

มาฟังแนวทางการป้องกันปัญหาการปนเปื้อนธาตุโลหะหนักและสารพิษอื่นๆในพืชซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ และป้องกันการสะสมธาตุที่ทำให้ดินเสีย คือการเลือกใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีปราศจากสารพิษ ในกรณีดินที่มีธาตุโลหะหนักในปริมาณที่สูงอยู่แล้วอาจป้องกันพืชที่ดูดธาตุเหล่านี้เข้าไปมากโดยการปรับปฏิกิริยาดินให้มีความเป็นกรดน้อยลง ซึ่งจะทำให้ธาตุเหล่านี้ละลายออกมาให้พืชดูดได้น้อยลง ในด้านการคัดเลือกปุ๋ยให้ปลอดภัยจากสารพิษ รัฐบาลไทยได้มีการตรวจสอบธาตุโลหะหนักและสารพิษในปุ๋ยเคมีก่อนการขึ้นทะเบียนอนุญาตให้จำหน่ายอยู่แล้ว จึงนับได้ว่าปุ๋ยเคมีที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายนั้นมีความปลอดภัยจากธาตุโลหะหนักและสารพิษครับคุณผู้ฟัง

การก่อให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำ ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เมื่อใส่ลงไปในดินให้แก่พืชอาจจะก่อให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำได้ 2 ทาง คือการทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย เนื่องจากการเพิ่มธาตุอาหารในน้ำ และการชะล้างไนเตรทลงสู่น้ำใต้ดิน คือ การทำให้น้ำในแหล่งน้ำเน่าเสีย หากเป็นการน้ำธาตุอาหารพืชลงสู่แหล่งน้ำมากเกินไป ทั้งนี้เพราะธาตุอาหารพืชที่ถูกพาลงไปในน้ำจะทำให้สาหร่ายขนาดเล็กที่แขวนลอยอยู่และพืชน้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อมีแสงที่เพียงพอ และเมื่อพืชน้ำเหล่านี้เจริญเติบโบมากขึ้นทำให้บดบังแสงแดดทำให้ไม่สามารถส่องถึงได้ และเกิดการเน่าเปื่อยในที่สุด ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า ยูโธรฟิเคชัน นั่นเองครับ

-เพลงคั่นรายการ-

การชะล้างไนเตรทลงสู่น้ำใต้ดิน ซึ่งอันตรายจากไนเตรทเป็นอนุมูลเคมีที่ประกอบด้วยไนโตรเจนและออกซิเจน เป็นสิ่งที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์หากได้รับมากเกินไปอันตรายจากไนเตรทมีดังต่อไปนี้ครับ

  • ทำให้ทารกเป็นโรคขาดออกซิเจน เพราะหากทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนได้รับไนเตรทเข้าไปในระบบการย่อยอาหารมากจนเกินไปจะทำให้เป็นโรคเมธีโมโกลบินีเมีย
  • ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาอาหารของคน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป
  • ทำให้เกิดโรคขาดออกซิเจนในสัตว์ จำพวกสัตว์เคี่ยวเอื้อง เช่น วัว คลาย และแกะ และยังมีสัตว์กระเพาะเดี่ยวที่ยังมีอายุน้อยๆ เช่นลูกสุกร และลูกไก่

แนวทางสำคัญในการลดการชะล้างไนเตรทจากดิน ได้แก่การลดปริมาณน้ำที่ซึมผ่านดิน ซึ่งอาจทำให้โดยหลีกเลี่ยงการให้น้ำแก่พืชมากจนเกินความสามารถของดินที่จะอุ้มน้ำเอาไว้ และปรับพื้นที่ให้น้ำฝนบนผิวดินไหลสู่ทางระบายน้ำได้รวดเร็ว และให้ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น และให้ตรงกับเวลาที่พืชต้องงการ ใช้ปุ๋ยโดยวิธีที่จะช่วยให้พืชดูดปุ๋ยไปใช้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยถูกพืชดูดไปก่อนที่จะถูกน้ำชะล้างไปจากดิน

การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากดิน ก่อนอื่นนะครับ ก๊าซเรือนกระจก ก็คือ ก๊าซที่ทำให้เกิดอิทธิพลเรือนกระจก คือปรากฎการณ์ที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากบรรยากาศที่ห่อหุ้มผิวโลกเก็บกักพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้าฟังเรื่องการสะสมไนเตรทในพืช

-เพลงคั่นรายการ-

การสะสมไนเตรทในพืช เนื่องจากพืชที่มีการสะสมไนเตรทในปริมาณที่สูงอาจจะก่อให้เกิดปัญหา ความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ ส่วนใหญ่ของไนโตรเจนที่พืชดูดจากดินเป็นไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียม และในรูปไนเตรท ในสภาพน้ำขัง ดินนาน้ำขัง ไนโตรเจนที่พืชดูด ส่วนใหญ่จะเป็นไนโตรเจนในรูแอมโมเนียเพราะดินน้ำขังขาดก๊าซออกซิเจนทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเปลี่ยนไนโตรเจนเป็นสารไนเตรทได้ ส่วนในสภาพดินที่ไม่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นสภาพดินที่ปลูกพืชบกโดยทั่วไป ไนโตรเจนที่พืชดูดจาดดินส่วนใหญ่จะเป็นไนโตรเจนในรูปไนเตรท เพราะในสภาพที่ดินไม่มีน้ำขังเป็นสภาพมีก๊าซออกซิเจนในดินทำให้จุลินทรีย์เปลี่ยนแอมโนเนียเป็นไนเตรทอย่างรวดเร็วเมื่อมีแอมโมเนียเกิดขึ้นในดินครับ และสภาพแวดล้อมที่นอกเหนือไปจากดินที่พบบ่อยๆว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมไนเตรทที่สูงในพืชในต่างประเทศได้แก่ สภาพที่แห้งแล้งที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญเติบโตของพืชอุณหภูมิของอากาศที่สูงหรือต่ำเกินไปและสภาพที่มีแสงแดดน้อย เช่น สภาพที่มีเมฆหมอกและควันมาก และสภาพที่พืชถูกบังแสงแดด

 แนวทางการป้องกันการสะสมไนเตรทในพืช

  1. พืชอาหารสัตว์ ที่ปลูกโดยการใช้ปุ๋ยในอัตราที่สูงมีแนวโน้มที่จะสะสมไนเตรทสูง ปัญหานี้จะพบกับดินที่ใส่มูลสัตว์ปีกและมูลปศุสัตว์อัตราสูง และจะแนะนำว่าควรใส่ปุ๋ยเคมีตามอัตราที่แนะนำจะทำให้ไม่เกิดปัญหานี้ครับ
  2. สิ่งที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของพืชและปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ความสามารถในการสังเคราะห์แสงของพืชลดลงและส่งเสริมให้มีการสะสมไนเตรทในปริมาณที่สูงจนเกินไป

สุดท้ายนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป เกษตรกรและนักวิชาการ ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับผลของปุ๋ยแต่ละชนิดในแง่ของการเกษตรและแง่ของสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าควรจะใช้ปุ๋ยชนิดใดจึงจะเหมาะสมทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตพืชและในแง่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

คุณผู้ฟังครับ สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ