รายการวิทยุ เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 3/อำนาจ สุวรรณฤทธิ์

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ที่ 11 เดือนเมษายน พ.ศ. 2558
เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 3
ในเรื่องย่อย ประสิทธิภาพของปุ๋ยชนิดต่างๆ
บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมี กระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่าน กระผม ………………………ผู้ดำเนินรายการ และก่อนอื่นเลยกระผมขอสวัสดีปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ขอให้คุณผู้ฟังมีความสุขกับครอบครัว คนที่กลับบ้านตามภูมิลำเนาก็ขอให้เดินทางปลอดภัยนะครับ และวันนี้กระผมมีผลงานวิจัยที่เป็นความรู้ในเรื่องของปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมาฝากครับ เป็นผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ท่านเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคปฐพีวิทยา คณะเกษตร มก. ประธานสภาข้าราชการ มก. รองอธิการบดี มก. และอุปนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 11 หลังเกษียณอายุราชการจึงได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ และกับการวิจัยในครั้งนี้ ท่านจึงได้ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลผลการวิจัยในเรื่อง “ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม” และเป็นตอนที่ 3 ในเรื่องประสิทธิภาพของปุ๋ยชนิดต่างๆ

คุณผู้ฟังครับ หากเราต้องการเพิ่มผลผลิตพืชชนิดเดียวกันที่ปลูกในดินเดียวกันในปริมาณที่เท่ากัน แต่ใช้ปุ๋ยต่างชนิดกัน จะพบว่าเราจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยแต่ละชนิดในปริมาณที่ไม่เท่ากัน หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งให้เข้าใจง่ายๆว่า ปุ๋ยในแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตที่ไม่เท่ากันนั่นเอง  นอกจากนั้นนะครับปุ๋ยที่ต่างชนิดกันมักมีราคาต่อหน่วยไม่เท่ากัน  ความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพของปุ๋ยและราคาต่อหน่วยของปุ๋ยอาจมีผลเป็นอย่างมากกับจำนวนเงินกำไรที่จะได้จากการใช้ปุ๋ย ตัวอย่างเช่น หากปุ๋ย ก. จำนวน 100 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตเมล็ดข้าวโพดได้ 600 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งคิดเป็นเมล็ดข้าวโพดที่เพิ่มเป็น 1,200 บาท แต่ปุ๋ย ข. จำนวน 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากัน สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดได้ 700 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าข้าวโพดที่เพิ่มมา 1,400 บาท หากปุ๋ย ก. และปุ๋ย ข. จำนวน 100 กิโลกรัมมีราคา 1,000 บาทเท่ากัน การใช้ปุ๋ย ข. ก็จะให้กำไรมากกว่าปุ๋ย ก. แต่ถ้าหากปุ๋ย ก. มีราคา 1,000 บาทต่อปุ๋ย 100 กิโลกรัม และปุ๋ย ข. มีราคา 1,400 บาทต่อปุ๋ย 100 กิโลกรัม การใช้ปุ่ย ก. ก็จะได้กำไรมากกว่าการใช้ปุ๋ย ข. นั่นเอง คุณผู้ฟังครับ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาในการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยจะเสนอประสิทธิภาพของปุ๋ยจากผลการค้นคว้าวิจัยที่ทำในประเทศไทย โดยอาศัยปุ๋นเคมีเป็นปุ๋ยหลักในการเปรียบเทียบครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 กลับมาฟังกันต่อนะครับ ปุ๋ยประเภทแรกที่กระผมจะพูดคือ ปุ๋ยพืชสด และมาฟังประสิทธิภาพของปุ๋ยพืชสดกันนะครับว่าเป็นอย่างไร

ปุ๋ยพืชสด คือปุ๋ยที่ได้จากการปลูกพืชแล้วไถกลบลงไปในดิน เพื่อให้มวลของพืชที่ไถกลบนั้นทำหน้าที่เป็นปุ๋ยนั่นเองครับ มวลของพืชที่ไถกลบนั้นจะเน่าเปื่อยทำให้ธาตุอาหารพืชในมวลของพืช ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปอินทรีย์สารและพืชก็จะดูดไม่ได้จึงถูกเปลี่ยนเป็นธาตุอาหารในรูปที่พืชดูดได้ พืชที่ใช้ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดจะนิยมใช้เป็นพืชตระกูลถั่ว เพราะพืชตระกูลถั่วมีปริมาณไนโตรเจนต่อหน่วยน้ำหนักมวลพืชแห้งสูงกว่าพืชที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว  เมื่อไถกลบพืชตระกูลถั่วลงไปในดินจะมีไนโตรเจนในซากพืชเหลือจากที่จุลินทรีย์ต้องใช้ในการสร้างเนื้อหนังของมันและถูกปลดปล่อยในรูปไนโตรเจนที่พืชนำไปใช้ได้ แต่เมื่อเราไถกลบพืชที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่วลงไปในดิน ไนโตรเจนในซากพืชนั้นมีไม่พอกับการต้องการจุลินทรีย์ในการสร้างเนื้อหนังของมัน และจุลินทรีย์ก็ต้องดูดไนโตรเจนที่มีอยู่แต่เดิมในดินไปใช้ในการสร้างเนื้อหนังของมันด้วย ซึ่งนั่นเองจะมีผลต่อการแย่งไนโตรเจนระหว่างพืชที่ปลูกหลังการไถกลบพืชปุ๋ยสดกับจุลินทรีย์ที่เข้าไปย่อยสลายซากพืชนั้น พืชตระกูลถั่วต่างชนิดกันสามารถสร้างน้ำหนักแห้งในการปลูกแต่ละฤดูปลูกได้มากน้อยแตกต่างกัน นอกจากนั้นพืชตระกูลถั่วแต่ละชนิดยังมีปริมาณไนโตรเจนต่อหน่วยน้ำหนักแห้งที่ไม่เท่ากัน และการปลูกพืชตระกูลถั่วในแต่ละสภาพแวดล้อมยังทำให้พืชมีน้ำหนักมวลต่อไร่ และปริมาณไนโตรเจนในมวลของพืชที่ได้แตกต่างกัน ทำให้ปุ๋ยพืชสดจากถั่วต่างชนิดกันและปลูกในสภาพที่แตกต่างกันมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตของพืชที่ได้รับปุ๋ยพืชสดนั้นแตกต่างกันครับ ช่วงนี้พักกันก่อน ช่วงหน้ามาฟังประสิทธิภาพของตอซังพืชที่นำมาไถกลบ

-เพลงคั่นรายการ-

ประสิทธิภาพของตอซังที่นำมาพืชไถกลบ ตอซัง คือส่วนของพืชที่เหลืออยู่ในพื้นที่ปลูกพืชหลังจากเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีปลูกข้าวโพด เมื่อเก็บฝักข้าวโพดไปแล้วสิ่งที่เหลืออยู่ในแปลงซึ่งประกบด้วยลำต้น ใบ ดอกตัวผู้ และเปลือกฝักรวมเรียกว่าตอซังข้าวโพด คุณผู้ฟังครับ ตอซังพืชอาจนำไปใช้เป็นวัตุดิบในการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นการทำให้ตอซังเน่าเปื่อยลงจนมีลักษณะคล้ายดิน อย่างไรก็ตามหากไถกลบตอซังพืชลงไปในดินจะมีผลที่คล้ายคลึงกับการใส่ปุ๋ยหมัก นอกจากนั้นการไกลบตอซังจะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการนำเอาซากพืชไปหมักเพราะไปต้องเสียค่าแรงงานในการตัด รวบรวม และขนส่งตอซังเพื่อนำไปกองทำปุ๋ยหมัก ซึ่งตรงนี้แหละครับเป็นข้อดีในการลดต้นทุนของเกษตรกรได้

มาต่อกันที่ ประสิทธิภาพของปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพที่ได้มีการศึกษาวิจัยถึงขั้นที่สามารถใช้ผลการวิจัย เพื่อประเมินประสิทธิภาพของปุ๋ยได้ในปัจจุบันได้แก่ ไรโซเบียม แหนแดง สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่อย่างอิสระ และเชื้อราเอไมคอร์ไรซา

มาฟังตัวแรกกันก่อนครับ นั่นคือ ไรโซเบียม เป็นแบคทีเรียที่อาศัยในปมที่รากพืชตระกูลถั่วและทำการตรึงไนโตรเจนร่วมร่วมกับพืชตระกูลถั่วให้กับพืชตระกูลถั่วจะสามารถช่วนเพิ่มผลผลิตของถั่วได้มากน้อยเพียงขึ้นอยู่กับปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชซึ่งรวมถึง ปริมาณไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชที่มีอยู่ในดิน ปริมาณธาตุอาหารที่นอกเหนือไปจากไนโตรเจนในดิน และปริมาณของไรโซเบียมที่มีอยู่แล้วในดิน

แหนแดง เป็นเฟิร์นที่เจริญเติบโตลอยอยู่บนผิวน้ำสามารถตรึงไนโตรเจนได้โดยการตรึงร่วมกันกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ในโพรงใต้ใบของแหนแดง จึงได้นำแหนแดงมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้กับข้าวที่ปลูกในนาน้ำขังเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดิน โดยปลูกแหนแดงก่อนการปลูกข้าวแล้วก็ไถกลบแหนแดงในช่วงเตรียมดินเพื่อปลูกข้าว เมื่อแหนแดงเน่าเปื่อยลงก็จะปลดปล่อยไนโตรเจนและธาตุอาหารอื่นๆ ออกมาในรูปสารอนินทรีย์ให้แก่ข้าวเปรียบเทียบได้กับการปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นปุ๋ยพืชสดสำหรับพืชดินดอน

สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่อย่างอิสระ หลายชนิดในสกุลต่างๆสามารถตรึงไนโตรเจนได้ทำให้ได้รับความสนใจทำการวิจัยเพื่อนำมาปลูกในระบบการปลูกพืชเพื่อเพิ่มไรโตรเจนให้แก่พืชที่ปลูก ประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตพืชของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของสาหร่ายเอง เพราะสาหร่ายที่ต่างสายพันธุ์กันแม้จะขึ้นอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันจะเจริญเติบโตได้มากน้อยต่างกันและมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนได้มากน้อยต่างกัน นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับดิน สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับดินที่สำคัญได้แก่ปริมาณไนโตรเจนในดิน และปริมาณธาตุอาหารอื่นๆในดิน ผลของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับดินต่อการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายเป็นไปในทำนองเดียวกับกรณีแหนแดงที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่อย่างอิสระมักขึ้นได้ดีในน้ำหรือบนผิวดินที่แฉะสามารถเพิ่มผลผลิตของพืชที่ปลูกโดยมันปลดปล่อยไนโตรเจนที่ตรึงได้ส่วนหนึ่งออกมาจากตัวมันทำให้พืชที่ปลูกได้รับไนโตรเจนมากขึ้นครับ

เชื้อราเอไมคอร์ไรซาจะช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชได้มากน้อยเพียงใดนอกจากจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของราเอไมอคร์ไรซาเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชอื่นๆบทบาทหลักของราเอไมคอร์ไรซาในการช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชคือ การช่วยให้พืชดูดธาตุอาหารโดยเฉพาะฟอวฟอรัสได้มากขึ้น การทำให้พืชทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทนแล้ง ทนเค็ม ทนโรคบางชนิด และทนต่อความหนาวมากขึ้น ผลงานวิจัยได้แสดงว่า หากดินมีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในปริมาณสูงจะทำให้ราเอไมคอร์ไรซาเพิ่มผลผลิตของพืชได้น้อยลง ช่วงนี้พักกันก่อน ช่วงหน้ามาฟังประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพกันครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 ประสิทธิภาพของน้ำหมักชีวภาพ เป็นสารที่เกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตพืช โดยมีแนวคิดที่จะนำมาใช้เพื่อแทนหรือลดปริมาณปุ๋ยเคมีที่จะต้องใช้ในการผลิตพืช น้ำหมักชีภาพมีปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำเกินที่จะใช้เป็นปุ๋ยหรือสารที่ให้อาหารพืชแทนปุ๋ยทางดิน เพราะจะต้องใช้เป็นจำนวนมากจึงจะให้ธาตุอาหารได้มากเท่ากับธาตุอาหารที่ให้ในรูปปุ๋ยทางดินกันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามตามน้ำหมักชีวภาพมีสารอื่นๆที่สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่สำคัญทำให้เห็นข้อดีของน้ำหมักชีวภาพในเกษตรกรบางรายแต่ไม่พบผลที่ชัดเจนในบางราย

มาต่อกันกับประสิทธิภาพของสารอีเอ็ม ซึ่งสารอีเอ็มเป็นสารหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและนักวิชาการบางท่านแนะนำให้เกษตรกรได้ใช้ในการเพิ่มผลผลิตพืช วิธีหนึ่งที่ผู้ผลิตสารนี้แนะนำให้ใช้ในการเพิ่มผลผลิตพืช โดยการใช้สารอีเอ็มผสมน้ำราดลงไปในดินที่ใช้ปลูกพืช โดยอ้างว่าสารนี้ประกอบด้วยจุลินทรีย์ชนิดต่างๆมากมายครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่ ช่วงหน้ากลับมาฟัง ประสิทธิภาพของปุ๋ยทางใบ กันนะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 ประสิทธิภาพของปุ๋ยทางใบ ปุ๋ยที่ผสมน้ำพ่นไปบนใบและส่วนต่างๆที่อยู่เหนือดินของพืช เพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืช เราจะเรียกว่า “ปุ๋ยทางใบ” ปุ๋ยทางใบมีข้อดี คือให้ธาตุอาหารแก่พืชได้เร็วเพราะพืชจะสามารถดูเข้าไปใช้ในส่วน่างๆของพืชได้ในระยะเวลาอันสั้นหลังจากให้ปุ๋ยนั้น ซึ่งผิดกับการให้ปุ๋ยทางดิน ซึ่งแน่นอนปุ๋ยจะต้องซึมเข้าไปหารากหรือรากพืชที่จะงอกไปหาปุ๋ย และเมื่อรากพืชดูดไปแล้วธาตุอาหารจะต้องเคลื่อนย้ายไปในส่วนต่างๆของพืชทำให้กินเวลานานกว่าที่ปุ๋ยที่ให้ทางดินจะไปถึงส่วยต่างๆของพืช แต่การให้ปุ๋ยทางใบก็มีข้อเสียที่สำคัญอยู่เหมือนกันคือ การให้ปุ๋ยแต่ละครั้งทำให้ช่วยเพิ่มธาตุอาหารแก่พืชได้น้อย ทั้งนี้เพราะการให้ปุ๋ยทางใบนั้นจะต้องผสมปุ๋ยกับน้ำนั่นคือการใส่ปุ๋ยที่น้อยลง เพราะถ้าเราใส่ปุ๋ยไปมากก็จะทำให้ใบของพืชเกิดอาการใบไหม้ได้ครับ หากต้องการใส่ปุ๋ยทางใบให้เพียงพอต่อความต้องการของพืชนั้นก้ให้ใส่หลายๆครั้งจะเป็นการดีกว่าครับ แต่ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยที่มากกว่าการใส่ปุ๋ยทางดินนั้นเองหล่ะครับคุณผู้ฟัง

สุดท้ายนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป เกษตรกรและนักวิชาการ ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับผลของปุ๋ยแต่ละชนิดในแง่ของการเกษตรและแง่ของสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าควรจะใช้ปุ๋ยชนิดใดจึงจะเหมาะสมทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตพืชและในแง่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

คุณผู้ฟังครับ สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ