การใช้สารไคโตซานร่วมกับสารควบคุมการเจริญเติบโตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การเพาะเลี้ยงข้าวขาวดอกมะลิ 105

            “ข้าว” เป็นธัญญาหารหลักของชาวโลก จัดเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับหญ้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพ ข้าวนอกจากจะเป็นอาหารหลักของคนไทยแล้วยังเป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญ จากข้อมูลปี 2552 ประเทศไทยส่งออกข้าว 8.5 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 4,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังพบปัญหาชาวนาขาดทุนจากการปลูกข้าวทุกปีอย่างต่อเนื่อง

            คุณสุลักษณ์ แจ่มจำรัส เจ้าหน้าที่วิจัย ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาการใช้สารไคโตซานร่วมกับสารควบคุมการเจริญเติบโตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตต้นกล้าที่แข็งแรงมีคุณภาพและขนาดสม่ำเสมอ

            ผลการทดลองพบว่า การเพาะเลี้ยงข้าวขาวหอมมะลิ ด้วยการฟอกฆ่าเชื้อ ด้วยสารละลายคลอร็อกซ์ที่มีความเข้มข้น 15%(v/v) และ 7.5%(v/v) นาน 10 และ 5 นาที ตามลำดับ เก็บไว้ในที่มืด 2 วัน เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารสูตร MS พบว่ามีเปอร์เซ็นต์การงอก 81.2% และเปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนเชื้อ 14.5% เมื่อนำต้นกล้า อายุ 3 สัปดาห์ มาตัดยอดให้มีความยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร แล้วเพาะเลี้ยงในสูตรอาหารเพื่อชักนำให้เกิดต้น พบว่า สูตรอาหาร MS ที่มี TDZ 2 มิลลิกรัม/ลิตร  ร่วมกับไคโตซาน 20 มิลลิกรัม/ลิตร มีการแตกกอดีที่สุด เฉลี่ยสูงสุด 8.83 ต้น/กอ

image001

ก) เมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อ (ข) เมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อเก็บไว้ในที่มืดเป็นเวลา 2 วัน (ค) ต้นกล้าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพาะเลี้ยงในสูตรอาหาร MS เก็บไว้ในที่มืด 1 สัปดาห์ (ง) ต้นกล้าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพาะเลี้ยงในสูตรอาหาร MS เป็นเวลา 2 สัปดาห์

 

            สารไคโตซานเป็นสารที่สามารถใช้กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ใช้เคลือบเมล็ดพืช ใบไม้ ผลไม้และพืชผักส่งออก และสามารถกระตุ้นให้พืชต้านทานเชื้อราและไวรัสได้ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการสร้างคลอโรฟิลล์ทำให้ใบพืชมีสีเขียว พืชแข็งแรง
โตไว เช่นเดียวกับ สารควบคุมการเจริญเติบโต ซึ่งสามารถชักนำให้เกิดการเพิ่มจำนวนยอดจากเนื้อเยื่อเจริญของพืชได้ สารทั้งสองชนิดสามารถนำมาปรับใช้กับพืชได้หลากหลายชนิด แต่การนำมาประยุกต์ใช้ ต้องนำมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงจะช่วยให้เกิดประสิทธิผลในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้เป็นอย่างดี

            สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสุลักษณ์ แจ่มจำรัส เจ้าหน้าที่วิจัย ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง  คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศตร์ โทรศัพท์ 034-351399

ที่มา :  คุณสุลักษณ์ แจ่มจำรัส  Tel. 034-351399 

เรื่องโดย   : ณัฐพร พันธุ์ยาง

rdinpp@ku.ac.th

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สวพ.มก.

โทร. 02-561 1474