สารสกัดจากใบเลี่ยนกำจัดหนอนกระทู้หอม

หนอนกระทู้หอมเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งที่พบแพร่ระบาดไปทั่วโลก ด้วยแมลงชนิดนี้สามารถปรับตัวให้สามารถกินอาหารได้หลายชนิด เข้าทำลายทั้งพืชผัก พืชไร่ และไม้ดอก รวมทั้งมีความสามารถในการพัฒนาตนเองให้ต้านทานสารฆ่าแมลงอีกด้วย การพัฒนาตัวเองให้ต้านทานต่อสารฆ่าแมลง เกิดจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดอย่างต่อเนื่องและเกินความจำเป็น และแมลงมีวงจรชีวิตสั้น กินอาหารได้หลายชนิด หลบเลี่ยงการรับสารเคมีโดยตรงได้ จึงทำให้ตัวที่รอดชีวิตต้านทานสารเคมีชนิดนั้น ส่งผลเป็นย้อนกลับมาให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของเกษตรกร และสารตกค้างผลผลิตที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคตามมา ดังนั้นการใช้สารสกัดจากธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกในการลดใช้สารเคมี ด้วยข้อดีที่ว่าสารสกัดจากธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้เอง จึงไม่ตกค้างเป็นเวลานาน

gb-2003-4-7-221-1

ภาพที่ 1 หนอนกระทู้หอม

ที่มา http://genomebiology.com/2003/4/7/221/figure/F1

ผศ.ดร.วสกร บัลลังก์โพธิ์ และ รศ.ดร. สุรพล วิเศษสรรค์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมนิสิตของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสารทางชีวภาพเพื่อควบคุมศัตรูพืชและสัตว์ และพิษวิทยานิเวศ (Biopesticides and Ecotoxicology Speciality Research Unit: BESRU) ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาหาสารสกัดจากพืชที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนกระทู้หอม พบว่าสารสกัดจากใบเลี่ยนซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ตระกูลเดียวกันกับสะเดา มีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่จะทำลายพิษ และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งกระแสประสาท  ขณะที่สารสกัดจากใบเลี่ยนไม่มีผลต่อสัตว์ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และแมลงเบียนซึ่งเป็นแมลงที่มีประโยชน์ จากงานวิจัยนี้จะสามารถพัฒนาสารสกัดจากใบเลี่ยน เพื่อใช้ในแปลงเกษตรกรต่อไปได้ นำไปสู่เกษตรทางเลือกที่ปลอดภัยทั้ง สิ่งแวดล้อม เกษตรกร และผู้บริโภค ท่านใดสนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ อ.วสกร บัลลังก์โพธิ์ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 025625555  e-mail: fscivkb@ku.ac.th

4516ic1

ภาพที่ 2 ต้นเลี่ยน

ที่มา http://florabase.dec.wa.gov.au/browse/profile/4516

 

 

ที่มา :  อ.วสกร บัลลังก์โพธิ์ ภาควิชาสัตววิทยา

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทรศัพท์ 025625555  e-mail: fscivkb@ku.ac.th 

เรื่องโดย   : วิทวัส ยุทธโกศา

rdiwwy@ku.ac.th

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สวพ.มก.

โทร. 02-561 1474