รายการวิทยุ เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบระบบการเพาะพันธุ์ปลานิล/เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 27  เดือน ตุลาคม  พ.ศ. 2555

เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบระบบการเพาะพันธุ์ปลานิล

 บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………

 -เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

 สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ วันนี้เรามารู้จักกับปลาชนิดหนึ่งกันนะครับ กระผมคิดว่าคุณผู้ฟังต้องรู้จักปลาชนิดนี้แน่นอนครับ และอาจจะเป็นเมนูโปรดของคุณผู้ฟังก็เป็นได้ครับ  ปลาที่กระผมจะพูดในวันนี้ก็คือปลานิลนั่นเองครับคุณผู้ฟัง ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี จึงทำให้มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงปลานิลเพศผู้ล้วนซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2549 มีผลผลิตปลานิลทั้งประเทศทั้งสิ้น 205,326 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของมูลค่าของผลผลิตสัตว์น้ำจืดทั้งหมด แค่นี้คุณผู้ฟังก็คงรู้แล้วว่าปลานิลคือปลาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่งครับ  และคาดว่าจะมีความต้องการผลผลิตจากปลานิลเพิ่มขึ้นอย่างต่อแน่นอนครับคุณผู้ฟัง

ทั้งนี้เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ทำให้มีการขยายตัวในการเลี้ยงปลานิลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันครับ ดังนั้นความต้องการลูกปลานิลโดยเฉพาะลูกปลานิลเพศผู้ล้วนจึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่เพาะพันธุ์ง่ายสามารถทำการเพาะพันธุ์ได้ในที่กักขังต่าง ๆ กัน เช่น เพาะพันธุ์ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ หรือในกระชังแขวนลอยในบ่อดิน จากความแตกต่างของที่กักขังดังกล่าวเป็นไปได้ว่าอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสืบพันธุ์วางไข่ของพ่อแม่พันธุ์ และท้ายที่สุดต่อผลผลิตไข่ และอัตรารอดของลูกปลานิลได้ครับ มีรายงานว่าการเพาะพันธุ์ปลานิลในบ่อซีเมนต์ และในกระชังทำให้พ่อแม่ปลานิลได้รับบาดเจ็บได้ง่ายขณะรวบรวมเพื่อเก็บไข่ในทุก ๆ สัปดาห์ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ปลาเกิดความเครียด และมีผลต่อศักยภาพของกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ความดกไข่ การผสมพันธุ์วางไข่ และอัตราฟักของไข่และคุณภาพของลูกปลาได้ในที่สุด ครับคุณผู้ฟัง

ในการศึกษาในครั้งนี้มีคณะผู้วิจัยคือ นายเรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ นายประพันธ์ศักดิ์ ศรีษะภูมิ นายสุบรรณ เสถียรจิตร และนายฉัตรชัย ไทยทุ่งฉิน ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อที่จะสืบสวนเปรียบเทียบการเพาะพันธุ์ปลานิล 3 ระบบ คือ การเพาะพันธุ์ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และในกระชังแขวนลอยในบ่อดิน ที่มีต่อผลผลิต กำลังผลิตของไข่ อัตรารอดของลูกปลานิลระยะถุงไข่แดงยุบ และฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ ช่วงนี้พักกันสักครู่นะครับคุณผู้ฟัง

 -เพลงคั่นรายการ-

 กลับมาฟังกันต่อนะครับ วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด เพื่อเปรียบเทียบการเพาะพันธุ์ปลานิล 3 ระบบ ได้แก่ การเพาะพันธุ์ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังแขวนลอยในบ่อดิน เพื่อการผลิตลูกปลานิลเพศผู้เชิงพาณิชย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุดการทดลองครับ

การเตรียมการทดลอง มีดังนี้ครับ

  1. การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลานิล

ใช้พ่อแม่ปลานิล อายุประมาณ 5 เดือน น้ำหนักตัวเฉลี่ยเริ่มต้น 100-50 กรัม เลี้ยงปรับสภาพแบบแยกเพศในกระชังมุ้งเขียว ขนาด 5 ม.x10 ม.x1.5 ม. แขวนลอยในบ่อดิน 800 ตารางเมตร ที่ความลึก 1.2 ม. ที่ความหนาแน่น 10 ตัว/ตารางเมตร เป็นระยะเวลา 1 เดือน ให้อาหารเม็ดลอยน้ำ ให้กินวันละ 1 มื้อ เวลา 15.00-16.00 น. อัตรา 1 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ปรับอาหารที่ให้ทุกสัปดาห์ และเปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละครั้ง ๆ ละ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาตรน้ำในบ่อ และให้อากาศในบ่อพ่อแม่พันธุ์ในเวลากลางคืนด้วยเครื่องให้อากาศแบบปั๊มลมครับคุณผู้ฟัง

  1. การเตรียมระบบเพาะพันธุ์

ในชุดการทดลองที่ 1 ได้เตรียมบ่อดินทดลองขนาดบ่อละ 5 ม. X 5 ม. X 1.5 ม. โดยใช้กระเบื้องลอนคู่แบ่งกั้นในบ่อดินขนาด 800 ตารางเมตรออกเป็น 4 บ่อ ส่วนในชุดการทดลองที่ 2 ทำการทดลองในบ่อซีเมนต์ขนาด 5 ม. X 5 ม. X 1.0 ม. ที่อยู่กลางแจ้ง จำนวน 4 บ่อ และในชุดการทดลองที่ 3 ใช้กระชังมุ้งเขียว  ขนาด 5 ม. X 5 ม. X 1.2 ม. จำนวน 4 กระชัง แขวนลอยในบ่อดินที่ใช้เป็นบ่อเดียวกันกับชุดการทดลองที่ 1 โดยทุกชุดการทดลองจะรักษาระดับความลึกของน้ำไว้ที่ 80 เซนติเมตร ส่วนความลึกของน้ำในบ่อดินจะควบคุมไว้ที่ความลึก 1.2 เมตร และในทุกชุดการทดลองใช้สแลนสีดำกางคลุมบ่อทดลองโดยให้อยู่สูงจากบ่อประมาณ 2-3 เมตร เพื่อลดความเข้มของแสงแดดได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ครับ

 คุณผู้ฟังครับเรามาดำเนินการทดลองและเก็บข้อมูลกันนะครับ

จะปล่อยพ่อแม่ปลานิลที่ความหนาแน่น 6 ตัวต่อตารางเมตร ที่สัดส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียเท่ากับ 1:1 หรือที่ 3 คู่ ต่อตารางเมตร หรือจำนวน 75 คู่ สุ่มพ่อแม่ปลามาชั่งน้ำหนักและวัดความยาวตัวตามมาตรฐานเริ่มต้นจำนวน 50 คู่ ปล่อยพ่อแม่ปลาลงบ่อโดยวิธีจับสลากแบบสุ่ม และเลี้ยงพ่อแม่ปลาในระหว่างการทดลองโดยให้อาหารเม็ดลอยน้ำที่ใช้เลี้ยงปรับสภาพพ่อแม่พันธุ์ก่อนการทดลองในอัตราให้ที่เท่าเดิมวันละ 1 มื้อ เวลาบ่าย 15.00-16.00 น. และปรับอาหารที่ให้ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นทำการตรวจสอบการวางไข่ของแม่ปลาทุก ๆ 7 วัน โดยใช้อวนมุ้งเขียว ลากรวบรวมปลาของระบบเพาะพันธุ์ ในบ่อดินและในบ่อซีเมนต์ แม่ปลาที่วางไข่จะดูจากการอมไข่ไว้ในปาก ไข่ที่รวบรวมจากแม่ปลาแต่ละตัวนำมาจำแนกระยะพัฒนาของไข่และตัวอ่อนของลูกปลานิล ที่ได้จำแนกระยะพัฒนาของไข่และตัวอ่อนของลูกปลานิลออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้ครับคุณผู้ฟัง

ไข่ระยะที่ 1 (undeveloped egg) หมายถึง ไข่ที่ยังไม่ปรากฏพัฒนาการใด ๆ ให้เห็น ไข่จะมีสีเหลืองตลอดทั้งฟอง

ไข่ระยะที่ 2 (eyed egg) หมายถึง ไข่ที่มีการพัฒนาจนสังเกตเห็นจุดสีดำเกิดขึ้นบริเวณรอบ ๆ ไข่ และสังเกตเห็นการพัฒนาของตา (eyed) เป็นจุดสีดำ ๆ 2 จุด ชัดเจน สีของไข่เป็นสีเหลือง 

ไข่ระยะที่ 3 หมายถึงไข่ที่มีการพัฒนาจนสังเกตส่วนตาและหางชัดเจนพันอยู่รอบไข่ สีของไข่จะเป็นสีน้ำตาลและยังไม่มีการเคลื่อนไหว หรือเรียกว่า ระยะ Pre-hatched หรือ head-tail egg

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เป็นตัวอ่อนของลูกปลาแรกฟักออกเป็นตัวแล้วแต่ถุงไข่แดงยังยุบไม่หมด เริ่มขยับตัวได้

ระยะที่ 5 เป็นระยะตัวอ่อนของลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวและถุงไข่แดงยุบหมดแล้ว สามารถว่ายน้ำได้

 คุณผู้ฟังครับ ในแต่ละสัปดาห์จะทำการชั่งน้ำหนักแม่ปลาและความยาวตัวมาตรฐานของแม่ปลาที่วางไข่แต่ละตัว ชั่งน้ำหนักของไข่และตัวอ่อนทั้งหมดที่ได้ในแต่ละระยะจากของแม่ปลาแต่ละตัว สุ่มไข่และตัวอ่อนที่ได้จำนวน 100 ฟอง นำไปชั่งน้ำหนักเพื่อหาขนาดไข่และตัวอ่อน ก่อนทำการชั่งน้ำหนักไข่และตัวอ่อนทุกครั้งได้ทำการซับน้ำที่ติดมากับไข่และตัวอ่อนออกให้ได้มากที่สุดนะครับ การชั่งน้ำหนักไข่และตัวอ่อนจะใช้วิธีชั่งน้ำหนักแบบเปียกโดยนำไข่และตัวอ่อนใส่ในภาชนะที่มีน้ำอยู่ จากนั้นทำการรวมไข่และตัวอ่อนที่มีระยะเดียวกัน เข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นจึงจะทำการสุ่มไข่และตัวอ่อนของแต่ละระยะจำนวน 100 ฟอง ไปฟักในกรวยฟักไข่โดยใช้ขวดพลาสติกน้ำดื่มขนาด 1 ลิตร ที่เตรียมไว้ เพื่อหาอัตรารอดของลูกปลาจนถึงระยะเริ่มกินอาหาร หรือถุงไข่แดงยุบ โดยทำการทดลองเพาะพันธุ์ทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ครับ และในระหว่างการทดลองจะควบคุมระดับน้ำในบ่อของทุกชุดการทดลองไว้ที่ความลึก 80 เซนติเมตร และเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก ๆ สัปดาห์ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาตรน้ำในบ่อ และทดแทนพ่อแม่ปลาในกรณีที่เกิดการตายหรือสูญหายในขณะรวบรวมเพื่อให้มีความหนาแน่นและคงอัตราส่วนเพศไว้ที่ 1:1 โดยใช้พ่อแม่ปลานิลที่ได้เลี้ยงสำรองไว้ครับ ช่วงนี้พักกันสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ การตรวจวัดระดับฮอร์โมนและคุณภาพน้ำเชื้อ

เก็บตัวอย่างน้ำเลือดจากพ่อแม่ปลาที่ได้จากการสุ่มจำนวนเพศละ 3 ตัว โดยแม่ปลาที่วางไข่เท่านั้นที่นำมาสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำเลือด เก็บตัวอย่างน้ำเลือดจำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เริ่มต้นการทดลองก่อนปล่อยพ่อแม่ปลาลงบ่อทดลอง และในระหว่างช่วงของการทดลอง คือ ครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ที่ 2 ครั้งที่ 3 ในสัปดาห์ที่ 5 และครั้งสุดท้ายในสัปดาห์ที่ 8 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการทดลอง การเก็บตัวอย่างน้ำเลือดโดยใช้เข็มฉีดยาดูดจากเส้นเลือดแดงบริเวณใต้แนวกระดูกสันหลังบริเวณคอดหาง ทิ้งไว้ให้เลือดแข็งตัวประมาณ 1-2 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ  20 องศาเซลเซียส ก่อนนำไปเข้าเครื่องเหวี่ยงโดยใช้ความเร็ว 3,000 รอบต่อนาที ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 15 นาที แล้วแยกน้ำส่วนใสข้างบน (Plasma serum) เก็บแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปวิเคราะห์หาปริมาณฮอร์โมนในน้ำเลือด ส่วนการประเมินคุณภาพน้ำเชื้อในพ่อปลานิล พร้อมกันกับการตรวจวัดฮอร์โมนในสัปดาห์เดียวกัน โดยใช้ตัวอย่างพ่อปลาที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำเลือด ซึ่งจำเป็นต้องฆ่าปลาเพื่อเก็บอัณฑะเพื่อนำมาย้อมสีอีโอซิน-นิโกรซิน (Eosin-Nigrosin) ของเซลล์สืบพันธุ์ โดยเชื้อตัวผู้ที่ตาย เซลล์จะดูดซับสีและทึบแสง ในขณะที่เชื้อตัวผู้ที่มีชีวิตจะไม่ดูดซับสี และได้มีการทดแทนพ่อปลาภายหลังการเก็บตัวอย่างเพื่อคงอัตราส่วนและความหนาแน่นตามแผนการทดลองครับคุณผู้ฟัง คุณผู้ฟังครับมาฟังผลที่ได้จากการทดลองกันนะครับ

 จากการทดลองเพาะพันธุ์ปลานิลทั้ง 3 ระบบ คือ ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังแขวนลอยในบ่อดิน และเก็บรวบรวมไข่สัปดาห์ละครั้งเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่ามีการวางไข่ ผลผลิตไข่ ที่ได้ทั้งหมด ผลผลิตไข่ที่ได้ต่อสัปดาห์ กำลังผลิตไข่ และความดกไข่  เปอร์เซ็นต์การวางไข่ ผลผลิตไข่ทั้งหมดและผลผลิตไข่ที่ได้ต่อสัปดาห์ของทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังแขวนลอยในบ่อดิน ตลอดการทดลอง พบว่ามีความแตกต่างกัน โดยระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีเปอร์เซ็นต์การวางไข่ ผลผลิตไข่ทั้งหมด และผลผลิตไข่เฉลี่ยที่ได้ต่อสัปดาห์สูงกว่าของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน และบ่อซีเมนต์  ขณะที่กำลังผลิตไข่ของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์และในบ่อดิน แต่กำลังผลิตไข่ของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดินและในบ่อซีเมนต์มีค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน ความดกไข่ของแม่ปลานิลของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงกว่าของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ แต่มีค่าใกล้เคียงกันกับของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน ครับคุณผู้ฟัง

คุณผู้ฟังครับ ระยะพัฒนาของไข่และตัวอ่อนของลูกปลานิลที่รวบรวมได้ทั้งหมดตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบไข่ระยะที่ 2 (eyed egg) และระยะที่ 3 (head-tail egg) เป็นส่วนใหญ่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันของทุกระบบเพาะพันธุ์ โดยมีไข่ทั้ง 2 ระยะรวมกันระหว่าง 70.8-78.6 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาได้แก่ ไข่ระยะที่ 1  และระยะที่ 4 ที่ลูกปลาแรกฟักออกเป็นตัว (hatchling) ขณะที่ได้ตัวอ่อนระยะที่ 5 (ระยะถุงไข่แดงยุบ) 3.9 เปอร์เซ็นต์ จากระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์เท่านั้น

ขนาดไข่ พบไข่ระยะที่ 1 (un-developed egg) ของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีขนาดไข่เฉลี่ยต่ำสุด แตกต่างกันกับขนาดไข่ที่ได้จากระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ แต่กลับมีขนาดไม่แตกต่างกันกับของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน

ในขณะเดียวกันพบว่าไข่ระยะที่ 2 (eyed egg) ระยะที่ 3 (head-tail egg) และระยะฟักออกเป็นตัว (ระยะที่ 4) (hatchling) ตลอดการทดลองของทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์มีขนาดเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกันครับ

อัตรารอดของลูกปลานิลจากการพัฒนาของไข่ระยะต่าง ๆ จนถึงระยะถุงไข่แดงยุบ (swim-up fry) ตลอดการเพาะพันธุ์เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ การประเมินคุณภาพน้ำเชื้อพบว่าอัตรารอดของสเปอร์มาโตซัวเริ่มต้นของ 3 ระบบเพาะพันธุ์ และตลอดการทดลองมีค่าเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามพบว่าอัตรารอดของสเปอร์มาโตซัวในสัปดาห์ที่ 5 ของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ อัตรารอดของสเปอร์มาโตซัวของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกันกับของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดินและบ่อซีเมนต์  โดยมีอัตรารอดของสเปอร์มาโตซัวในสัปดาห์ที่ 5 ส่วนอัตรารอดของสเปอร์มาโตซัวในสัปดาห์ที่ 2 และ 8 พบว่ามีค่าเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกันของทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์ครับคุณผู้ฟัง 

 

          คุณผู้ฟังครับ ระดับฮอร์โมน cortisol ในพ่อแม่ปลานิลเริ่มต้นในสัปดาห์ที่ 2, 5 และ 8 ของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังแขวนลอยในบ่อดิน ทดลองเพาะพันธุ์เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

ในพ่อปลานิลมีระดับฮอร์โมน cortisol เฉลี่ยเริ่มต้นของทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์เท่ากับ 413.04+192.69 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่ในสัปดาห์ที่ 2 ระดับฮอร์โมน cortisol ของพ่อปลานิลในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์และในบ่อดิน แต่ในสัปดาห์ที่ 5 ระดับฮอร์โมน cortisol ในพ่อปลานิลของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดินสูงกว่าของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดิน แต่มีค่าใกล้เคียงกันกับของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ และในสัปดาห์ที่ 8 มีระดับฮอร์โมน cortisol เฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกันของทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์ครับคุณผู้ฟัง

มาต่อกันด้วยผลของคุณภาพน้ำกันนะครับ     

ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในตอนเช้า 06.00-07.00 น. และในตอนบ่าย 15.00-16.00 น.ของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และในกระชังแขวนลอยในบ่อดิน ตลอดการทดลองพบว่ามีค่าเฉลี่ยแตกต่างกัน อุณหภูมิน้ำในตอนเช้า 06.00-07.00 น. และในตอนบ่าย 15.00-16.00 น. ตลอดการทดลองพบว่าระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำกว่าของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน และในกระชังแขวนลอยในบ่อดินครับ

 

การศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบเพาะพันธุ์ปลานิลในกระชังแขวนลอยในบ่อดินให้ผลต่อการวางไข่ ผลผลิตไข่ทั้งหมดที่ได้ ผลผลิตไข่ที่ได้ต่อสัปดาห์ และกำลังผลิตไข่ เฉลี่ยตลอดการทดลองสูงสุด รองลงมา คือ ระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ และบ่อดิน ตามลำดับ โดยระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีเปอร์เซ็นต์การวางไข่อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 จนถึงสัปดาห์สุดท้ายของการทดลอง ทั้งนี้การวางไข่ของระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์สุดท้ายของการทดลอง ผลจากการวางไข่เฉลี่ยสูงสุดของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินทำให้ได้ผลผลิตไข่ โดยให้ผลผลิตไข่ทั้งหมดเฉลี่ยสูงกว่าระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดินและบ่อซีเมนต์กว่าร้อยละ 81.7 และ 60.7 ตามลำดับครับ และมีกำลังผลิตไข่เฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 50+14 ฟอง/ตารางเมตร/วัน ในขณะที่ความดกไข่ของแม่ปลานิลของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 5 ฟอง/กรัมแม่ปลาที่วางไข่ รองลงมา ได้แก่ ระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน และบ่อซีเมนต์ ตามลำดับครับคุณผู้ฟัง ช่วงนี้พักกันสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

ระยะพัฒนาของไข่และตัวอ่อน ตลอดการทดลองพบว่า สัดส่วนของไข่และตัวอ่อนลูกปลานิลที่ได้ในแต่ละระยะมีค่าใกล้เคียงกันทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์ ส่วนตัวอ่อนระยะถุงไข่แดงยุบ (swim-up fry) รวบรวมได้จากระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์เท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าความถี่ในการวางไข่ของแม่ปลานิลของระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินที่สูงกว่าระบบอื่น ๆ เป็นผลทำให้ได้ไข่ที่มีขนาดไข่เล็กลง แต่ไม่มีผลต่อระยะพัฒนาของไข่และตัวอ่อนในระยะอื่น ๆ และเป็นที่สังเกตว่าขนาดไข่และตัวอ่อนที่ได้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามระยะการพัฒนา ขณะที่อัตรารอดของลูกปลานิลจากการพัฒนาการของไข่ระยะต่าง ๆ และตัวอ่อนแรกฟักจนถึงระยะถุงไข่แดงยุบ (swim-up fry) ตลอดการทดลองพบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน ของทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์

โดยไข่ระยะที่ 1 (un-developed egg) มีอัตรารอดเฉลี่ยต่ำสุด และเพิ่มสูงขึ้นเมื่อไข่มีระยะพัฒนาที่สูงขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอัตรารอดของลูกปลานิลทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์ จะเห็นได้ว่าเมื่อไข่มีพัฒนาการที่สูงกว่าระยะที่ 1 ขึ้นไปจะทำให้มีโอกาสเพิ่มอัตรารอดของลูกปลา ในทางกลับกัน ไข่ในระยะที่ 1 มีอัตรารอดต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นไข่ที่ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่บอกได้ว่าไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ประกอบกับมีระยะพัฒนาจนฟักออกเป็นตัวจนถึงระยะตัวอ่อนที่ถุงไข่แดงยุบที่ยาวนานกว่าในระยะอื่น ๆ ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไข่ในระยะนี้มีอัตรารอดที่ต่ำกว่าระยะอื่น ๆ  ทั้งนี้จะสังเกตได้จากการที่พบไข่ที่ไม่ฟักออกเป็นตัวเป็นจำนวนมากกว่าในระยะที่ 2 และ 3 ครับคุณผู้ฟัง ซึ่งมีพัฒนาการจนถึงระยะตัวอ่อนถุงไข่แดงยุบที่มีอัตรารอดที่ไม่แตกต่างกันทั้ง 3 ระบบเพาะพันธุ์ ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นไข่ที่ได้รับปฏิสนธิจากเชื้อตัวผู้แล้วและมีคุณภาพน้ำเชื้อในภาพรวมที่ไม่แตกต่างกัน จึงทำให้มีอัตราการปฏิสนธิ และอัตรารอดของตัวอ่อนจนถึงระยะถุงไข่แดงยุบที่ไม่แตกต่างกัน และเป็นที่สังเกตว่าระยะพัฒนาของไข่และตัวอ่อนที่สูงขึ้นมีแนวโน้มต่อการเพิ่มอัตรารอดของลูกปลานิลระยะถุงไข่แดงยุบอีกด้วยครับคุณผู้ฟัง

คุณผู้ฟังครับ เมื่อพิจารณาคุณภาพน้ำในแต่ละระบบเพาะพันธุ์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ระบบเพาะพันธุ์ส่งผลต่อคุณภาพน้ำและมีผลกระทบต่อการสืบพันธุ์วางไข่โดยตรงได้ โดยระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดินมีปริมาณออกซิเจนละลายในตอนเช้าและตอนบ่าย มีปริมาณที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทำให้มีเปอร์เซ็นต์การวางไข่ลดลง โดยทั่วไปปริมาณออกซิเจนละลายไม่ควรต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร และจะให้ผลผลิตที่ดีทั้งการเพาะพันธุ์และการเลี้ยงควรมีปริมาณออกซิเจนละลายไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ในขณะที่ระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์และในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีปริมาณออกซิเจนละลายเฉลี่ยสูงกว่าในระบบเพาะพันธุ์ในบ่อดิน

ทั้งนี้ระบบเพาะพันธุ์ในกระชังแขวนลอยในบ่อดินมีข้อได้เปรียบกว่าระบบเพาะพันธุ์อื่น ๆ ตรงที่มีปริมาตรน้ำที่มากกว่าเนื่องจากแขวนลอยกระชังในบ่อดินขนาด 800 ตารางเมตร ทำให้มีคุณภาพน้ำค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายที่ค่อนข้างสูงกว่าในระบบเพาะพันธุ์อื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณออกซิเจนละลายทั้งในระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์และในกระชังแขวนลอยในบ่อดินโดยเฉลี่ยก็ไม่สูงมากนัก และอาจมีผลทำให้มีการวางไข่ที่ไม่สูงมากด้วยเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์มีอุณหภูมิน้ำเฉลี่ยในตอนเช้าต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม และอาจมีผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ที่ลดลงของปลาได้ครับคุณผู้ฟัง

คุณผู้ฟังครับ จากผลการศึกษา สรุปได้ว่า ระบบเพาะพันธุ์ปลานิลในกระชังแขวนลอยในบ่อดิน อัตราปล่อยพ่อแม่ปลานิล 6 ตัวต่อตารางเมตร สัดส่วนเพศ 1:1 มีความเหมาะสมในการผลิตลูกปลานิลเชิงพาณิชย์มากที่สุด เพราะให้ผลผลิต และกำลังผลิตของลูกปลาสูงสุด สามารถลดผลกระทบที่มีต่อความเครียดและการสืบพันธุ์ของพ่อแม่ปลาได้ดี รองลงมาได้แก่ ระบบเพาะพันธุ์ในบ่อซีเมนต์ และบ่อดิน ตามลำดับครับ

ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาในครั้งนี้ ควรศึกษาหาวิธีการปรับปรุงระบบเพาะพันธุ์ปลานิลแขวนลอยในบ่อดิน หรือในระบบเพาะพันธุ์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการควบคุมสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำ เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น ปริมาณออกซิเจนที่ละลาย และอุณหภูมิของน้ำ ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ ในการจัดการพ่อแม่ปลา เช่น การพักพ่อแม่ปลาเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น เพื่อลดความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตให้สูงมากยิ่งขึ้นครับ หวังว่าคุณผู้ฟังคงได้ความรู้จากรูปแบบการเลี้ยงปลานิลทั้ง 3 แบบ กันนะครับ

สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ