รายการวิทยุ เรื่อง ประโยชน์ของการปลูกแฝกและการใช้ใบแฝกคลุมดินเพื่อปรับปรุงสภาพดิน

https://www.youtube.com/watch?v=X2MzUzdzdZU

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 7 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่อง ประโยชน์ของการปลูกแฝกและการใช้ใบแฝกคลุมดินเพื่อปรับปรุงสภาพดิน

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา 

 ………………………………………………………………………………………………………

 -เพลงประจำรายการ-

 สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก.แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมนายวิทวัส ยุทธโกศา และนางสาวกัญญารัตน์ สุวรรณทีป เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

 สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟัง วันนี้เราสองคนมีผลงานวิจัยดีๆมาฝากคุณผู้ฟังกันค่ะ เกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกค่ะ ก่อนที่จะพูดถึงงานวิจัย อยากจะให้คุณผู้ฟังรู้จักกับหญ้าแฝกกันก่อนนะคะว่า หญ้าแฝกคืออะไร ปลูกอย่างไร และทำไมต้องปลูก คุณวิทวัสและคุณผู้ฟังค่ะ หญ้าแฝกเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติค่ะ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ ๑๒ ชนิดด้วยกัน และสำรวจพบในประเทศไทย ๒ ชนิดค่ะ ชนิดแรกคือ กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ๒ ศรีลังกา สงขลา ๓ และพระราชทาน ฯลฯ และชนิดที่สองก็คือ กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ๑ นครสวรรค์ และเลย เป็นต้นค่ะ ลักษณะของหญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีข้อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก และมีดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมันค่ะ

วิธีการปลูกก็มีหลายแบบด้วยกันค่ะ เช่น การปลูกในลักษณะของระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ แบบสระน้ำปลูก 2 แถว แบบอ่างเก็บน้ำปลูก ๓ แถว แบบปลูกริมคลองส่งน้ำ ๑ แถว ห่างขอบคลองส่ง ๓๐ เซนติเมตร และยังมีแบบอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งไม่ว่าจะปลูกแบบไหนก็ตาม การปลูกหญ้าแฝกทุกครั้งจะต้องปลูกให้ต้นชิดติดกันเป็นแถวค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ เหตุผลที่ต้องมีการปลูกหญ้าแฝก เพราะเนื่องจากจากสภาพปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยค่ะ ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และบางพื้นที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงต้องมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งการใช้ระบบหญ้าแฝกจะช่วยลดต้นทุนในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินให้น้อยลง ขณะเดียวกันมีประสิทธิภาพในการดักตะกอนดิน ป้องกันดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลันได้ในระดับหนึ่ง และความคงทนสามารถอยู่ได้นานหลายปี พร้อมทั้งยังเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วยค่ะ ช่วงหน้าคุณวิทวัสจะมาพูดถึงการปลูกหญ้าแฝกในปัจจุบันกัน คุณผู้ฟังอย่างเพิ่งไปไหนนะคะ ช่วงนี้เราพักกันสักครู่ค่ะ

 -เพลงคั่นรายการ-

 กลับมาพบกันในช่วงที่สองของรายการครับ คุณผู้ฟังครับ ปัจจุบันหญ้าแฝกเป็นพืชที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากหลายประเทศในการใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพดินและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมในการปลูกอย่างแพร่หลายจากทางภาครัฐ ดังเห็นได้จากสถิติการปลูกกล้าแฝกเพื่อแจกจ่ายที่มีจำนวนรวมถึง 915 ล้านต้น ในระหว่างปี พ.ศ. 2536 ถึง 2545 ทั้งนี้เนื่องจากแฝกเป็นพืชที่สามารถขึ้นได้โดยทั่วไป มีลักษณะเป็นกอ ทรงพุ่มและใบยาว และรากสามารถหยั่งลึกในดินได้อย่างดี ซึ่งช่วยลดการพังทลายหน้าดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แฝกมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มและรักษาอินทรียวัตถุในดิน เช่น การเป็นพืชโตเร็วสามารถเพิ่มอินทรียวัตถุในดินผ่านทางรากและใบพืชในเวลาอันสั้น และระบบรากที่หนาแน่นและลึกของแฝกช่วยลดการสูญเสียหน้าดิน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของอินทรียวัตถุและยังสามารถเพิ่มอินทรียวัตถุในดินชั้นล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วยครับ การสะสมอินทรียวัตถุของแฝกอาจส่งผลต่อความชื้นและอุณหภูมิดิน ความหนาแน่นดิน และการซึมผ่านน้ำของดิน นอกจากนี้นะครับ ยังอาจเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสู่ดินเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วยครับ

 การใช้ระบบปลูกพืชแบบอนุรักษ์เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ลดการปลดปล่อยของก๊าซเรือนกระจกได้ โดยเป็นการใช้พื้นที่การเกษตรเพื่อเป็นแหล่งสะสมของคาร์บอน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพดีและต้นทุนต่ำครับ ซึ่งหญ้าแฝกเป็นพืชที่อาจจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้ดี ดังนั้น การปลูกหญ้าแฝกร่วมกับพืชไร่อาจเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการสะสมคาร์บอนผ่านการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินครับ และยังสามารถใช้การกักเก็บคาร์บอนสู่ดิน (soil carbon sequestration)  ได้อีกทางหนึ่ง โดยคาร์บอนอาจคงอยู่ในดินได้เป็นเวลาอันยาวนาน เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บคาร์บอนในพืชส่วนเหนือดินครับ

          คุณผู้ฟังทราบอย่างนี้แล้วก็เริ่มจะสนใจขึ้นมากันบ้างแล้วใช่ไหมครับ ผมมีงานวิจัยของคุณภัทรา เพ่งธรรมกีรติ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาฝากครับ ภายใต้ผลงานวิจัยชื่อว่า “ผลของการปลูกแฝกและการใช้ใบแฝกคลุมดินที่มีต่อสมบัติทางกายภาพ ผลผลิตมันสำปะหลัง และการกักเก็บคาร์บอนในดินทราย” ครับ

 คุณฟังทราบไหมครับว่า มันสำปะหลังนั้นนิยมปลูกเป็นแถวในลักษณะพืชเชิงเดี่ยว และอาจมีการปลูกร่วมกับพืชไร่ชนิดอื่นบ้าง เช่น ข้าวโพด ซึ่งการปลูกพืชในลักษณะนี้มักพบปัญหาการพังทลายหน้าดิน โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นที่มีปริมาณฝนมากเพียงพอจะเร่งการกัดเซาะหน้าดิน การจัดการพื้นที่เกษตรที่เหมาะสมจะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น การปลูกพืชแซม การลดการไถพรวนดิน การเติมวัสดุคลุมดิน เป็นต้น จากงานวิจัยในอดีตพบว่า การปลูกแฝกเป็นแถวแซมหรือตามแนวขอบของพื้นที่เพาะปลูกเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะแถวกอแฝกช่วยชะลอการไหลของน้ำ เป็นที่ดักตะกอน และยังช่วยเพิ่มการซึมผ่านของน้ำอีกด้วยครับ นอกจากนี้ร่มเงาของการปลูกพืชแซม (ข้าวโพด) ในเขตภูมิอากาศร้อน ช่วยปรับอุณหภูมิอากาศและดินในบริเวณพื้นที่เพาะปลูกและช่วยรักษาความชื้นในดิน ทำให้มีสภาวะที่ส่งเสริมการแตกหน่อของพืชที่ปลูกร่วม (มันฝรั่ง) โดยเฉพาะในช่วงแรกของการปลูกมันฝรั่ง ช่วงหน้าเราจะได้ทราบวิธีการทดลองกันครับ ช่วงนี้พักกันสักครู่ครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 กลับเข้าสู่รายการกันอีกครั้งนะคะ กับงานวิจัยของคุณภัทรา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปลูกแฝกและการใช้ใบแฝกคลุมดินที่มีต่อสมบัติทางกายภาพบางประการของดิน ผลผลิต และการกักเก็บคาร์บอนในดินของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อประเมินความสามารถของแฝกและใบแฝกในการปรับปรุงสภาพดิน โดยทำการศึกษาต่อเนื่องที่สถานีวิจัยเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2554 ตัวอย่างดินเริ่มต้นถูกเก็บก่อนเริ่มการเพาะปลูกในปีที่ 1 โดยเก็บดินที่ 2 ระดับความลึก  คือ 0-10 และ 10-30 ซม. จากผิวดิน เพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะดินเริ่มต้น ได้แก่ เนื้อดิน ความเป็นกรด-ด่าง ธาตุอาหารดิน อินทรียวัตถุในดิน ทำการวิเคราะห์โดยใช้วิธีมาตรฐานตาม Methods for Soil Analysis ของ Soil Science Society of America หรือวิธีการตามสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และเก็บข้อมูลน้ำฝนและอุณหภูมิอากาศจากสถานีตรวจวัดอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จ.ฉะเชิงเทรา

 แผนการทดลองเป็นแบบ randomized complete block design (RCBD) และมีจำนวน 4 ซ้ำ เลือกใช้มันสำปะหลัง (Manihot esculenta Crantz) พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 (KU50) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่ศึกษา และคัดเลือกขนาดท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง (ประมาณ 30 ซม.) และแฝกที่เลือกใช้ในงานวิจัย คือ แฝกหอม (Vetiveria zizanioides L. Nash) พันธุ์สุราษฎร์ธานี คัดเลือกกล้าแฝกที่มีขนาด ความสูง และจำนวนต้น/กอใกล้เคียงกัน เพื่อปลูกในพื้นที่ศึกษาที่มีขนาดแปลงย่อย 5 x 7 เมตร ทำการปลูกมันสำปะหลังในลักษณะแถว (row-crop system) โดยมีระยะห่างระหว่างท่อนพันธุ์และระหว่างแถว 1 เมตร (100 x 100 ซม.) และระยะห่างระหว่างแถวแฝก 2 เมตร แต่ละแปลงมีแถวของมันสำปะหลัง 4 แถว และตำรับ (treatment) ที่ศึกษาเป็น (1) แปลงที่มีเฉพาะมันสำปะหลังอย่างเดียว (C) (2) แปลงที่มีมันสำปะหลังปลูกสลับกับแฝก (CV) และ (3) แปลงที่มีมันสำปะหลังปลูกสลับกับแฝกและคลุมด้วยใบหญ้าแฝก (CVVL) (Figure 1) โดยแปลง CVVL ถูกคลุมด้วยใบแฝกในอัตรา 1.43 ตันต่อเฮกแตร์ ในตอนเริ่มต้นของงานศึกษา และสำหรับแปลง CV และ CVVL ภายหลังการปลูกในปีที่ 1 ทำการตัดใบแฝกเพื่อลดการใช้น้ำ โดยตัดก่อนการปลูกพืชรอบต่อไป และในปีที่ 2 ทำการตัดใบแฝกทุก 6 เดือนแทน เพื่อให้เหมาะสมกับการเติบโตของแฝก ทั้งนี้ ใบแฝกที่ตัดออกถูกใช้คลุมดินเฉพาะแปลง CVVL เท่านั้น ส่วนใบแฝกที่ตัดออกจากแปลง CV ถูกนำออกไปจากพื้นที่ศึกษา

 งานศึกษานี้เริ่มปลูกมันสำปะหลังช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ทั้งนี้ได้ทำการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 50 กก.ต่อไร่ โดยใส่ครั้งเดียวภายหลังการปลูกประมาณ 3 เดือน (กุมภาพันธ์หรือมีนาคม) โดยในช่วงแรกของงานศึกษา (ปีที่ 1) แปลงทดลองมีการให้น้ำเพื่อให้แฝกตั้งตัวในช่วงแรกของปลูก ทำการปลูกมันสำปะหลังซ้ำในแปลงทดลองเดิมสำหรับการทดลองในปีที่ 2 หลังจากนั้นทำการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ วัดความชื้นและอุณหภูมิดินในพื้นที่ เก็บเกี่ยวผลผลิตและวิเคราะห์พืชค่ะ ช่วงหน้าเรามาติดตามผลการทดลองกับคุณวิทวัทด้วยกันนะคะ ช่วงนี้พักสักครู่ค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

 กลับเข้าสู่รายการช่วงสุดท้ายกันแล้วนะคะคุณผู้ฟัง จากการศึกษาของคุณภัทราพบว่า แปลงที่ปลูกแฝกร่วม (CV) และแปลงที่ปลูกแฝกร่วมกับคลุมด้วยใบแฝก (CVVL) มีแนวโน้มของค่าอุณหภูมิดินโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าแปลงที่ปลูกมันสำปะหลังเพียงอย่างเดียว (C) ทุกระดับความลึกดินและสำหรับการทดลองทั้งสองปี ซึ่งเป็นเพราะพุ่มของแฝกช่วยลดอุณหภูมิดินในแปลงปลูกมันสำปะหลังได้ดี แต่ความชื้นดินไม่ได้รับอิทธิพลที่ชัดเจนจากแถวแฝกและการคลุมใบแฝกในงานศึกษานี้โดยพบว่าแปลงที่ปลูกแฝกร่วมกับคลุมด้วยใบแฝก (CVVL) มีความชื้นดินที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าแปลงที่ปลูกมันสำปะหลังเพียงอย่างเดียว (C) และ แปลงที่ปลูกแฝกร่วม (CV) ทั้งสองระดับความลึกดินที่ศึกษา ส่วนผลของแฝกที่มีต่อปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในดิน (SOC) คาร์บอนในรูปพาร์ทิคูเลทคาร์บอน (POM-C) และคาร์บอนในรูปที่อยู่ร่วมกับอนินทรีย์สารในดิน (MaOM-C) พบว่า แม้ไม่มีความแตกต่างทางสถิติระหว่างตำรับทดลอง แต่ดินของแปลงที่ปลูกแฝกร่วมกับคลุมด้วยใบแฝก (CVVL) มีแนวโน้มการกักเก็บปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในดิน (SOC) คาร์บอนในรูปพาร์ทิคูเลทคาร์บอน (POM-C) และ คาร์บอนในรูปที่อยู่ร่วมกับอนินทรีย์สารในดิน (MaOM-C) ได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ปลูกมันสำปะหลังเพียงอย่างเดียว (C) และ แปลงที่ปลูกแฝกร่วม (CV) ผลที่ได้ชัดเจนโดยเฉพาะที่ระดับความลึกดิน 10 ซม. และทุกตำรับทดลองพบว่า ปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในดิน (SOC) และ คาร์บอนในรูปที่อยู่ร่วมกับอนินทรีย์สารในดิน (MaOM-C) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ปลูกพืช โดยเฉพาะในปีที่ 2 ของการศึกษา ซึ่งชี้ว่าดินร่วนปนทรายที่ศึกษามีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนในดินได้ อย่างไรก็ตาม การปลูกแฝกร่วมในงานศึกษานี้ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง แม้ว่าในปีที่ 2 ของการศึกษาได้ทำการตัดใบแฝกระหว่างฤดูเพาะปลูกเพื่อลดการใช้น้ำของแฝกแล้วก็ตาม

 

ผลการศึกษานี้แสดงว่าการปลูกแฝกแซมและการคลุมแปลงมันสำปะหลังด้วยใบแฝกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภายในแปลงทดลอง โดยพบว่าการปลูกแฝกแซมน่าจะเป็นวิธีที่ดีในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิดิน แต่รูปแบบการปลูกแฝกในงานศึกษานี้ส่งผลทางลบต่อความชื้นดิน โดยเฉพาะในดินที่มีเนื้อหยาบและอุ้มน้ำไม่ดีของพื้นที่ศึกษา ซึ่งทำให้เกิดการแย่งน้ำระหว่างแฝกและต้นมันสำปะหลัง และเป็นเหตุให้ผลการลดลงของผลผลิตมันสำปะหลังในแปลงที่มีการปลูกแฝกร่วม (ลดลงมากกว่าร้อยละ 44) การปลูกแฝกและใช้ใบแฝกคลุมเป็นเวลา 2 ปีที่ศึกษายังไม่ส่งผลที่ชัดเจนต่อความหนาแน่นดินและปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในดิน แม้จะมีแนวโน้มลดความหนาแน่นดินที่ผิวดินของแปลงที่ปลูกแฝกร่วมก็ตาม การคลุมใบแฝกน่าจะเป็นสาเหตุหลักของการสะสมคาร์บอนอินทรีย์ในดินมากกว่าการปลูกแฝกร่วมในงานศึกษานี้ เป็นที่น่าสนใจว่าดินร่วนปนทรายที่ศึกษามีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนในดินได้ไม่ว่าจะมีการปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียวหรือมีการปลูกแฝกร่วมก็ตาม อย่างไรก็ตาม ควรทำการปรับปรุงรูปแบบการปลูกแฝกหรือใส่เฉพาะใบแฝกเพื่อส่งเสริมการสะสมคาร์บอนในดินและลดผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลัง

 สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ