รายการวิทยุ เรื่อง การพัฒนากระดาษซับน้ำมันจากอาหารทอด/วุฒินันท์ คงทัด

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 31 เดือนมกราคม พ.ศ. 2558

เรื่อง  การพัฒนากระดาษซับน้ำมันจากอาหารทอด

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

 สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้รับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

สวัสดี คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” เจอกับกระผม วิทวัส ยุทธโกศา และคุณกัญญารัตน์ สุวรรณทีป เช่นเคยนะครับ

 วิทวัส : คุณผู้ฟังครับ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนานั่นก็คงรวมประเทศไทยเราไปด้วย ซึ่งในสภาพสังคมเมืองก็จะมีความเจริญมากทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมืองหลวง หรือตามเมืองใหญ่ ๆทั้งหลาย ซึ่งผลของการเจริญเติบโตดังกล่าวนี้ ทำให้ประชาชนก็พากันเข้ามาอยู่อาศัย และประกอบอาชีพต่างๆมากมาย และสิ่งหนึ่งที่หลีกหนีไม่พ้น นั่นก็คือความเป็นอยู่ที่แออัด คับคั่งไปด้วยประชากร ผลที่ตามมาก็คือ การใช้ชีวิตในแต่ละวันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ เพื่อต้องการแข่งกับเวลา และสภาพของการจราจรที่ติดขัด และในสภาพดังกล่าวนี้จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาที่จะประกอบอาหาร เพื่อที่จะรับประทานนั้นเอง ใช่ไหมครับคุณกัญญารัตน์

 กัญญารัตน์: ใช่คะ ดังนั้นนะค่ะ อาหารส่วนใหญ่จึงเป็นอาหารจานเดียว เช่น ข้าวราดแกง หรืออาหารจานด่วน รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ อาหารดังกล่าวนี้ จะมีส่วนประกอบหลัก ก็คือ แป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ เป็นส่วนประกอบที่คนไทยชอบบริโภคมากที่สุด ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอาหาร หรือขนมที่ผ่านการทอดด้วยน้ำมัน ส่งผลให้คนไทยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนนั่นเอง ซึ่งจะมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดที่สูง และปัญหาอีกอย่างหนึ่งทีเกิดจากการปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหารดังกล่าว ก็คือเศษเหลือของไขมันที่ติดอยู่ตามภาชนะที่ใส่ ภาชนะที่รองอาหาร หรืออยู่ในส่วนผสมของสูตรอาหารที่เหลือจากการรับประทานไม่หมด ไขมันดังกล่าวจะถูกเททิ้งและล้างออกไปจากภาชนะ ซึ่งไขมันส่วนนี้แหละคะ ที่จะไหลไปตามท่อระบายทำให้เกิดน้ำเสีย เน่าเหม็น เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนที่อยู่อาศัยโดยรอบได้ ช่วงหน้าเรามาฟังปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญจากคุณวิทวัสกันนะคะ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะคะ

-เพลงคั่นรายการ-

 วิทวัส: กลับมาฟังกันต่อเลยนะครับ คุณผู้ฟังครับ และปัญหาที่มีต่อสุขภาพอีกอย่างหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจน นั่นคือการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสำนักงานที่ใช้งานแล้ว มาห่อ หรือรองอาหาร ประเภททอด เพื่อเป็นการประหยัด หรือผู้ใช้ขาดความรู้ก็ตาม  ผลของการใช้กระดาษดังกล่าวนี้จะมีโทษต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากกระดาษที่ใช้งานแล้วจะมีน้ำหมึกที่ใช้พิมพ์ ซึ่งภายในน้ำหมึกจะมีสารที่เป็นโลหะหนักปนอยู่มาก พวกโลหะหนักนี้นะครับจะปนเปื้อนกับอาหารได้ง่าย เนื่องจากน้ำมันเป็นตัวทำละลายได้ดี ส่วนการใช้กระดาษที่มี 2 ส่วน ประกบกัน คือแผ่นกระดาษ และพลาสติกนั้น จะปลอดภัยกว่าการใช้กระดาษที่ใช้งานแล้ว แต่กระดาษนี้จะมีคุณสมบัติป้องกันการไหลออกมาของน้ำมันโดยใช้พลาสติกกันไว้ ไขมันส่วนใหญ่ก็จะยังอยู่ในอาหารนั้นเองครับ คงจะเห็นกันแล้วนะครับว่าเรื่องดังกล่าวสมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนา เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพ ที่เราจะได้ไม่รับไขมันจากอาหารไปแบบเต็มๆ และรวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม ที่ในปัจจุบันเราทุกคนควรจะตระหนักกันในเรื่องนี้อย่างจริงจังกันเสียทีนะครับ

 กัญญารัตน์: ค่ะ แล้วคุณผู้ฟังรู้กันหรือไม่ค่ะ ว่าน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารทุกวันนี้ถูกเททิ้ง หรือล้างออกไปจากภาชนะหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว แล้วน้ำมันพวกนี้จะไปไหนหล่ะค่ะ คุณวิทวัส

 วิทวัส: อ่อ ผมคิดว่า ไขมันส่วนนี้ก็จะไหลไปตามท่อระบายน้ำ ที่แน่นอน คงทำให้เกิดน้ำเสีย เน่าเหม็น เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนที่อยู่อาศัยโดยรอบ วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ นั่นก็คือ การบําบัดน้ำเสีย ถ้าหากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ก็จะมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำลงสู่ธรรมชาติ ซึ่งวิธีนี้ผมมองว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุนะครับ

 กัญญารัตน์:  ใช่คะ แล้วทำไมเราถึงจะหาวิธีการลดปริมาณน้ำมันเหลือใช้ในครัวเรือนก่อนล้างภาชนะแล้วปล่อยน้ำลงสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งไม่ได้  ดังนั้นดิฉันมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคะ มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้รับฟังกัน เป็นผลงานวิจัยของ นายวุฒินันท์ คงทัด และคณะ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร  ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนายวุฒินันท์ และคณะได้ศึกษาการพัฒนากระดาษดูดซับไขมันที่เคลือบด้วยไคโตแซน และกลูโคแมนแนน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สำหรับการนำไปใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกระดาษดังกล่าวสามารถดูดซับไขมันได้ดี และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ

วิทวัส: คุณกัญญารัตน์ครับ  แล้วเจ้ากระดาษที่ดูดซับไขมันที่เคลือบด้วยไคโตแซน และกลูโคแมนแนนที่ว่านี้มีความปลอดภัยและมีความพิเศษอย่างไรครับ

 

กัญญารัตน์: คุณวิทวัสอยากทราบแล้วใช่ไหมค่ะ และดิฉันก็เชื่อว่าคุณผู้ฟังก็คงอยากจะทราบกันแล้ว แต่อดใจรอกันสักครู่ ไว้ติดตามกันในช่วงหน้า แล้วเรากลับมาฟังกันนะคะ

-เพลงคั่นรายการ-

 

กัญญารัตน์: คุณผู้ฟังค่ะ ฟังกันต่อเลยนะคะ กระดาษที่ดูดซับไขมันที่เคลือบด้วยไคโตแซน และกลูโคแมนแนนที่ว่านี้มีความปลอดภัยและมีความพิเศษ เนื่องมาจากเป็นวัสดุ ที่ได้จากธรรมชาติโดยใช้เหยื่อจากเปลือกของต้นปอสา ส่วนสารเคลือบไคโตแซนและกลูโคแมนแนน ก็เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการพัฒนากระดาษดูดซับน้ำมันที่เคลือบด้วยสารละลายไคโตแซนและกลูโคแมนแนน เพื่อให้ได้กระดาษที่สามารถดูดซับน้ำมันจากอาหารทอด ที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟได้

ซึ่งจะมีวิธีการศึกษาโดยการต้มเยื่อปอสาเกรด A ด้วยสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ความเข้มข้น 8% ของน้ำหนักเปลือก อบแห้งอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงด้วนกัน แล้วฟอกด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 4%  ของน้ำหนักเยื่ออบแห้ง ทำแผ่นกระดาษด้วยมือแบบไทยน้ำหนักมาตรฐาน 40  60  80  100  120  และ 140  g/m2 เคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนน ไคโตแซน กลูโคแมนแนนแล้วเคลือบทับด้วยไคโตแซน และเคลือบด้วยส่วนผสมของสารละลายกลูโคลแมนแนนและไคโตแซน ที่ความเข้มข้น 0.2  0.4 0.6  0.8 และ 1.0% โดยปริมาตร แล้วทดสอบสมบัติเชิงกลการดูดซับน้ำมัน และการดูดซับน้ำของกระดาษ ตามวิธีมาตรฐานของ  TAPPI ทดสอบการดูดซับน้ำมันจากอาหารทอดที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ และทดสอบการกรองน้ำแกงที่เหลือจากการรับประทาน ผลที่ได้ ก็คือกระดาษสาที่น้ำหนักมาตรฐาน 40 g/m2 แล้วเคลือบด้วยสารละลายไคโตแซนความเข้มข้น 0.2% โดยปริมาตร ซึ่งเป็นกระดาษที่มีคุณสมบัติเชิงกล และสามารถดูดซับน้ำมันจากอาหารทอดที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟได้ดีที่สุด ซึ่งมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนในการผลิตต่ำ สามารถผลิตจำหน่ายได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้ห่อ รองอาหารทอดด้วยน้ำมัน หรืออาจจะใช้รองอาหารเพื่อใช้อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟก็ได้นะคะ คุณผู้ฟังค่ะ ช่วงหน้าเรากลับมาฟังการทดสอบคุณภาพทางด้านจุลินทรีย์ของกระดาษดูดซับไขมันจากคุณวิทวัสกันนะคะ ช่วงนี้เราพักกันสักครู่ค่ะ

-เพลงคั่นรายการ-

วิทวัส: จากการที่ฟังวิธีวิจัยในครั้งนี้นะครับ น่าสนใจมากเลยทีเดียว ที่สำคัญเป็นการใช้วัสดุจากธรรมชาตินำมาทำเป็นกระดาษอีกเสียด้วย และผลในการวิจัยก็ออกมาดี สมควรเป็นอย่างยิ่งในการที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในวิถีทางการดำรงชีวิตแบบคนในเมือง โดยการได้รักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว

และมีอีกอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มความเชื่อมั่น คือ ผลการทดสอบคุณภาพทางจุลินทรีย์ เพื่อหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด ผลการทดสอบปรากฏว่า ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดน้อยกว่า 250 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งมีค่าเหมือนกับกระดาษห่ออาหารตรา Cooking paper และ Lead cooking paper และผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดาษห่ออาหาร เพื่อใช้สำหรับเตาอบแบบไมโครเวฟ ที่มีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดน้อยกว่า 250 โคโลนีต่อกรัม แสดงให้เห็นว่ากระดาษที่เคลือบด้วยสารละลายไคโตแซนความเข้มข้น 0.2% ความหนา 40 g/m2 เป็นกระดาษที่ปลอดภัย สามารถใช้ห่ออาหารประเภททอด เพื่อดูดซับน้ำมันจากอาหารที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟได้ครับ

 

กัญญารัตน์: และต้นทุนในการผลิตกระดาษสาเพื่อใช้ในการดูดซับน้ำมันจากอาหาร ประเภททอดที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ มีต้นทุนการผลิตโดยประมาณแผ่นละ 1 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากระดาษดูดซับน้ำมันตรา Cooking paper ที่จำหน่ายในราคาแผ่นละ 6 บาท และตรา Lead cooking paper จำหน่ายราคาแผ่นละ 7 บาทเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่ากระดาษ ที่ได้จากการศึกษาทดลองยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่ากระดาษที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นโอกาสที่จะผลิตออกมาจำหน่ายสามารถทำได้ และเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ ให้อย่างไม่ยากเลยทีเดียวคะ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะคะ

-เพลงคั่นรายการ-

 

วิทวัส: กลับเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” เรื่องการพัฒนากระดาษซับน้ำมันจากอาหารทอดครับ คุณผู้ฟังและคุณกัญญารัตน์ครับ หลังจากที่เราได้ทราบกันแล้วนะครับ เกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆของกระดาษดังกล่าว การนำกระดาษไปใช้งาน รวมถึงกรรมวิธีการผลิตกระดาษดูดซับไขมันที่เคลือบด้วยไคโตแซน และกลูโคแมนแนนนั้น คุณผู้ฟังและคุณกัญญารัตน์สงสัยเหมือนผมไหมครับว่า ทำไมเราไม่ใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ใช้รองอาหาร และสามารถดูดซับน้ำมันจากอาหารได้เหมือนกันนะครับ เป็นกระดาษที่ผลิตใหม่ มีสีขาว สะดวกและง่ายต่อการนำไปใช้เป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่าทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เลยนะครับ เกือบทุกบ้านจะต้องมีกระดาษทิชชูติดครัวเรือนไว้เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันกับผลอย่างแน่นอนครับ

 

กัญญารัตน์: ใช่ค่ะคุณวิทวัส แต่คุณวิทวัสและคุณผู้ฟังค่ะ ทราบหรือไม่ว่า ล่าสุดกรมอนามัยออกมาเตือนว่า การใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหารนั้นมีความเสี่ยงต่อการรับสารก่อมะเร็งค่ะ เพราะปัจจุบันนั้น กระดาษทิชชูผลิตจากกระดาษหมุนเวียนใหม่ เช่น กระดาษ A4 ที่ใช้แล้ว เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในกระบวนการผลิตตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อจะต้องใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ อีกทั้งยังใช้สารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นส่วนประกอบด้วยคะ เมื่อเรานำกระดาษทิชชูมาใช้รองอาหาร หากสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน จะมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อรุนแรง ทำให้บริเวณนั้นอ่อนนุ่มกลายเป็นวุ้นหรือเจลตินและสบู่ ถ้าหายใจหรือละอองสารเข้าไป จะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนระคายเคือง จนมีอาการจาม ปวดคอ น้ำหมูกไหล หายใจขัด นอกจากนี้นะคะ การสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง เป็นแผลไหม้และพุพองได้ การกลืนกินทำให้แสบไหม้บริเวณปาก คอ และกระเพาะอาหารค่ะส่วนสารไดออกซิน (dioxins) เป็นสารที่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน แต่อาการจะค่อยๆ เกิดและเพิ่มความรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ค่ะ ดังนั้นเราในฐานะผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษทิชชูสัมผัสกับอาหารมันและอาหารทอด โดยการหันมาใช้กระดาษดูดซับไขมันที่เคลือบด้วยไคโตแซน และกลูโคแมนแนน เพื่อความปลอดภัยจากการรับสารเคมีตกค้าง และเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคอีกด้วยค่ะ

 

 คุณวิทวัส: ครับ ต้องขอขอบคุณคุณกัญญารัตน์ที่นำข้อมูลดีๆแบบนี้มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆเลยครับ ขอบคุณข้อมูลจากกรมอนามัยด้วยครับ ดังนั้นนะครับคุณผู้ฟัง ผลงานวิจัยของนายวุฒินันท์ และคณะ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งและเป็นทางเลือกที่ดีมากเลยครับ สำหรับใช้แก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำกระดาษเป็นเยื่อที่ได้มาจากธรรมชาติ โดยใช้เยื่อจากเปลือกของต้นปอสา ส่วนสารเคลือบไคโตแซนและกลูโคแมนแนน เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ และกระดาษดังกล่าวสามารถใช้งานได้หลายรูปแบบครับ อย่างเช่น ใช้ห่อ หรือรองอาหารทอดด้วยน้ำมัน ห่ออาหารเพื่อใช้อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ ใช้เช็ดจาน หรือภาชนะที่มีไขมันหรือเศษอาหารติด สามารถใช้เช็ดโต๊ะ เตาที่มีไขมันเปื้อนและใช้เป็นกระดาษกรองเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดน้ำมันจากอาหารประเภททอดที่ถูกปล่อยทิ้งลงไปตามท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อมครับ จากงานวิจัยนี้นะครับ ถ้าในเชิงขอธุรกิจกันบ้างนะครับ ก็น่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งได้อีกทางหนึ่งเลยหล่ะครับ และน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตจำหน่ายในเชิงอุตสาหกรรมได้ในอนาคตต่อไปด้วยครับ

 

สำหรับวันนี้กระผมและคุณกัญญารัตน์ ขอจบรายการไว้เพียงเท่านี้นะครับ สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการ หรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ