งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ดาวเรือง ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

untitled

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมมายุ 60 พรรษา ใน พ.ศ. 2530 ศาสตราจารย์สมเพียร เกษมทรัพย์ ได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นกรรมการก่อสร้างสวนหลวง ร. 9 ได้มีโอกาสใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากงานวิจัยและงานสอน ปลูกไม้ดอกล้มลุกนานาชนิดจำนวนหลายหมื่นต้นในลักษณะของไม้ดอกประดับแปลง (bedding plants) แม้จะประสบปัญหาดินเค็ม น้ำเค็ม แต่ศาสตราจารย์สมเพียร เกษมทรัพย์ได้พยายามทุกวิถีทางจนสามารถแก้ไขให้ลุล่วงและประสบผลสำเร็จเกินความคาดหมาย โดยไม้ดอกออกดอกพร้อมเพรียงกันทุกต้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2530 ตามที่กำหนดไว้ทุกประการ เป็นที่เชิดหน้าชูตาและภาคภูมิใจอย่างยิ่ง จากผลงานสำคัญนี้ได้นำไปสู่การเขียนตำราไม้ดอกประดับแปลง กรุงเทพฯ สวยด้วยไม้ดอก ให้กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร พิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชนที่สนใจเมื่อ พ.ศ. 2533 จำนวนนับหมื่นเล่ม

star2    star 11   

ระหว่างปี พ.ศ.2519-2522  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยจาก กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา (The Agricultural Research Service(ARS) , USAID) ผ่านทางโครงการเกษตรที่สูง ให้ดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่องพืชปลูกและพืชป่าของพื้นที่ภาคเหนือเพื่อใช้เป็นพืชสี ( Research on Cultivated Crops and Wild Plants for Dye Production in the Highlands of Northern Thailand ) โดยได้นำทั้งพืชป่าและพืชปลูก  ทั้งพืชผัก  ไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชสมุนไพรที่หาได้ในพื้นที่ภาคเหนือ  มาวิเคราะห์วิจัยปริมาณสีจากส่วนต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้ของพืชแต่ละชนิด  อาจเป็นส่วนของราก  หัว  ลำต้น  ดอก  กลีบดอก  และเกสร  เป็นต้น  เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นสีผสมอาหารแทนสีสังเคราะห์ ซึ่งผศ.สมเพียร เกษมทรัพย์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร รับผิดชอบในการทำวิจัยในส่วนของไม้ดอก ที่จะนำมาใช้เป็นพืชสี

ดาวเรืองเป็นหนึ่งในพืชหลายชนิดที่ได้รับการคัดเลือก โดยมีการนำเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองหลายสิบพันธุ์มาปลูกทดลอง ณ สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่  และแปลงทดลองภาควิชาพืชสวน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน  เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณแคโรตีน  (carotene)  และแซนโตฟิล  (xanthophylls)  ในกลีบดอกสดและกลีบดอกแห้ง

ผลจากการวิเคราะห์ปริมาณแคโรทีน และแซนโตฟิล  ในกลีบดอกดาวเรืองสดและแห้งหลายสิบพันธุ์ จากดาวเรือง 4 กลุ่มคือ กลุ่มดอกสีเหลือง สีเหลืองอมส้ม สีส้มและสีแดง พบว่าดาวเรืองอเมริกัน  (American Marigold)  ในกลุ่มดอกสีส้ม 3 พันธุ์ เหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชสีมากที่สุด ได้แก่ พันธุ์ทอรีดอร์, ออเรนจ์เลดี้, ปั้มกิ้นครัช และอะพอลโล  และดาวเรืองปลูกที่สถานีทดลองเกษตรหลวงอ่างขางให้ปริมาณแซนโตฟิลและแคโรทีนสูงกว่าดาวเรืองปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน 

นอกจากจะได้พันธุ์ดาวเรืองที่จะใช้เป็นพืชสีที่เหมาะจะใช้สกัดเป็นสีผสมอาหารสำหรับมนุษย์แล้ว ผลงานวิจัยนี้ ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ด้วย โดยเฉพาะอาหารไก่ เพื่อเพิ่มความเข้มของสีไข่แดงและผิวหนังไก่ จึงมีบริษัทเอกชนหลายราย  บางรายร่วมลงทุนกับบริษัทต่างประเทศ  ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกดาวเรืองอย่างกว้างขวางเพื่อผลิตดอกแห้งส่งป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอาหารไก่ภายในประเทศ  และผลิตดอกสดเพื่อสกัดสารแซนโตฟิลส่งจำหน่ายต่างประเทศ  ตลาดหลักคือประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งผลลัพธ์จากงานวิจัยพืชสีนี้ ได้นำไปสู่ธุรกิจการปลูกดาวเรืองเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารไก่อย่างกว้างขวาง มีพื้นที่ปลูกดาวเรืองเพิ่มขึ้นนับหมื่นไร่ ที่สำคัญคือก่อให้เกิดเป็นอาชีพการปลูกดาวเรืองตัดดอกเกิดขึ้นและขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้  เพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ  เหมาสม และ สามารถปลูกดาวเรืองได้ตลอดปีทั่วทั้งประเทศไทย  จึงมีการปลูกดาวเรืองเพื่อการนี้ปีละหลายหมื่นไร่  ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานไว้ว่า  ในปี พ.ศ. 2547  มีพื้นที่ปลูกดาวเรืองเป็นพืชสี 24,500 ไร่  ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรหลายร้อยล้านบาท

 นอกจากนั้น ผลพลอยได้ที่เกษตรกรได้รับจากการปลูกดาวเรือง  คือ  หลังจากเก็บเกี่ยวดอกหมดต้นแล้ว  หากไถกลบทั้งต้นและรากดาวเรืองลงในแปลงปลูก  จะสามารถป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย (nematode) ในดินได้ดียิ่ง  ทั้งนี้เพราะงานวิจัยในเวลาต่อมาของ  ศาสตราจารย์สมเพียร  เกษมทรัพย์  และคณะ  พบว่า  ต้นและรากของดาวเรืองสามารถผลิตสารแอลฟ่าเทอธิอีนิล  (a- terthienyl)  ได้จำนวนหนึ่ง  ซึ่งสามารถป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยในระดับต่าง ๆ กัน  ขึ้นอยู่กับชนิด  พันธุ์  ตลอดจนอายุของต้นดาวเรืองในขณะไถกลบ  อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปลูกดาวเรืองสลับกับการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิด  ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไส้เดือนฝอยในดิน  อาทิ  มะเขือเทศ  ยาสูบ  เยอบีร่า  และสตรอเบอรี่  เป็นต้น

ระหว่างปีพ.ศ. 2522 -2524 แม้ว่าได้สิ้นสุดโครงการวิจัยพืชสีในปี 2522 แล้ว แต่ศาสตราจารย์ สมเพียร เกษมทรัพย์ และทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยนิสิตปริญญาตรีและปริญญาโทภาควิชาพืชสวน ยังคงทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตดาวเรืองในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลจากงานวิจัยที่ได้ทำไว้ ด้วยเห็นศักยภาพที่จะทำให้ดาวเรืองเป็นทั้งไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ประดับ  

ศาสตราจารย์ สมเพียร เกษมทรัพย์ และทีมวิจัย ได้คัดเลือกได้ดาวเรืองพันธุ์ดีที่น่าจะปลูกเป็นไม้ตัดดอกไว้ 4 พันธุ์ มีการศึกษารายละเอียด วิธีการปลูก การปฏิบัติดูแล การใส่ปุ๋ย โรคแมลง ตลอดจนผลผลิต ต้นทุน และการตลาด  ในที่สุดได้คัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดไว้ 2 พันธุ์ คือพันธุ์ดอกสีทอง เบอร์1  และพันธ์ดอกสีส้มเบอร์ 4

ปก1   ปก2

star 4   E11412752-8

ศาสตราจารย์ สมเพียร เกษมทรัพย์ ไดรวบรวมผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พ.ศ. 2509 เรียงเรียงเป็นตำรา “การปลูกไม้ดอก(Introduction to Floriculture) เล่มแรกพิมพ์ในปี พ.ศ.2522 หนา 460 หน้า มีหน้าปกเป็นรูปดอกดาวเรืองแย้มยิ้มสีเหลืองทองสดใสสะดุดตา เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปลูกไม้ดอกถึง 30 ชนิด ผลปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนต้องจัดพิมพ์ซ้ำอีกถึง 2 ครั้งในปีพ.ศ. 2555 และ2528 

star 8   star 12   

ปีพ.ศ. 2523 ศาสตราจารย์ สมเพียร เกษมทรัพย์ และทีมวิจัยได้คัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกเป็นไม้กระถาง และไม้ประดับแปลงเพื่อให้ดาวเรืองได้ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น  บางพันธุ์มีต้นสูงเก้งก้างแต่ดอกสวยเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีการทำวิจัยในการควบคุมทรงพุ่มของต้นดาวเรืองกระถางรวมทั้งไม้กระถางอื่นๆ โดยการนำสารชะลอการเจริญเติบโตมาใช้ยับยั้งความสูงของต้นทำให้สามารถผลิตดาวเรืองเป็นไม้กระถางอย่างได้ผล  และทีมวิจัยได้นำดาวเรืองที่ทดลองปลูกเป็นไม้กระถางนี้มาจำหน่ายในงานดอยคำของโครงการหลวง ซึ่งจัดขึ้นในเดือนธันวาคมปีพ.ศ. 2523 ณ สวนอัมพร  ปรากฏว่าได้รับความสนใจมากเพราะดาวเรือง 2000 กระถาง จำหน่ายหมดภายใน 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

ปีพ.ศ. 2524 ได้ทยอยเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่เกษตรกร โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกที่คุ้นเคย รวมทั้งติดตามแปลงปลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทดลองและได้เรียบเรียงเขียนเป็นตำราประกอบการเรียนการสอน เรื่อง ไม้ดอกกระถาง (Flowering Pot Plants) หนา 275 หน้า พิมพ์ในปีพ.ศ. 2524 และพิมพ์ซ้ำในปี 2526

ปีพ.ศ. 2525 เผยแพร่การปลูกดาวเรืองในรูปแบบ “ไม้ตัดดอกเชิงธุรกิจ”อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการกำหนดตารางเวลาการผลิต วิธีปฏิบัติอย่างละเอียด ให้เกษตรกรสามารถกำหนดวันที่จะตัดดอกจำหน่ายได้ตรงตามกำหนดเวลาที่ต้องการในเทศกาลต่างๆในรอบปีได้อย่างแม่นยำ

ปีพ.ศ. 2526  ในงานวันเกษตรแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกดาวเรือง ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กำแพงแสน ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง รวมทั้งมีการจัดพิมพ์คู่มือการปลูกดาวเรืองแจกจ่ายด้วย

จากการที่ดาวเรืองที่ได้จากการปลูกตามคู่มือที่แจก สามารถออกดอกตามเวลาที่กำหนด ตรงตามเวลาที่ต้องการของตลาด ได้ดอกขนาดใหญ่ ก้านดอกยาวแข็งแรงที่สำคัญคือทุกดอกมีคุณภาพใกล้เคียงสม่ำเสมอกันทุกต้นทุกดอกตลอดทั้งแปลง ทำให้ได้ราคาดี ได้ผลตอบแทนสูงและเร็วกว่าการปลูกพืชอื่น  จึงเริ่มมีการปลูกดาวเรืองตัดดอกเป็นการค้าอย่างจริงจังนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

star 3   star 9

ขณะเดียวกันการปลูกดาวเรืองเป็นไม้กระถางไม้ประดับ เชิงธุรกิจ สำหรับจำหน่ายเพื่อนำไปใช้ตกแต่งประดับประดาอาคารสถานที่ต่างๆก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

เกษตรกรจึงขนานนามว่า “ดาวเรืองเกษตร” เป็นเกียรติแก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นับแต่บัดนั้น

ดาวเรือง 2