งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ดาวเรืองเกษตร

kaset8

ชื่อสามัญ       ดาวเรือง  Marigolds

ชื่อท้องถิ่น       ดอกคำพู่จู้ คำปู้จู้ คำปูจู้หลวง (ภาคเหนือ) พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์    Tagetes spp.

ชั้น(Class)      Mafnoliopsida

อันดับ(Order)     Asterales

วงศ์ (Family)     Asteraceae

สกุล (Genus)   Tagetes

ชนิด (Species)   T. erecta

   ดาวเรือง เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่งของไทย ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่คนไทยรู้จักกันดี  เนื่องจากพบเห็น เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย เป็นพืชที่มีชื่อเป็นมงคล เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียวอายุไม่ถึง 1 ปี อยู่ในวงศ์เดียวกับทานตะวัน และบานชื่น เป็นพืชปลูกง่าย สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพพื้นที่ โตเร็ว ปลูกได้ตลอดปี อายุเก็บเกี่ยวสั้น สามารถตัดดอกจำหน่ายได้ใน 60-70 วันเท่านั้น ดอกมีสีสันสวยงาม อายุใช้งานได้หลายวัน นิยมปลูกเพื่อตัดดอกขาย ใช้ในงานพิธีทางศาสนา ใช้ร้อยพวงมาลัยไหว้พระ หรือคล้องคอในงานพิธีต่างๆ นอกจากนั้นยังเป็นไม้ประดับที่สวยงามโดดเด่นที่นิยมใช้ในการตกแต่งภูมิทัศน์ อีกด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ดาวเรืองเป็นพืชล้มลุกอายุสั้น โดยมีอายุประมาณ 100-125 วัน

ลำต้น  : ลำต้นทรงพุ่ม เป็นเหลี่ยม สีเขียว แตกกิ่งก้านที่โคนต้น ความสูงมีตั้งแต่สูง 25 ซม. ถึง 1 เมตร ขึ้นกับแต่ละพันธุ์

ใบ    : เป็นใบประกอบ ลักษณะรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบหยักเป็นซี่ฟัน แผ่นใบสีเขียว เนื้อใบนิ่ม มีกลิ่นหอมฉุน

ดอก   : มีลักษณะเป็นดอกรวม ประกอบด้วยดอกย่อยเล็กๆจำนวนมาก อัดซ้อนกันแน่นอยู่บนฐานรองดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกมีหลายสี เช่น สีส้ม สีเหลือง สีทอง สีขาว สีครีม และสองสีในดอกเดียวกัน และมีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน มีตั้งแต่ขนาดเล็ก ประมาณ 1 นิ้ว จนถึงขนาดใหญ่ ประมาณ 4-5 นิ้วขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์

เมล็ด   : เมล็ดแบน เรียบ สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

การขยายพันธุ์ : ใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก และสามารถใช้วิธีตัดส่วนยอดมาปักชำได้แต่ไม่นิยม เพราะต้นที่ได้จะให้ดอกขนาดเล็กลง และให้จำนวนผลผลิตน้อย

ถิ่นกำเนิด  : ประเทศเม็กซิโก, ประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ 

การใช้ประโยชน์  

1.การใช้เป็นไม้ประดับ ใช้ประโยชน์ด้านงานจัดภูมิทัศน์ (Landscape Used) : ใช้ปลูกลงกระถางหรือถุง หรือปลูกในแปลง เป็นไม้ดอกตกแต่ง จัดสวน หรือปลูกประดับเพื่อความสวยงาม ริมถนน ทางเดิน อาคารสถานที่ รวมทั้งนิยมใช้ในการจัดซุ้มดอกไม้ งานนิทรรศการ อาคารสถานที่ในพิธีต่างๆ

2.การใช้เป็นไม้ดอก ใช้ประโยชน์จากส่วนดอก โดยใช้ดอกดาวเรืองร้อยเป็นพวงมาลัยชนิดต่างๆเพื่อการบูชาพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ใช้ดอกในการจัดพานบายศรีสู่ขวัญ พานบายศรีงานแต่งงาน   รวมทั้งใช้ในพระราชพิธีต่างๆ เนื่องจาก ดาวเรืองสีเหลืองทอง เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนั้น ยังนิยมร้อยพวงมาลัยคล้องคอในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะสีเหลืองทองเป็นสีแห่งชัยชนะ

สีที่สกัดจากดอกดาวเรือง นำไปใช้ประโยชน์เป็นสีผสมอาหาร และเครื่องสำอางต่างๆ ใช้ย้อมผ้า น้ำมันหอมระเหยจากดอกดาวเรือง นำมาใช้ เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางหรือใช้ทาบำรุงผิว บำรุงผม รวมถึงใช้ในงานหล่อลื่น และการป้องกันสนิม

นอกจากนั้น ดอกดาวเรืองยังใช้ประโยชน์เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ เนื่องจากกลีบดอกดาวเรืองมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า แซนโธฟิล (xanthophylls) สูง โรงงานผลิตอาหารสัตว์จะใช้เป็นส่วนผสมของอาหารไก่ไข่ เพื่อให้ไข่แดงมีสีแดงสวยทดแทนสารสังเคราะห์ 

3.การใช้เป็นพืชสมุนไพร 

ใบ : ใช้ใบสดตำ พอกแผลฝี  ทาแผลเน่าเปื่อย  น้ำคั้นจากใบแก้ปวดหู 

ดอกและช่อดอก :  ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงทวาร ขับเสมหะ แก้เจ็บตา เวียนศีรษะ ไอหวัดไอกรน คางทูมเรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และแก้ปวดฟัน

ส่วนรากของดาวเรือง : สามารถผลิตสารแอลฟ่าเทอรีอีนิล (a-terthienyl) สามารถควบคุม ปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้เป็นอย่างดี  โดยการไถกลบทั้งต้นและรากลงในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีปัญหาจากไส้เดือนฝอยในดิน อาทิ ยาสูบ มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ และเยอบีร่า เป็นต้น 

ชนิดของดาวเรือง

พันธุ์ดาวเรืองที่นิยมปลูกในประเทศไทย

ประวัติและข้อมูลทั่วไปของดาวเรือง

งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ดาวเรือง ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดาวเรืองเกษตร  ไม้ดอกเหลืองทอง เรืองรองอร่าม สวนหลวง ร.9