ทีมวิจัยผู้พัฒนาพันธุ์ โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน

จรัญ   ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา

ปรารถนา2    ชัย   ปรีชา

 ศาสตราจารย์ ปรารถนา พฤกษะศรี รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยณรงค์ คันธพนิต อาจารย์ปรีชา อินนุรักษ์ 

การดำเนินงานต่างๆ กว่าจะได้เป็นโคพันธุ์กำแพงแสน ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 35 ปี มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้สร้างโคพันธุ์กำแพงแสน เนื่องจากมีผู้ร่วมงานมากน้อยตามวาระและโอกาส แต่ที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เป็นบูรพาจารย์ที่สมควรได้รับการจารึกไว้คือ ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการโคเนื้อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับตั้งแต่เริ่มโครงการที่สถานีวิจัยทับกวาง จนย้ายมาบุกเบิกงานที่สถานีวิจัยกำแพงแสนในปี 2512  ท่านเป็นผู้วางแผนดำเนินงาน ผลักดัน สนับสนุน และให้คำปรึกษาการดำเนินโครงการมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมก. พยายามรวบรวมเป็นข้อสนเทศงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เห็นพัฒนาการงานวิจัย และความทุ่มเท กว่างานวิจัยจะสำเร็จลงได้ ซึ่งขอบันทึกรายนามบูรพาจารย์เพื่อยกย่องผู้ร่วมสั่งสมความอุดมแห่งแผ่นดินไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ดังนี้

ในช่วงแรกๆ ของโครงการซึ่งศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา ระบุไว้ว่าเป็นกลุ่มผู้ปิดทองหลังพระในยุคเริ่มแรก คือ ดร.เจมส์ อี จอห์นสตัน จากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และทีมงานที่สมควรจารึกไว้ ประกอบด้วย ดร.สมเกียรติ ทิมพัฒนพงศ์  ดร.ประเสริฐ เหรียญแก้ว  ดร.บุญเหลือ เร่งศิริกุล  ดร.บัณฑิต ธานินทร์ธราธาร ดร.ประเสริฐ เจิมพร และดร.จำเนียร สัตยาพันธุ์  รวมทั้งยังมีผู้ช่วยงานด้านเทคนิค เช่น อาจารย์ วิชัย บูรพา อาจารย์มนัส กำพุกุล และอาจารย์ปรีชา อินนุรักษ์  อาจารย์สวัสดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ อาจารย์ธำรง อโนธารมย์ มีอาจารย์ น.สพ.มานิตย์ วิมลรัตน์ เป็นสัตวแพทย์ประจำฟาร์ม  ส่วนช่วงหลังปีพ.ศ.2519 อาจารย์ปรารถนา พฤกษะศรี ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการจึงมาสานงานต่อ ช่วงนั้นมี ดร.สุรชัย ชาครีย์รัตน์  อาจารย์เกรียงศักดิ์ แก้วสมประสงค์  ดร.น.สพ.กัญจนะ มากวิจิตร  ดร.ศรเทพ ธัมวาศร  มาร่วมโครงการ ระยะต่อมา ปี 2523 ดร.ชัยณรงค์ คันธพนิต  ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำที่วิทยาเขตกำแพงแสน และเป็นกำลังสำคัญอีกคนหนึ่งในการพัฒนาโคพันธุ์กำแพงแสนในระยะต่อมา  

ในช่วงหลังๆ ประมาณปี 2545 การดำเนินงานส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค ซึ่งช่วงนั้นมีบุคลากรทั้งข้าราชการ ลูกจ้างของศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินงาน โดยอาจารย์ปรีชา อินนุรักษ์ รับช่วงงานเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ คนต่อมาเมื่อศาสตราจารย์ปรารถนา พฤกษะศรี ได้ขอลาออกจากราชการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2545

อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางการพัฒนาโคเนื้อกำแพงแสนที่ยาวนาน ยากลำบาก กว่าจะบรรลุผลสำเร็จได้ ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกมากมาย ทั้งจากเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโค  ความร่วมมือจากสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนกรมปศุสัตว์  และสำนักงานทหารพัฒนาที่สนับสนุนน้ำเชื้อโคพันธุ์ชาโรเลส์ใช้ในโครงการ  รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่อาจจะกล่าวได้ไม่ครบทุกคนไว้ในบทความนี้