ประวัติความเป็นมาโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กว่าจะเป็นโคกำแพงแสน  นำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่  โดยเรียบเรียงข้อมูลย้อนอดีตตามลำดับเวลา เพื่อให้เห็นถึงประวัติและพัฒนาการความเป็นมา รวมทั้งเป็นการประกาศเกียรติคุณรายนามของบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เท่าที่รวบรวมได้ ดังนี้

โครุ่นแรกๆ2

 

ก่อนจะเป็นโคกำแพงแสน 

    พ.ศ.2506-2508 ยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของโครงการโคเนื้อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จากบันทึกซึ่งเป็นรายงานสรุปโครงการความร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับมหาวิทยาลัยฮาวาย   (Terminal Report  KASETSART/ HAWAII UNIVERSITY  Contract, August 1965)  มีโครงการความร่วมมือหลายโครงการที่ดำเนินการระหว่างปี 2506-2508  หนึ่งในโครงการความร่วมมือนั้น คือโครงการโคเนื้อ ซึ่งดำเนินงานที่สถานีฝึกนิสิตทับกวาง จังหวัดสระบุรี

     ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าสถานีฝึกนิสิตทับกวาง (พ.ศ. 2505-2509) เป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายไทย และรศ.ประเสริฐ เจิมพร เป็นผู้ดำเนินการเรื่องการผสมเทียม  ได้สั่งน้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อพันธุ์เฮอร์ฟอร์ด จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาทดลองผสมข้ามพันธุ์กับโคพื้นเมืองไทย และกับโคไทยเลือดผสมเรดซินดิ  โคลูกผสมที่ได้จากการทดลองเติบโตดี ไม่มีปัญหาในการเลี้ยงดู แต่มีสีหลากหลาย สีเปรอะไม่สวยงาม ผลการทดลองทำให้ได้ข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโคพื้นเมือง เป็นโคเนื้อคุณภาพดีโดยใช้เชื้อพันธุ์จากอเมริกาและอินเดีย

2.ภาพประวัติศาสตร์

                                 ภาพประวัติศาสตร์ : จุดเริ่มต้นก่อนจะเป็นโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน

        พ.ศ. 2507-2512  ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา สั่งน้ำเชื้อแช่แข็งโคเนื้อพันธุ์ชาโลเล่ส์ เฮอร์ฟอร์ดแองกัส และบราห์มัน มาผสมกับแม่โคพื้นเมืองไทย ทีสถานีฯทับกวาง ศึกษาสมรรถภาพโคลูกผสมต่างๆ  อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ตัดสินใจในการเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมในระหว่างนั้น ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา  ซึ่งในตอนนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก(พ.ศ.2510-2511 )

3-1 ดร.จรัญ

      พ.ศ. 2511  บุกเบิกสถานีฝึกนิสิตกำแพงแสน  จุดเริ่มต้นโครงการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อกำแพงแสน  สืบเนื่องจาก มหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายพัฒนาวิทยาเขตกำแพงแสน หลวงอิงคศรีกสิการ (อาจารย์อินทรี จันทรสถิตย์) อธิการบดีในตอนนั้น จึงให้ย้ายงานปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อจากทับกวาง ไปกำแพงแสน ด้วยเห็นว่าสถานีฝึกนิสิตทับกวางมีพื้นที่เพียง 350 ไร่  และยังมีโครงการเลี้ยงสุกร ใช้พื้นที่ของสถานีฯอยู่ส่วนหนึ่งและมีนโยบายจะขยายงานสถานีวิจัยทับกวาง เป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถขยายงานปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อได้ ขณะที่วิทยาเขตกำแพงแสน มีพื้นที่ให้ดำเนินงานถึง 3,600 ไร่ ดังนั้น ในเดือนกันยายน 2511 ภาควิชาสัตวบาล นำโดยศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา  เริ่มทำการสำรวจและวางแผนการใช้พื้นที่ที่วิทยาเขตกำแพงแสน  นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านโคเนื้อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างจริงจัง