กลีเซอรอลเหลือทิ้งจากการผลิตไบโอดีเซลสู่กรดอะมิโนจำเป็นต่อมนุษย์

กลีเซอรอลคือผลพลอยได้ชนิดหนึ่งจากการกระบวนการผลิตไบโอดีเซล การที่มีการใช้และการผลิตไบโอดีเซลกันมากชึ้นส่งผลให้ปริมาณกลีเซอรอลเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ด้วยอุปทานของการใช้กลีเซอรอลที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบันส่งผลให้มีปริมาณของกลีเซอรอลเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก การแสวงหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากกลีเซอรอลจึงเป็นทางออกสำคัญที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยวิธีที่น่าสนใจคือการนำกลีเซอรอลมาผลิตเป็นกรดอะมิโน แอล-ฟีนิลอะลานีนด้วยกระบวนการหมัก ซึ่งสารดังกล่าวเป็นกรดอะมิโนที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารให้ความหวานที่มีพลังงานต่ำ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้จะช่วยให้กลีเซอรอลมีมูลค่าที่สูงขึ้น อันเป็นผลดีต่อการผลิตไบโอดีเซลที่จะลดปริมาณผลิตภัณฑ์พลอยได้ ลดของเสียที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมต่ำลง

Fig1

รศ.ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ ผศ.ดร.อนุสิทธิ์ ธนะพิมพ์เมธา และดร.เมธี สายศรีหยุด จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้นำกลีเซอรอลเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลใช้เพาะเลี้ยงเชื้อ Escherochia coli BL21 (DE3) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสังเคราะห์กรดอะมิโน แอล-ฟีนิลอะลานีน ได้ และกลีเซอรอลดิบที่ความเข้มข้น 30 กรัมต่อลิตรทำให้ได้ปริมาณแอล-ฟีนิลอะลานีนมากที่สุด ซึ่งจากผลการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตกรดอะมิโนและผลิตภัณฑ์ที่มีสารตั้งต้นเป็นแอล-ฟีนิลอะลานีนจากกลีเซอรอลดิบที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพต่อไปได้ สนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ รศ.ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมชีวกระบวนการ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 02 797 0999 ต่อ 1203, 1204 email: fengpjs@ku.ac.th

 

 

เรียบเรียง : นายวิทวัส ยุทธโกศา ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. 

e-mail : rdiwwy@ku.ac.th Tel. 0-2561-1474

ข้อมูล: รศ.ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ ผศ.ดร.อนุสิทธิ์ ธนะพิมพ์เมธา และอ.ดร.เมธี สายศรีหยุด

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์