รายการวิทยุ เรื่อง “การปลูกและเกี่ยวกับมันฝรั่ง “

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 27  เดือน  ธันวาคม  พ.ศ. 2557

เรื่อง การปลูกและเกี่ยวกับมันฝรั่ง

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………….……………………………………

 -เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

        คุณผู้ฟังครับ ใกล้ช่วงปีใหม่กันแล้วนะครับ เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความสุข เดือนแห่งงานเลี้ยงสังสรรค์ ปีใหม่นี้หลายคนอาจมีแผนไปเที่ยวหรือกลับบ้านเกิดตามภูมิลำเนา เพื่ออยู่กับครอบครัวอันเป็นที่รัก กระผมขออวยพรให้คุณผู้ฟังมีความสุขกายสุขใจในปีหน้าและปีต่อๆไป วันนี้ก็อีกเช่นเคยนะครับ กระผมก็มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจมาฝาก เป็นผลงานเรื่อง มันฝรั่ง เป็นพืชเศรษฐกิจที่เราทุกต้องเคยรับประทานกันและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีครับ

มันฝรั่ง เป็นพืชล้มลุกนะครับ อยู่ในตระกูล  พริก มะเขือ  มะเขือเทศ  ยาสูบ  ลักษณะลำต้นตรง  จะแตกกิ่งก้านมีความสูงอยู่ระหว่าง  50 – 100   เซนติเมตร  ขึ้นอยู่กับลักษณะประจำพันธุ์  ลำต้นโดยทั่วไป เมื่อตัดตามขวางจะกลวงและเป็นรูปสามเหลี่ยม  ใบเป็นแบบใบประกอบ ซึ่งประกอบด้วย   ใบยอด  และ ใบย่อย  ดอกจะมีสีขาว หรือสีม่วงอ่อนจนถึงม่วงเข้ม   ขึ้นอยู่กับพันธุ์ครับ    หัวมันฝรั่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของลำต้น ทำหน้าที่สะสมอาหารและขยายพันธุ์  ผิวของหัวมันฝรั่งจะมีรูเล็ก ๆ  ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจของหัวและถ่ายเทอากาศ  หัวมันฝรั่งจะขยายใหญ่ขึ้นหากปลูกมันฝรั่งในสภาพดินที่ชื้น   ซึ่งทำให้หัวมันฝรั่งที่เก็บเกี่ยวจะไม่สวย   นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเข้าสู่ภายในหัวได้ง่ายด้วยครับ คุณผู้ฟังครับที่หัวมันฝรั่งจะมีตา  แต่ละตาจะแตกหน่อและเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไป   จำนวนของตาต่อหัวขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพความอุดมสมบูรณ์ของหัว    หัวมันฝรั่งเป็นส่วนหนึ่งของลำต้นทำหน้าที่สะสมอาหารและขยายพันธุ์  บางครั้งหัวมันฝรั่งอาจเกิดขึ้นที่จุดต่อระหว่างใบและลำต้นในกรณีที่ใบไม่สามารถส่งอาหารไปเก็บไว้ที่หัวมันฝรั่งได้  เนื่องจากท่ออาหารถูกทำลายซึ่งเกิดขึ้นได้ในระหว่างการพูนโคน  การกำจัดวัชพืชหรือถูกเชื้อโรคและแมลงเข้าทำลายในส่วนของลำต้นครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ มันฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทย  มีสองประเภทด้วยกันครับ นั่นคือ พันธุ์ที่ใช้บริโภคสดและพันธุ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป  ซึ่งได้แก่  พันธุ์สปุนต้า  เป็นพันธุ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์  เจริญเติบโตเร็วทรงต้นสูง  โคนต้นมีสีม่วง  ดอกสีขาว  ลักษณะหัวยาวใหญ่  ตาตื้น  ผิวสีเหลืองเรียบ  เนื้อในสีเหลือง  พันธุ์นี้เมื่อเก็บไว้นาน  ๆ  หัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่เกือบดำ  ต้านทานแล้งได้ดีพอสมควร  ใช้ในการบริโภคสดได้ครับ

ส่วนพันธุ์เคนนีเบค  เป็นพันธุ์จากสหรัฐอเมริกาและมีการผลิตหัวพันธุ์จำหน่ายในหลายประเทศด้วยกัน  อย่างเช่น  แคนาดา  เนเธอร์แลนด์  ออสเตรเลีย  นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในปี  พ.ศ.  2521  โดยบริษัทแปรรูปมันฝรั่ง  ใช้เป็นพันธุ์ที่ใช้ในการแปรรูปเท่านั้นครับ  

พันธุ์แอตแลนติค เป็นพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา  มีการผลิตพันธุ์จำหน่ายในหลายประเทศ  อายุการเก็บเกี่ยวปานกลาง  มีทรงพุ่มหนาใบสีเขียวเข้ม   ค่อนข้างใหญ่  รูปร่างหัวกลม  ค่อนข้างเล็ก เนื้อมีสีขาวนะครับ  คุณภาพในการแปรรูปอยู่ในขั้นดี  ปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่มีการปลูกมากที่สุดในประเทศไทยครับ

             คุณผู้ฟังครับ สภาพการปลูกมีผลมากในการให้ผลผลิตของมันฝรั่ง   ประเทศแถบหนาว    ผลผลิตจะสูงกว่าประเทศทางแถบร้อน  เนื่องจากมีสภาพแวดล้อม  เช่น  อุณหภูมิ  ความยาวของวันที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการสร้างหัวของมันฝรั่ง

             คุณผู้ฟังครับ อุณหภูมิเป็นปัจัยที่สำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของมันฝรั่ง มันฝรั่งจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดฤดูปลูกระหว่าง  15 – 18  องศาเซลเซียส  ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า  21  องศาเซลเซียส   ในระยะเริ่มสร้างหัวจะทำให้ผลผลิตลดลง  และผลผลิตจะต่ำลงอย่างมาก เมื่ออุณหภูมิสูงถึง  30  องศาเซลเซียส   แต่ถ้าอุณหภูมิในช่วงเวลากลางคืนไม่เกิน  20  องศาเซลเซียส  จะทำให้ผลผลิตของมันฝรั่งสูงขึ้นแต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

                        ในประเทศไทยควรปลูกมันฝรั่งช่วงต้นฤดูหนาว  คือ  ในเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคมในบริเวณพื้นที่ราบต่ำของจังหวัดเชียงใหม่  เพื่อให้ระยะการสร้างหัวของมันฝรั่งมีอุณหภูมิพอเหมาะในช่วงกลางฤดูหนาว    จะทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่าในช่วงอื่น  สำหรับนอกฤดูปลูกเกษตรกรจะปลูกมันฝรั่งบนที่สูงจากระดับน้ำทะเล  1,200 – 1,500    เมตร  ซึ่งสามารถปลูกได้เกือบตลอดปี  เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำ  แต่ควรเลือกช่วงปลูกในระยะที่มีฝนตก  เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก

                        มันฝรั่งจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดี  และดินที่เหมาะสมในการปลูกมันฝรั่ง คือ ดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายระดับความเป็นกรด – ด่างของดินที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง  5.5 – 6.5  ดินเหนียวไม่เหมาะแก่การปลูกมันฝรั่ง  เพราะการถ่ายเทอากาศในดินไม่ดีทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างหัวและการเจริญเติบโตของหัวมันฝรั่ง

                        การเตรียมดินสำหรับปลูกมันฝรั่งเป็นสิ่งสำคัญ  ต้องมีการเตรียมดินให้ดีเนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชหัว  ถ้าหากเตรียมดินไม่ดีจะทำให้การลงหัวไม่ดี  ผลผลิตที่ได้จะต่ำ  การเตรียมดินควรไถดินให้ลึกแล้วตากดินไว้  1 – 2  สัปดาห์  เพื่อให้ดินแห้งการไถพลิกดินควรไถประมาณ  2 – 3  ครั้ง  เมื่อดินแห้งดีแล้วควรทำการพรวนย่อยอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นทำแปลงปลูกโดยแยกเป็นแปลง ๆ    ขนาดกว้าง  1 เมตร แปลงสูง 20 – 30  เซนติเมตร  ปลูกได้ 2 แถว  การใส่ปุ๋ยคอกลงในดินจะทำให้ดินร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดีขึ้น  โดยใส่ลงในแปลงแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันกับดิน  ดินควรจะมีความชื้นพอควร  ถ้าดินแห้งเกินไปควรมีการให้น้ำ  แต่อย่าให้แฉะจนเกินไป

-เพลงคั่นรายการ-

             คุณผู้ฟังค่ะ เกษตรกรในเมืองไทยนิยมปลูกมันฝรั่งโดยการผ่าหัวเพื่อประหยัดหัวพันธุ์  เนื่องจากหัวพันธุ์ที่สั่งจากต่างประเทศมีราคาแพงและการใช้หัวพันธุ์ขนาดใหญ่  ปลูกจะทำให้สิ้นเปลืองหัวพันธุ์มาก  เช่น  ในเนื้อที่ปลูก 1 ไร่  อาจจะใช้หัวพันธุ์ถึงประมาณ  400   กิโลกรัม  แต่ถ้าทำการผ่าหัวแล้วจะใช้หัวพันธุ์เพียง   100 – 150  กิโลกรัม   เท่านั้น

                        โดยปกติต้นมันฝรั่งจะงอกขึ้นมาภายหลังการปลูกระหว่าง  10 – 20  วัน  เมื่อมันฝรั่งมีลำต้นสูงประมาณ  15 – 30 เซนติเมตร   ควรทำการพูนโคนกลบครั้งแรก โดยพูนดินระหว่างแถวยกขึ้นมาเป็นร่อง  กลบโคนต้น  เพื่อให้หัวที่จะสร้างขึ้นมาใหม่บริเวณโคนต้นเจริญเติบโตอยู่ภายในดิน  เพราะถ้าหัวโผล่พ้นดิน และถูกแสงแดดจะทำให้ผิวเป็นสีเขียวและไม่เจริญเติบโต

                        การพูนโคนครั้งที่สองหลังจากการพูนโคนครั้งแรกประมาณ 15 วัน  คือเมื่อต้นอายุได้ประมาณ  30 – 40 วัน ควรพูนดินกลบโคนต้นสูงประมาณ  20 – 25 เซนติเมตรเหนือระดับผิวดิน  ควรทำในช่วงระยะที่มันฝรั่งเริ่มสร้างหัวไม่ควรทิ้งไว้นาน เพราะจะกระทบกระเทือนต่อไหลใต้ดิน  ทำให้ผลผลิตลดลงได้ 

                        การพูนโคนนั้นนอกจากจะช่วยไม่ให้ผิวมันฝรั่งถูกแสงแล้ว ยังช่วยให้ลงหัวได้มาก  ถ้าดินแห้งมากควรจะยกร่องก่อน และขุดหลุมปลูกไปบนร่อง และควรปลูกให้ลึกกว่าปกติ ประโยชน์ของการพูนโคนอีกอย่างหนึ่งคือ  สามารถให้น้ำแบบร่องได้อีกด้วยครับ

                        คุณผู้ฟังค่ะ  การปลูกมันฝรั่งจำเป็นจะต้องมีการบำรุงดูแลที่ดี เช่น การใส่ปุ๋ย  ควรมีการให้ปุ๋ยสูตร  15 – 15 – 15  หรือ  13 – 13 – 21  ในอัตรา  100 – 120  กิโลกรัมต่อไร่  ครั้งแรกจะใส่ในระยะเตรียมดินหรือใส่ในระยะที่ทำการพรวนดิน  เพื่อทำการกำจัดวัชพืช  และพูนโคนครั้งแรกก็ได้   โดยใส่ตามระหว่างต้นและระหว่างแถว  แล้วพูนดินกลบโคนไปในตัวส่วนครั้งที่สอง  จะใส่เมื่อมีการพูนโคนครั้งที่ 2   สิ่งที่ควรคำนึงในการใส่ปุ๋ยมันฝรั่งอีกประการหนึ่ง คือ การขาดธาตุแมกนีเซียม  ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่มีการใส่ในอัตรา  5 – 8 กิโลกรัมต่อไร่  ในการปลูกมันฝรั่งในต่างประเทศ

                        สิ่งที่ควรคำนึงในการใส่ปุ๋ยมันฝรั่งอีกประการหนึ่ง คือ  การขาดธาตุแมกนีเซียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่มีการใส่ในอัตรา  5 – 8  กิโลกรัม  ต่อไร่  ในการปลูกมันฝรั่งในต่างประเทศ

                         เมื่อจะเริ่มทำการปลูกถ้าดินแห้งเกินไปควรทำการให้น้ำก่อนปลูก  3 – 5  วัน  เพื่อให้ดินมีความชื้นเพียงพอที่จะทำการปลูกได้  มันฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ  ถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้หัวมันชะงักการเจริญเติบโต  การให้น้ำแบบร่องจะทำให้มันฝรั่งได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อย  ไม่ควรให้น้ำมากเกินไปจนแฉะเพราะจะทำให้เกิดโรคในดิน  หัวมันฝรั่งเน่าได้ง่ายและทำให้ผิวของหัวไม่สวย  และเกิดเป็นรูเล็ก ๆ ทั่วบริเวณผิวของหัวมันฝรั่ง

                        ควรมีการพรวนดินกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอในระยะแรก เพื่อควบคุมการแข่งขันของวัชพืช  ปกติจะทำควบคู่ไปกับการพูนโคนและการให้ปุ๋ย ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

                        คุณผู้ฟังครับ อายุการเก็บเกี่ยวหัวมันฝรั่งนั้น ขึ้นอยู่กับพันธุ์  อายุการเก็บเกี่ยวของพันธุ์สปุนต้า คือ  100 – 120 วัน พันธุ์เคนนีเบคและพันธุ์แอตแลนติก มีอายุเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกับพันธุ์สปุนต้าด้วยครับ

                        คุณผู้ฟังควรทำการเก็บเกี่ยวหัวมันฝรั่งที่แก่เต็มที่ โดยสังเกตได้จากการที่ลำต้นเริ่มล้มและเอนทาบไปกับดิน ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองประมาณ 10 – 15  เปอร์เซ็นต์  และใบจะเริ่มเหลืองจากด้านล่างขึ้นมา  ควรทำการตัดต้นก่อนขุด  7 – 10  วัน  เพื่อให้ผิวของหัวมันฝรั่งแข็งแรงไม่ถลอกและสามารถทนทานต่อการเกิดบาดแผลได้ในระหว่างการเก็บเกี่ยว และการขนส่ง อีกประการสำคัญ คือ สามารถเก็บรักษาได้นานกว่ามันฝรั่งที่เก็บเมื่อยังอ่อนอยู่  เวลาขุดควรทำด้วยความระมัดระวัง ถ้าหัวมันฝรั่งเกิดบาดแผล  จะทำให้เน่าง่าย  เมื่อเก็บรักษาในโรงเก็บ  และทำให้หัวดีพลอยเน่าไปด้วยการเก็บมันฝรั่งเข้าโรงเก็บจึงควรคัดเลือกหัวที่เสียหายออก  เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วควรนำเข้าที่ร่มในทันทีครับ  ไม่ควรปล่อยให้หัวมันฝรั่งถูกแดดเป็นเวลานานเพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเน่า ในระยะหลังการเก็บเกี่ยวได้

                        จุดมุ่งหมายในการเก็บรักษามันฝรั่งก็คือ  ทำให้มีการสูญเสียต่ำที่สุด ซึ่งการสูญเสียหลังจากการเก็บเกี่ยวนั้นหมายถึง  การสูญเสียทั้งปริมาณและคุณภาพ  ซึ่งสาเหตุการสูญเสียได้แก่  การปฏิบัติที่มีผลกระทบแก่หัวมันฝรั่งโดยตรง  สาเหตุมาจาก  เครื่องมือที่เก็บเกี่ยว  การปฏิบัติในระหว่างและหลังการเก็บเกี่ยว เช่น  การขนมันฝรั่งเข้าจากแปลงถึงโรงเก็บ    การกระทบกระเทือนทางอ้อม เป็นการสูญเสียคุณภาพของหัวมันฝรั่ง เช่น การทิ้งหัวมันฝรั่งไว้กลางแจ้งที่มีแสงแดดจัด  ซึ่งทำให้ผิวของมันฝรั่งเป็นสีเขียวและเซลล์ที่หัวตายเน่าได้ง่าย การเก็บมันฝรั่งที่อายุอ่อนเกินไปทำให้อัตราการหายใจของมันฝรั่งสูง เกิดความร้อนในระหว่างการเก็บรักษา ผิวถลอกติดเชื้อโรคได้ง่าย    การสูญเสียจากโรคและแมลงศัตรู  เช่น  การเกิดโรคจากเชื้อรา  แบคทีเรียและไวรัส  การทำลายของแมลงต่าง ๆ เช่น  หนอนผีเสื้อ  เสี้ยนดิน  หนอนกระทู้

                         และการป้องกันการสูญเสียในการเก็บหัวมันฝรั่ง  นั้นเป็นสิ่งจำเป็น  คือ ควรเก็บเกี่ยวมันฝรั่งด้วยความระมัดระวัง  เก็บหัวมันฝรั่งที่มีอายุแก่จัดเพราะจะกระทบกระเทือนต่อการเก็บเกี่ยวน้อย เราควรเลือกหัวมันฝรั่งที่ดี  แห้งและไม่มีดินติด ไม่เปียกและไม่ถูกแสงแดดในการเก็บเกี่ยว    ควรทำการผึ่งหัวมันฝรั่งก่อนนำเข้าโรงเก็บ  โดยผึ่งหัวมันฝรั่งในที่ร่มระบายอากาศได้ดีนาน  7 – 15  วัน  และควรทำทันทีหลังการเก็บเกี่ยว   ควรลดอุณหภูมิในโรงเก็บมันฝรั่ง   โรงเก็บรักษาหัวมันฝรั่ง  ควรถูกสุขลักษณะปราศจากเชื้อโรค  โดยใช้ยาฆ่าเชื้อโรคพ่นในโรงเก็บก่อนนำมันฝรั่งเข้าเก็บ

                        สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเก็บรักษามันฝรั่ง คือ อุณหภูมิภายในกองมันฝรั่งไม่ควรสูงเกินไป  เพราะจะทำให้เกิดการเน่าในโรงเก็บได้  เนื่องจากหัวมันฝรั่งมีการหายใจเมื่ออุณหภูมิสูง  จะทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้นดังนั้นควรมีการลดอุณหภูมิในโรงเก็บมันฝรั่ง ถ้าความชื้นในอากาศสูง  และอุณหภูมิก็สูงด้วยจะทำให้หัวมันฝรั่งที่เป็นแผลจะหายช้ากว่าปกติ  และเป็นเหตุให้เชื้อราหรือแบคทีเรียเข้าทำลายหัวมันฝรั่งได้ง่าย เน่าเสียหายได้เร็ว   เมื่อหัวมันฝรั่งถูกแสง  จะทำให้หัวมันฝรั่งสร้างคลอโรฟิลล์และผิวจะเป็นสีเขียวทำให้คุณภาพของหัวมันฝรั่งต่ำลง  และเป็นพิษต่อผู้บริโภคด้วย   หลักการในการปรับปรุงสภาพในโรงเก็บมันฝรั่ง  คือ  ใช้อากาศเย็นจากภายนอกเข้ามาทำให้อุณหภูมิภายในโรงเก็บต่ำลง  รักษาอุณหภูมิภายนอกและภายในกองมันฝรั่งให้เท่ากันโดยเก็บเป็นชั้นบาง ๆ  หลีกเลี่ยงไม่ให้หัวมันฝรั่งถูกแสงแดดโดยตรง โรงเก็บควรมีการถ่ายเทอากาศดี  และพยายามให้แสงสว่างกระจายสม่ำเสมอ  ก็จะทำให้หัวมันฝรั่งมีคุณภาพดี        

                        คุณผู้ฟังเวลาสำหรับรายการ  “  จากแฟ้มงานวิจัย  มก. “  ในวันนี้ได้หมดเวลาลงแล้ว  พบกับรายการนี้ได้ใหม่   ทางสถานีวิทยุ  มก. แห่งนี้  สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

 

………………………………………………………………………………