มันสำปะหลังห้วยบง 60

HB60-2

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546

ประวัติการพัฒนาพันธุ์

      มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60  เป็นพันธุ์มันสำปะหลังที่พัฒนาโดยความร่วมมือของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย  มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60  เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์ระยอง 5  และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  เริ่มในปี พ.ศ. 2534  โดยมีรหัสชื่อเดิมคือสายพันธุ์ MKUC 34-114-206  และเข้าสู่ขบวนการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยการคัดเลือกพันธุ์ตั้งแต่  พ.ศ. 2535-2540  และทำการทดสอบพันธุ์ใน พ.ศ. 2541-2544   ในท้องที่  10  จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมาก  ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา  ชัยภูมิ  ขอนแก่น  ชลบุรี  ฉะเชิงเทรา  ปราจีนบุรี  สระแก้ว  จันทบุรี  ระยอง  และกาญจนบุรี  รวมจำนวน  30  การทดลอง  ผลการทดสอบพันธุ์พบว่า พันธุ์ห้วยบง 60  ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย  5,750  กิโลกรัมต่อไร่  โดยมีปริมาณแป้งในหัวเฉลี่ย  25.4%  ผลผลิตหัวสดเฉลี่ยที่ได้สูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  ที่เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดในประเทศในขณะนั้นอยู่ 7% และมีปริมาณแป้งในหัวสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 อยู่เล็กน้อย นอกจากนั้นพันธุ์ห้วยบง 60 ยังมีเสถียรภาพของผลผลิตและปริมาณแป้งในหัวสูง สามารถปลูกได้ทั่วไปในเขตปลูกมันสำปะหลัง  สามารถสกัดแป้งจากหัวสดได้มาก แป้งมีสีขาวและมีความหนืดสูง  เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  นอกจากนั้น ยังเป็นพันธุ์ที่งอกดี  ลำต้นสูงใหญ่  สามารถคลุมวัชพืชได้ดี  อีกทั้งยังมีความต้านทานโรคใบจุดได้ดี 

     มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์ว่า “ห้วยบง 60”  จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  องค์ราชูปถัมภ์ของมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม  2546

HB60-3

HB60-1   HB60-4

 

มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ให้หัวใหญ่ ดก และผลผลิตสูง                                                                                                       

 

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ในจังหวัดชลบุรี 80 ไร่ ขุดเดือนกันยายน 2545 (อายุ 11 เดือน)ให้ผลผลิตเฉลี่ย6.3 ตัน/ไร่ และแป้ง 27%   

ลักษณะประจำพันธุ์

สีของลำต้น          สีเขียวเงิน

สีของใบแรกที่เจริญเติบโต   สีเขียวปนม่วง

สีของก้านใบ         สีเขียวอมม่วง  

สีของยอดอ่อน        สีม่วงอ่อนและไม่มีขน

ความสูงต้น          1.8 – 2.5  เมตร

จำนวนแตกกิ่ง        ค่อนข้างมาก

ระดับการแตกกิ่งแรก     สูงประมาณ  90-140  เซ็นติเมตร

สีของเปลือกหัว       สีน้ำตาลอ่อน

สีของเนื้อหัว         สีขาว

ผลผลิต           5.0 – 6.4  ตัน/ไร่

ปริมาณแป้งในหัว       ประมาณ  25.4  เปอร์เซ็นต์

อายุการเก็บรักษาท่อนพันธุ์   30  วัน

ผู้พัฒนาพันธุ์ :  วิจารณ์ วิชชุกิจ  ปิยะวุฒิ พูลสงวน เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์               เอ็จ สโรบล  จำลอง เจียมจำนรรจา   ปิยะ  กิตติภาดากุล                ประภาส  ช่างเหล็ก  นิพนธ์  ทวีชัย   กล้าณรงค์  ศรีรอต                                   และเกื้อกูล  ปิยะจอมขวัญ

หน่วยงาน      : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

        มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60  มีลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  คือ มีลำต้นสีเขียวเงิน  ก้านใบสีเขียวอมม่วง และเนื้อหัวมีสีขาว ส่วนเปลือกหัวมีสีน้ำตาล ความแตกต่างที่สามารถสังเกตได้ของพันธุ์ห้วยบง 60  คือ  ยอดจะมีสีม่วงอ่อนกว่าและแตกกิ่งมากกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  โดยเฉลี่ยแล้วจะแตกกิ่งแรกที่ความสูงระดับ 90 – 140 เซนติเมตร  นอกจากนี้พันธุ์ห้วยบง 60  ยังมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่แป้งที่ละลายน้ำได้ (เช่น น้ำตาล) ในปริมาณต่ำ  ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณแป้งต่อหัวมาก  เพราะการมีน้ำตาลมากจะทำให้แป้งที่จะสกัดได้จากหัวมันสำปะหลังลดลง และแป้งที่ได้จะมีความหนืดสูง จึงสามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลายชนิด   อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่าง  ๆ  ร่วมกันขยาย   และส่งเสริมพันธุ์ห้วยบง 60  ในช่วงปีพ.ศ.2545-2547  โดยแจกจ่ายให้เกษตรกรไปประมาณ  10,000 ราย จำนวน 13.5 ล้านต้ น ซึ่งสามารถปลูกได้ประมาณ  50,000 ไร่  ช่วยเพิ่มผลผลิตเป็นมูลค่าประมาณ  100  ล้านบาท/ปี  และคาดว่าภายในปี  2551  จะมีพื้นที่ปลูกพันธุ์นี้ประมาณ  1.625  ล้านไร่  และจะเป็นการเพิ่มเงินให้เกษตรกรประมาณปีละ  890 – 1,000  ล้านบาท

รางวัลที่ได้รับ

  1. รางวัลดีเยี่ยม ผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี  2549  จากสภาวิจัยแห่งชาติ
  2. รางวัลชมเชยสาขาพืช ในการประชุมวิชาการครั้งที่  41 ปี พ.ศ.2547   โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  3. รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านเทคโนโลยี ปี 2546 ในวาระ  25  ปี  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์