มันสำปะหลังพันธุ์ศรีราชา 1 : มันสำปะหลังพันธุ์แรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รูปมันสำปะหลังศรีราชา

ประวัติการพัฒนาพันธุ์ 

     มันสำปะหลังพันธุ์ศรีราชา 1  มีชื่อเดิมคือ สายพันธุ์ MKUC 27-3-23  (M ย่อมาจากชื่อวิทยาศาสตร์ของมันสำปะหลัง Manihot   KU   คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  C คือ cross pollination 27 คือปีพ.ศ. ที่เริ่มคัดเลือก  3 คือคู่ผสมที่ และ23 คือต้นที่) เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ MKU 2-162  กับพันธุ์ระยอง 1  มันสำปะหลังพันธุ์ศรีราชา 1  ได้จากการพัฒนาโดยการผสมและคัดเลือกพันธุ์ที่สถานีวิจัยศรีราชาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ตั้งแต่ พ.ศ.2526  แล้วทำการปลูกคัดเลือกและเปรียบเทียบพันธุ์โดยโครงการแม่บทพืชหัวตั้งแต่ พ.ศ.2527 – 2533  จำนวน  31  การทดลอง  และส่งร่วมทดสอบพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตรอีก  13  การทดลอง รวมท้องที่ที่ทดสอบใน  10  จังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ศรีราชา 1 

     มันสำปะหลังพันธุ์ศรีราชา 1 มีคุณสมบัติให้ผลผลิตหัวสดใกล้เคียงกับพันธุ์ระยอง 1  แต่มีปริมาณแป้งในหัวสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1  โดยเฉลี่ย 4%  ผลผลิตแป้งและผลผลิตน้ำหนักแห้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1  ประมาณ  26  และ  14%  ตามลำดับ  ลักษณะดังกล่าวช่วยให้เกษตรกรได้ราคาของหัวพันธุ์ศรีราชา 1 สูงกว่าพันธุ์ระยอง 1  เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ระยอง 3 แล้ว  พันธุ์ศรีราชา 1 ให้ผลผลิตหัวสด  หัวแห้ง  และผลผลิตแป้งในหัวสูงกว่าพันธุ์ระยอง 3  มีปริมาณแป้งในหัวใกล้เคียงกัน  และเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ระยอง 60  แล้วพันธุ์ศรีราชา 1 ให้ผลผลิตหัวสดต่ำกว่าเล็กน้อย  แต่ปริมาณแป้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 60 อยู่ 3%  เมื่อวิเคราะห์ค่าเสถียรภาพ (stability) ของพันธุ์ต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ พบว่าพันธุ์ศรีราชา 1 มีเสถียรภาพ (stable) ในลักษณะผลผลิตน้ำหนักแห้งและปริมาณแป้งในหัวมากกว่าพันธุ์ระยอง 1  เมื่อพิจารณาผลผลิตและลักษณะต่าง ๆ ที่อายุ 3 – 12 เดือน  พันธุ์ศรีราชา 1 ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งและปริมาณแป้งในหัวสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1  และระยอง 60 ทุกอายุที่ทดสอบ   การทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยพบว่าพันธุ์ศรีราชา 1  ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งสูงกว่าพันธุ์ระยอง 1  และระยอง 60 ที่ทุกระดับปุ๋ย  นอกจากนั้นพันธุ์ศรีราชา 1 ยังงอกดี  ต้นสูง  แตกกิ่งน้อย  ทั้งลักษณะพฤกษศาสตร์อื่น ๆ ก็ใกล้เคียงกับพันธุ์ระยอง 1

ปรับศรีราชา1 หัว

 ลักษณะประจำพันธุ์

สีของลำต้น    สีเขียวเงิน          ปรับศรีราชา1 ต้น
สีก้านใบ  สีเขียวปนม่วง
สียอดอ่อน สีเขียวปนม่วง
ความสูงต้น  2.31  เมตร
ระดับการแตกกิ่งแรก สูงประมาณ  1.70  เมตร
จำนวนแตกกิ่ง น้อย
สีของเปลือกหัว สีขาวนวล
สีของเนื้อหัว สีครีม
ปริมาณแป้งในหัว  ประมาณ  21.9  เปอร์เซ็นต์ 
ลักษณะเด่น 

สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่

มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ข้อจำกัด 

ปริมาณแป้งในหัวไม่สูงมาก

เนื้อในหัวเป็นสีครีม

ผู้พัฒนาพันธุ์  : เจริญศักดิ์  โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์  ปิยะวุฒิ  พูลสงวน  สมยศ  พุทธเจริญ               จำลอง เจียมจำนรรจา  ธีรวัฒน์ กษิรวัฒน์ วิจารณ์  วิชชุกิจ  เอ็จ  สโรบล             ปิยะ  ดวงพัตรา  นิพนธ์  ทวีชัย

หน่วยงาน    :  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์