มันสำปะหลัง : พัฒนาการงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 รูปมันสำปะหลังศรีราชา      

      ก่อนปี พ.ศ. 2518  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่เดิม ไม่มีนักวิจัยที่รับผิดชอบงานพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังโดยตรง จนกระทั่ง ผศ.ดร.บรรเจิด บุญซื่อ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเกษตรในช่วงปีพ.ศ.2517-2521 ได้เล็งเห็นว่าในปีพ.ศ. 2518 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับ 4 ของประเทศ รองจากข้าว ข้าวโพด และน้ำตาล โดยมีมูลค่าส่งออกในขณะนั้นประมาณ 4,600 ล้านบาท และมีพื้นที่ปลูก ประมาณ 3.7 ล้านไร่ ผศ.ดร.บรรเจิด บุญซื่อ จึงได้ดำเนินการขอทุนจากศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ (Centro International de Agricultura Tropical, CIAT) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ เพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัย ฯ 3 คน เดินทางไปฝึกงาน กล่าวคือ ภาควิชาพืชไร่นา ส่ง ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ (ในขณะนั้นเพิ่งจบ ปริญญาโท) และ รศ.ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ (ในขณะนั้นเพิ่งจบปริญญาตรี) ส่วนภาควิชาโรคพืช ส่ง ผศ.ดร.ธนาคร จารุพัฒน์ (ขณะนั้นเพิ่งจบปริญญาโท) และเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้นำเมล็ดมันสำปะหลังลูกผสมพันธุ์ต่างๆ จำนวน 8,000 เมล็ดเข้ามาเพื่อใช้เป็นเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ต่อไปด้วย

      ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 คณะวิจัยได้เริ่มดำเนินการที่สถานีวิจัยศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ระยะเริ่มแรก ยังเป็นสถานีฝึกนิสิตศรีราชา สังกัดคณะเกษตรและได้โอนมาเป็นสถานีวิจัยศรีราชา สังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมก. ในปีพ.ศ.2521 ) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฯจำนวน 3 โครงการ โครงการละประมาณ 15,000 บาท  ณ สถานีวิจัยแห่งนี้ คณะนักวิจัย ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหัวหน้าสถานีวิจัยขณะนั้นคือ ผศ.พลทิพย์ โกมาลกุล ณ อยุธยา และผู้ช่วยหัวหน้าสถานี อ.จำลอง เจียมจำนรรจา  และจากนั้น งานพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้เริ่มต้นขึ้น

       ในช่วงปีพ.ศ. 2520-2522 ได้ทำการคัดเลือกพันธุ์ได้ลูกผสมที่ดีเด่น 16 พันธุ์ จึงนำไปเปรียบเทียบกับผลผลิตในช่วงปี 2523-2525  งานปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ดำเนินมาเรื่อยๆแม้จะไม่ต่อเนื่องนัก เพราะนักวิจัยมีภาระงานสอนมาก และ ในช่วงปีพ.ศ. 2522-2526 เป็นช่วงที่ อ.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ ได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอก   จนปีพ.ศ. 2526 CIAT  ได้มาตั้งสำนักงานในประเทศไทย โดยมีดร.คาซูโอ คาวาโน (Kazuo Kawano) เป็นตัวแทนประสานงานวิจัยกับประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย ขณะเดียวกันสถานีวิจัยศรีราชาได้บรรจุนักวิชาการเกษตร 2 อัตรา คือ นายสมยศ พุทธเจริญ และนายปิยะวุฒิ พูลสงวน  ทีมวิจัยมันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเข็มแข็งขึ้นเป็นกำลังหลักของการดำเนินงาน 

       ปี 2533-3536 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอนุมัติในหลักการจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนสถานะ “สถานีวิจัยศรีราชา” เป็น “วิทยาลัยชุมชนศรีราชา” และปี 2537-2541   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนโยบายปรับเปลี่ยนการบริหารงานและรูปแบบการดำเนินงานของ “วิทยาลัยชุมชนศรีราชา” ให้เป็น “โครงการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา”  จนในเดือนเมษายน 2542 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศเป็นเขตการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฯ งานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ศรีราชา จึงขาดช่วงไประยะหนึ่ง       การดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังในระยะต่อมา จึงย้ายมาที่สถานีวิจัยเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และสถานีวิจัยกาญจนบุรี โดยนักวิจัยกลุ่มหนึ่งยังคงดำเนินงานต่อมา อาทิ ดร.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ ดร.เอ็จ สโรบล ดร.ปิยะ ดวงพัตรา นายประภาส ช่างเหล็ก และนายสกล ฉายศรี

 

 ผลงานพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พันธุ์มันสำปะหลัง ผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียงลำดับตามระยะเวลา ดังนี้

มันสำปะหลังพันธุ์ศรีราชา1 

มันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50

มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60

มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 80

มันสำปะหลังพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 72

4