มันสำปะหลัง : การวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังในประเทศไทย

28

มันสำปะหลังนับเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ที่สำคัญของประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี  ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลกมาอย่างต่อเนื่อง  ความสำเร็จนี้ เป็นผลที่เกิดจากการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ภาครัฐ และภาคเอกชน

การค้ามันสำปะหลังและอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเกิดขึ้น นับตั้งแต่เริ่มมีการปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออกในจังหวัดชลบุรี และระยอง เนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะสม เป็นพื้นที่ดอน ค่อนข้างเป็นดินทราย ไม่มีน้ำขัง มันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตได้ดี  จึงเป็นแหล่งตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปแป้งมันสำปะหลังในระยะแรก

ปี พ.ศ. 2492 เป็นปีแรกที่เริ่มปรากฏรายงาน ข้อมูลสถิติการปลูกมันสำปะหลังอย่างเป็นทางการในจังหวัดชลบุรี มีรายงานข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 102,000 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 307,000 ตัน เพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลังส่งจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ และการปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย ในช่วงแรกๆ มีหน่วยงานของรัฐดำเนินงานเป็นหลักอยู่ 2 หน่วยงาน คือสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร  และภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานในประเทศไทยที่ค้นคว้าและปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2498  เป็นต้นมา เริ่มมีการวิจัยทางด้านดิน-ปุ๋ย  โดยในช่วงแรกมีการตั้งสถานีทดลองพืชไร่ระยอง ของกรมวิชาการเกษตร    ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสถานีฝึกนิสิตเกษตรศรีราชา สังกัดคณะเกษตร   

ปีพ.ศ. 2508   กรมวิชาการเกษตร นำพันธุ์มันสำปะหลังจาก ศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ (Centro International de Agriculture Tropical, CIAT) ประเทศโคลัมเบีย และจากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาทำการคัดเลือก และผสมพันธุ์ เพื่อปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังในประเทศไทย

ปีพ.ศ.2525 สมาคมการค้ามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย  นำเข้าพันธุ์จากเวอร์จินไอร์แลนด์มาคัดเลือกและทดสอบพันธุ์

ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันดำเนินการวิจัยหรือให้การสนับสนุนและเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านต่างๆ จำนวนมาก อาทิ  มหาวิทยาลัยต่างๆ  กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช)  มูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย  และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง เช่นสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย เป็นต้น รวมทั้งทำหน้าที่ส่งเสริม แนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี ทดแทนมันสำปะหลังพันธุ์ดั้งเดิมมากขึ้นเป็นลำดับ อาทิ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ได้แนะนำพันธุ์ดีสู่เกษตรกร คือ

ปี 2534 แนะนำพันธุ์ระยอง 90

ปี 2535 แนะนำพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50

ปี 2537 แนะนำพันธุ์ระยอง 5

ปี 2542 แนะนำพันธุ์ระยอง 72

ปี 2546 แนะนำพันธุ์ห้วยบง 60

และปี 2548 แนะนำพันธุ์ระยอง 7 และระยอง 9  เป็นต้น

พันธุ์เหล่านี้ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนเป็นพันธุ์ที่ให้ทั้งผลผลิตหัวสดและเชื้อแป้งในหัวสดสูง เมื่อมีการนำพันธุ์ดีเหล่านี้ไปปลูกย่อมทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นด้วย 

พันธุ์มันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร  ส่วนใหญ่เป็นผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 1  พันธุ์ระยอง 3  พันธุ์ระยอง 60  พันธุ์ระยอง 90 พันธุ์ระยอง 5  พันธุ์ระยอง 72  พันธุ์ระยอง 7  พันธุ์ระยอง 9  พันธุ์ระยอง 11 เป็นต้น

ส่วนผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ พันธุ์ศรีราชา 1  พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  และพันธุ์ห้วยบง 60  พันธุ์ห้วยบง 80 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 72 ปี

อย่างไรก็ตาม งานปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ยังคงต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งการจะได้พันธุ์มันสำปะหลังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแต่ละพันธุ์มีกระบวนการซึ่งหน่วยงานที่ยื่นขอจะต้องแจกแจงรายละเอียด ถึงความเป็นมาของการพัฒนาพันธุ์ พร้อมทั้งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพันธุ์ที่ได้ทดสอบตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ดังนั้นในการสร้างมันสำปะหลังพันธุ์หนึ่ง ต้องใช้เวลามากกว่า 8 ปีขึ้นไปในการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงให้ได้พันธุ์ที่ดีมีคุณภาพและความต้านทาน รวมไปถึงการให้ผลผลิตสูง จึงจะทำการส่งเสริมไปยังเกษตรกร