มันสำปะหลัง : การจำแนกชนิดและสายพันธุ์มันสำปะหลัง

9.เกษตร50   13

มันสำปะหลังทั่วโลกมีทั้งหมดประมาณ 150 พันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกันไปโดยสามารถจำแนกตามลักษณะภายนอก ปริมาณของกรดไฮโดรไซยานิก  หรืออายุการเก็บเกี่ยว

– การจำแนกพันธุ์โดยใช้คุณลักษณะภายนอกหลายอย่างช่วยในการจำแนก  เช่น สีของใบอ่อน  สีก้านใบ สีลำต้น ขนที่ยอดอ่อน ลักษณะทรงต้น หูใบ เช่น  ในส่วนของก้านใบ พันธุ์ระยอง จะมีก้านใบสีแดง พันธุ์เกษตรศาสตร์ จะมีก้านใบสีเขียวอ่อนหรือสีขาว และห้วยบงจะมีก้านสองสี เนื่องจากห้วยบงเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ระยอง กับพันธุ์เกษตรศาสตร์ นอกจากนั้น รูปร่างของหัว สีของเปลือก และเนื้อจะแตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ เป็นต้น

– การจำแนกพันธุ์ตามปริมาณของกรดไฮโดรไซยานิกซึ่งเป็นส่วนประกอบทางสรีรวิทยา โดยแบ่งมันสำปะหลังออกเป็น 2 ชนิดตามปริมาณกรดไฮโดรไซยานิก คือ ชนิดขม(bitter cassava) ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งมันสำปะหลัง จะมีปริมาณกรดโฮโดรไซยานิคสูง และ ชนิดหวาน (sweet cassava) มีปริมาณกรดโฮโดรไซยานิกต่ำ

– การจำแนกตามอายุการเก็บเกี่ยว แบ่งออกได้เป็น 2 พวก คือ

  • Short season เป็นมันสำปะหลังที่จะเริ่มมีหัวแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 6 เดือน และไม่สามารถทิ้งไว้เกิน 9-11 เดือน ส่วนใหญ่เป็นพวก sweet cassava
  • Long season เป็นมันสำปะหลังที่จะแก่เมื่อมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และสามารถปล่อยทิ้งไว้ถึง 3-4 ปีได้ ส่วนใหญ่เป็นพวก bitter cassava

 

สำหรับประเทศไทยมีพันธุ์ของมันสำปะหลังที่ปลูกทั่วไปอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่

1.พันธุ์ชนิดหวาน (Sweet type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิก (HCN)ต่ำ เป็นพันธุ์ที่ใช้หัวเพื่อการบริโภคได้โดยตรง รสไม่ขม มีทั้งชนิดเนื้อร่วน นุ่มและชนิดเนื้อเหนียวแน่น นิยมนำมาเชื่อม ปิ้ง เผา ไม่มีการปลูกเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ เนื่องจากมีตลาดจำกัด  ในประเทศไทยมีพันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ พันธุ์ห้านาที และ พันธุ์ระยอง 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงขึ้น พันธุ์นี้สังเกตได้ที่ก้านใบมีสีแดงเข้ม ทั้งก้าน และเปลือกของหัวขรุขระ มีสีน้ำตาล หัวมักมีสีออกเหลือง

2.พันธุ์ชนิดขม (Bitter type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิก (HCN )สูงกว่าชนิดแรก และมีรสขมเนื้อหยาบ ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของมนุษย์หรือใช้หัวมันสดเลี้ยงสัตว์โดยตรง แต่เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งสูง จึงนิยมใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ เช่น แป้งมัน มันเส้น มันอัดเม็ด และแอลกอฮอล์     การแปรรูปเป็นอาหารโดยใช้ความร้อน เช่น ตากแดด เผาและต้ม สามารถจะทำให้ไซยาไนด์แตกตัวหมดไป  ทำให้รสขมลดลงได้  ในประเทศไทย พันธุ์ชนิดขม เป็นพันธุ์ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมนำไปแปรรูป เพื่อผลิตเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมัน และผลิตเอทานอลแอลกอฮอล์      ได้แก่ พันธุ์ระยอง 1  ระยอง 2  ระยอง 3  ระยอง 5  ระยอง 7  ระยอง 9   ระยอง 60  ระยอง 72  ระยอง 90  พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ พันธุ์ห้วยบง 60  ห้วยบง 80  ลักษณะประจำพันธุ์นี้ คือ ก้านใบมีสีเขียวอ่อนปนแดง หัวเรียบ มีสีขาว

3.พันธุ์ที่ใช้ประดับ  ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ต่างๆเพื่อความสวยงาม มีชื่อเรียกว่า มันด่าง เนื่องจากใบมีแถบสีขาวและเหลือง กระจายตามความยาวของใบ  และยังมีพันธุ์มันป่า ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงา  เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงใหญ่พบได้แบจังหวัดชลบุรี และระยอง