รายการวิทยุ เรื่อง “ถั่วเหลืองพืชที่น่าสนใจ”

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 5  เดือน เมษายน พ.ศ. 2557

เรื่อง  ถั่วเหลืองพืชที่น่าสนใจ

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 ……………………………………………………………….…………………………

 

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกม่านครับ  พบกับรายการ  “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก. ” ทางวิทยุ มก. แห่งนี้เป็นประจำทุกวันเสาร์ รายการนี้ผลิตโดย  ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา  เป็นผู้ดำเนินรายการครับ  และสำหรับวันนี้กระผมขอเสนอ เรื่อง  “ ถั่วเหลืองพืชที่น่าสนใจ”คุณผู้ฟังครับถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจตระกูลถั่วที่สำคัญของประเทศไทย  โดยใช้บริโภคภายในประเทศ  ในรูปของอุตสาหกรรมน้ำมันพืช อุตสาหกรรมอาหารสัตว์  และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองรวมทั้งบริโภคโดยตรง   โดยการแปรรูปเป็นอาหาร  เช่น เต้าหู้  เต้าเจี้ยว   ประเทศไทยต้องการใช้ถั่วเหลืองสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ  แต่ในปัจจุบันการผลิตถั่วเหลืองยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ   และถั่วเหลืองนี้มีแหล่งปลูกที่สำคัญ  ได้แก่  จังหวัดสุโขทัย  เลย  เชียงใหม่  อุตรดิตถ์   กำแพงเพชร   ตาก   พิษณุโลก และขอนแก่น

คุณผู้ฟังครับโดยทั่วไปถั่วเหลืองเติบโตในดินเกือบทุกชนิดตั้งแต่ดินร่วนปนทรายจนถึงดินเหนียว   แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน    ดินร่วนปนทรายและดินร่วนปนดินเหนียว   ดินที่มีความเป็นกรดและด่าง    ระหว่าง  6.0 – 7.0     มีแร่ธาตุอาหารปานกลางและไม่ขาดธาตุรองที่จำเป็น  เช่น  เหล็ก  แมงกานิส           โคบอล   ซัลเฟอร์   โบรอน   สังกะสี   และโมลิบดินัม    อย่างไรก็ตามถั่วเหลืองไม่ทนต่อสภาพดินเค็มหรือดินกรดจัดมากนัก    ถั่วเหลืองสามารถงอกได้ระหว่างอุณหภูมิ   5  ถึง  40  องศาเซลเซียส     แต่ที่อุณหภูมิประมาณ   30   องศาเซลเซียส    ถั่วเหลืองจะงอกได้เร็วที่สุดประมาณ  3 – 5   วัน   ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า   15  องศาเซลเซียส   การงอกของเมล็ดจะช้าลงอย่างมาก   ประมาณ  8 – 10   วันครับ   ในช่วงระยะการเจริญเติบโต   อุณหภูมิที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตที่สุดนั่นได้แก่   30  องศาเซลเซียส     ถั่วเหลืองจะหยุดการเจริญเติบโต  ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า  10  องศาเซลเซียสและถ้าอุณหภูมิสูงกว่า  40  องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดการแคระแกรน    และมีผลเสียกับการออกดอกติดฝัก   ผลเสียที่เกิดจากอุณหภูมิสูงจะยิ่งร้ายแรงถ้าเกิดการขาดน้ำด้วย       โดยธรรมชาติ   ถั่วเหลืองจัดเป็นพืชวันสั้นและพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อช่วงแสง   โดยต้องการช่วงแสงสั้นเพื่อการออกดอก   ดังนั้น  ถ้ามีการนำพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร  ไปปลูกในเขตที่ห่างเส้นศูนย์สูตรจะออกดอกช้ากว่าปกติ   และถ้านำพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีในเขตที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรไปปลูกในเขตใกล้ศูนย์สูตรก็จะทำให้การออกดอกเร็วขึ้น   คุณผู้ฟังครับ อย่างไรก็ตาม   การตอบสนองต่อช่วงแสง    ในแต่ละพันธุ์จะแตกต่างกัน   ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์และมีผลโดยตรงต่อระยะเวลาการออกดอก   การสะสมน้ำหนักแห้งของเมล็ดและผลผลิต     สำหรับพันธุ์ที่ส่งเสริมในประเทศไทยจะไม่มีอิทธิพลของแสงมากนัก   เพราะได้คัดเลือกให้เหมาะกับสภาพการปลูกได้ตลอดทั้งปี    

ถั่วเหลืองต้องการปริมาณน้ำฝนประมาณ   300 – 400  มิลลิเมตร   ตลอดฤดูปลูกแต่ต้องมีการกระจายตัวดีโดยเฉพาะในช่วงระยะการงอก   ออกดอกและติดฝักและสะสมน้ำหนักแห้งของเมล็ดจะต้องไม่ขาดน้ำ    โดยทั่วไปถั่วเหลืองทนต่อสภาพน้ำขังในระยะสั้น ๆ  ได้ดีกว่าพืชไร่ชนิดอื่น ๆ   แต่การเจริญเติบโตและผลผลิตอาจจะลดลง   ในช่วงการเก็บเกี่ยวไม่ควรมีฝนตก    เพราะจะทำให้ฝักและเมล็ดเน่าหรือเกิดเชื้อรา   ดังนั้น   ควรเลือกพันธุ์ที่เริ่มสุกแก่ในช่วง  2 – 3   สัปดาห์  หลังจากหมดฝนแต่ไม่ควรเกิน  4  สัปดาห์  เพราะอาจขาดน้ำในช่วงสะสมน้ำหนักแห้งในเมล็ดซึ่งอาจทำให้เมล็ดลีบและผลผลิตต่ำได้ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ ปัจุบันการปลูกถั่วเหลืองมีทั้งการเตรียมดิน และไม่เตรียมดินในฤดูฝน  การเตรียมดินควรมีการไถพรวนให้ลึกประมาณ   15 – 20  เซนติเมตร   ทำการตากดินไว้  1 – 2 สัปดาห์  เพื่อให้แสงแดดเผาทำลายวัชพืชและศัตรูพืชหลังจากนั้นจึงพรวนให้ดินร่วนซุย   1 – 2  ครั้ง  สำหรับการปลูกในช่วงฤดูแล้งในดินนาที่มีการระบายน้ำไม่ดี   หรือในพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีการให้น้ำ  ควรยกร่องปลูกหรือทำร่องระบายน้ำโดยรอบ  สำหรับการปลูกโดยไม่เตรียมดินสามารถกระทำได้   โดยจะเป็นการรักษาสภาพโครงสร้างของดินไม่ให้ถูกทำลาย และรักษาปริมาณความชื้นในดิน   แต่จะมีปัญหาเรื่องวัชพืชบ้าง

ในการปลูกถั่วเหลืองควรทำการคลุกไรโซเบียมทุกครั้ง  ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อน    เพราะปริมาณเชื้อที่อยู่รอดในสภาพธรรมชาติอาจมีไม่เพียงพอ   ไรโซเบียมที่ใช้จะต้องเป็นชนิดที่แนะนำให้ใช้กับถั่วเหลือง      ไรโซเบียมจะช่วยตรึงไนโตเจนจากอากาศมาไว้ที่ปมราก ซึ่งถั่วเหลืองจะให้พลังงานและธาตุคาร์บอนแก่ไรโซเบียม     ในขณะที่ไรโซเบียมจะให้สารประกอบไนโตรเจนแก่ถั่วเหลือง  เป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันแบบให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ตามปริมาณไนโตรเจนที่จะตรึงได้จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม       ชนิดของเชื้อไรโซเบียม  ชนิดพันธุ์และอายุของพืช   นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วควรคำนึงถึงวิธีที่จะทำให้ไรโซเบียมที่คลุกเมล็ดถั่วเหลือง   มีความสามารถตรึงไนโตเจนได้สูงขึ้นด้วย  โดยจะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนดังนี้  คือ เตรียมน้ำเชื่อมเจือจางโดยใช้น้ำตาลทราย   ประมาณ  5   ช้อนแกง   ผสมน้ำให้น้ำตาลละลายได้น้ำเชื่อม   ประมาณ  300   มิลิลิตร   เทน้ำเชื่อมลงเคล้าเมล็ดถั่วเหลืองได้   15  กิโลกรัม   ถ้าใช้เมล็ดน้อยให้ลดน้ำเชื่อมลงตามส่วน   เคล้าเบา ๆ  ให้น้ำเชื่อมเคลือบผิวเมล็ด   เทผงไรโซเบียมลงบนเมล็ดในอัตราไรโซเบียม   1 ถุง    คลุกถั่วเหลืองได้  10 – 15  กิโลกรัม    แล้วคลุกเคล้าเบา ๆ  ให้ทั่ว     ผงไรโซเบียมจะเคลือบติดเมล็ดแล้วตากลมไว้ประมาณ   15   นาที    ผงไรโซเบียมจะแห้งยึดติดกับเมล็ดไม่หลุดร่วงง่าย     เมล็ดพันธุ์ที่คลุกไรโซเบียมแล้วสามารถนำไปปลูกอย่างได้ผลดีมากไม่ว่าจะหยอดด้วยมือ  หรือด้วยเครื่องหยอด      ถั่วเหลืองจะได้รับไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพสูงเข้าสร้างปมรากทำให้ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนได้มาก   และเป็นปุ๋ยไนโตรเจนที่วัชพืชไม่สามารถแย่งไปใช้ได้ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ การปลูกและระยะการปลูกถั่วเหลืองสามารถแบ่งออกได้เป็น  2  วิธี  ตามฤดูปลูก   คือ  ฤดูฝน   หลังเตรียมดินแล้ว  การปลูกได้แก่  หว่านหรือเปิดร่องแล้วโรยเป็นแถว   หรือหยอดเป็นหลุม    แต่วิธีที่ได้ผลดีคือการปลูกเป็นแถวครับ   ใช้ระยะระหว่างแถว  50  เซนติเมตร   ระยะระหว่างหลุม    20   เซนติเมตร    หลุมละ   4 – 5   ต้น  หรือการโรยเป็นแถวให้มีจำนวน  20  ต้นต่อแถวยาว   1    เมตร    จะมีจำนวนต้นประมาณ   64,000   ต้นต่อไร่     การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งหรือหลังการทำนา  ถ้ามีการไถพรวนดิน  ควรปฏิบัติการปลูกเช่นเดียวกับการปลูกในฤดูฝน    แต่ถ้าไม่มีการไถพรวนดินควรเริ่มต้นด้วยการตัดตอซังข้าว    แล้วขุดร่องเพื่อใช้เป็นร่องให้น้ำและร่องระบายน้ำโดยไม่มีการไถพรวน    การขุดร่องระบายน้ำดังกล่าวทำให้เกิดเป็นแปลงปลูกถั่วเหลืองกว้างประมาณ  3 – 4  เมตร   มีร่องน้ำเป็นเขตแบ่งแปลง    สร้างความชื้นในดินโดยให้น้ำเข้าท่วมแปลงประมาณครึ่งวันจึงระบายน้ำออกแล้วตากดินนาน  1 – 2  วัน   ให้หน้าดินไม่แฉะ    แล้วหยอดเมล็ดถั่วเหลืองที่คลุกไรโซเบียมแล้วหลุมละ  4 – 5  เมล็ด    ห่างกันหลุมละประมาณ   25 – 30  เซนติเมตร  จะทำให้ได้ต้นถั่วเหลืองเจริญเติบโตประมาณไร่ละ   70,000 – 100,000   ต้น    หลังหยอดเมล็ดเสร็จแล้ว   ถ้าจะใส่ปุ๋ยควรใส่ในช่วงนี้     เสร็จแล้วใช้ฟางที่ได้จากการนวดข้าวมาเกลี่ยคลุมพื้นดินอย่างสม่ำเสมอบนพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง   มีปริมาณอินทรีย์วัตถุสูง  ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยแต่หากเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางหรือต่ำ   ควรมีการใส่ปุ๋ย   โดยเฉพาะปุ๋ยฟอสฟอรัสมีความต้องการมากที่สุด    รองลงมาคือปุ๋ยโปตัสเซียม   สำหรับปุ๋ยไนโตเจนในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็ควรมีการใส่ด้วย   เพื่อช่วยทำให้ถั่วเหลืองสามารถตั้งตัวได้ในระยะแรก   แต่หลังจากงอกประมาณ  3   สัปดาห์   ไรโซเบียมที่ไปเกะอาศัยที่รากถั่วจะเริ่มกิจกรรมการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศมาใช้     ปุ๋ยไนโตรเจนก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป   ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงต้องคำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินเป็นหลักแต่โดยทั่ว ๆ ไป   ในดินที่ปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝนมักจะมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำจึงนิยมใส่ปุ๋ยสูตร   12 – 24 – 12  ประมาณ   20 – 30   กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงนี้พักกันก่อนยสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ ถั่วเหลืองมีโรคที่สำคัญได้แก่  โรคราสนิม   โรคแอนแทรคโนส   โรคใบจุดนูน    โรคราน้ำค้าง  โรคใบด่าง และแมลงศัตรูที่สำคัญ  ได้แก่   หนอนแมลงวันเจาะลำต้น   หนอนเจาะฝักถั่วเหลือง   หนอนม้วนใบ   หนอนเจาะสมอฝ้ายและเพลี้ยอ่อน ถ้าถั่วเหลืองเริ่มสุกแก่ในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งจะเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด   เมล็ดที่ได้จะมีคุณภาพสูงเพราะเมล็ดไม่เน่าเสียหาย   อันเนื่องมาจากเชื้อรา     อายุการสุกแก่ของถั่วเหลืองแต่ละพันธุ์จะแตกต่างกัน   ดังนั้นควรเก็บเกี่ยวทันทีเมื่อใบร่วงและฝักแก่เปลี่ยนสี   95 %  ของจำนวนฝักทั้งหมดเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ววางเรียงเป็นแถว     มัดเป็นฟ่อนตากไว้ในแปลง   ถ้ามีฝนตกอาจนำเข้ามาเก็บไว้ในโรงเรือนยกพื้น    มีการถ่ายเทอากาศดี     แล้วนำออกตากแดดจนแห้งพอดีขณะที่ความชื้นของเมล็ดประมาณ   14 %  นวดด้วยเครื่องนวดถั่วเหลือง    นำเมล็ดไปลดความชื้นด้วยการตากแดดและคอยหมั่นกลับเพื่อให้เมล็ดแห้งโดยสม่ำเสมอทั่วถึงกัน  หรือลดความชื้นด้วยการอบไอร้อน  อุณหภูมิไม่เกิน   40 องศาเซลเซียส    นกระทั่งความชื้นของเมล็ดลดลงเหลือประมาณ   12  %  เมล็ดที่จะเก็บไว้ใช้ขยายพันธุ์นั้น  เมื่อเก็บเกี่ยวและนวดตามวิธีข้างต้นอย่างถูกต้องแล้ว  ให้ลดความชื้นของเมล็ดลงอีกให้เหลือประมาณ  8 %   แล้วคัดเมล็ดเสีย   เช่น  เมล็ดเขียว   เมล็ดย่น    เมล็ดเป็นโรค   ออกทิ้งให้หมด     ตรวจสอบการงอกของเมล็ด   ซึ่งควรสูงกว่า   85 %   จากนั้นนำมาบรรจุในภาชนะปิดสนิท  ไม่ให้ความชื้นจากอากาศภายนอกเข้ามาได้  วางภาชนะในที่แห้งและเย็น   ถ้าปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้อย่างถูกต้องแล้วก็สามารถจะเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูต่อไปได้

 -เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับเนื่องจากถั่วเหลือง  เป็นพืชที่มีโปรตีนสูง และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    ได้มีการนำถั่วเหลืองมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนสูงจากถั่วเหลือง  หลายชนิดด้วยกันคือ  นมถั่วเหลือง  เป็นนมถั่วเหลืองที่ผลิตขึ้นโดยใช้อัตราส่วนถั่วเหลืองต่อน้ำ   เท่ากับ  1 ต่อ  5   โดยน้ำหนัก  ได้มีการปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการให้เท่าเทียมกับปริมาณโปรตีนและไขมัน   ของน้ำนมวัวหรือน้ำนมมารดา   โดยมีปริมาณโปรตีนและไขมันร้อยละ  4.3  และ  6.0  ตามลำดับ   เวลารับประทานให้เติมน้ำเย็นที่ต้มสุกหรือน้ำร้อนต่อนมถั่วเหลืองเข้มข้นในอัตราส่วนเท่ากับ  1 ต่อ 1     อาหารเสริมเด็กอ่อนเกษตร   เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุตั้งแต่  3  เดือนขึ้นไป    ทำจากแป้งถั่วเหลืองชนิดไขมันเต็ม    แป้งข้าวเจ้า  และน้ำตาลทราย   เป็นส่วนประกอบเสริมวิตามิน  และเกลือแร่    แล้วผ่านกระบวนการอัดพอง   อบแห้ง   และบดเป็นผง   ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีปริมาณโปรตีนและไขมันร้อยละ  11.0  และ  3.0  ตามลำดับ   ก่อนบริโภคให้เติมน้ำร้อนลงไป 3  เท่า   แล้วกวนให้เข้ากัน    มีคุณค่าทางโภชนาการเท่าเทียมกับนมผง   ราคาถูกกว่านมผงและอาหารเสริม    จากท้องตลาดประมาณ   3 – 9  เท่า  ดังนั้น   อาหารเสริมเด็กอ่อนเกษตร    จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กที่มีอายุ    3   เดือนขึ้นไป   โดยใช้ทดแทนนมผงและอาหารเสริมต่าง ๆ  ที่มีราคาแพงได้เป็นอย่างดี       โปรตีนเกษตร  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ต่าง ๆ  ในการประกอบอาหารได้เป็นอย่างดี     ซึ่งมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ประมาณ  3  เท่า   ทำจากแป้งถั่วเหลืองพร่องไขมัน   เสริมด้วยแอลเมทไธโอนินร้อยละ  1   แล้วผ่านขบวนการอัดพอง  และอบแห้ง   ผลิตภัณฑ์ที่ได้   มีปริมาณโปรตีนและไขมันร้อยละ  49.7  และ  0.3  ตามลำดับ    มีคุณค่าทางโภชนาการเท่าเทียมกับเนื้อสัตว์   ก่อนการบริโภคให้นำมาแช่น้ำเย็นหรือน้ำร้อน  ประมาณ  5  นาที    หรือจนกระทั่งนิ่มหลังจากนั้นก็นำเอาไปประกอบอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ได้ทันที    ประชาชนให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์นี้มาก  โดนมีสถิติในการจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปี โปรตีนเกษตร   นอกจากจะทำจากแป้งถั่วเหลืองพร่องไขมัน   ดังกล่าวแล้วยังสามารถทำได้จากแป้งถั่วเหลืองชนิดไขมันเต็ม   เสริมด้วยแอลเมทไธโอนินร้อยละ  1  และผ่านเครื่องวิลเลจเทคเจอร์ไรเซอร์ แล้วอบแห้ง    ได้โปรตีนเกษตรมีลักษณะเป็นแผ่นกลม  พอง  ฟู   มีสีเหลืองนวล   ก่อนบริโภคนำไปแช่น้ำจนกระทั่งนิ่ม    ซึ่งถ้าเป็นน้ำร้อนใช้เวลาประมาณ   2  นาที  และ  5  นาที  สำหรับน้ำเย็น   นำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ  หรือเป็นเส้น   เพื่อประกอบเป็นอาหารต่าง ๆ  แทนเนื้อสัตว์   มีคุณค่าทางโภชนาการเท่าเทียมกับเนื้อสัตว์  โปรตีนเกษตร  ที่ได้มีปริมาณโปรตีนร้อยละ  47.4  ไขมันร้อยละ   17.9  และความชื้นร้อยละ  5.2    นอกจากนี้แล้ว  ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมาก เช่น  ขนมผิงเกษตร หรือคุกกี้เกษตร  ,  บะหมี่เกษตร  หรือบะหมี่โปรตีน  ,  กรอบ  กรอบ  เกษตร  หรือ  อาหารขบเคี้ยวโปรตีนสูง   ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากพืชผลทางการเกษตรอีกมาก   ถ้าท่านผู้ฟังสนใจสามารถหาซื้อได้ที่ห้องขายของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเวลาสำหรับรายการ  “  จากแฟ้มงานวิจัย  มก. ”  ในวันนี้ก็หมดเวลาลงแล้ว  พบกับรายการนี้ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า  ทางสถานีวิทยุ  มก. แห่งนี้  สำหรับวันนี้สวัสดีครับ