รายการวิทยุ เรื่อง “กล้วย” พืชที่ยังมีประโยชน์อีกมาก

[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=wuOm05bnYfA[/youtube]

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ที่ 25 เดือนตุลาคม  พ.ศ. 2557

เรื่อง “กล้วย” พืชที่ยังมีประโยชน์อีกมาก

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกับอาชีพของตนเอง  โดยมีกระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับกล้วยนั้นเป็นพืชเมืองร้อนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสิบชนิดและกล้วยที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในบ้านเรา ได้แก่ กล้วยน้ำว้า  กล้วยหอมและกล้วยไข่ ส่วนกล้วยที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศ ได้แก่  กล้วยหอมทอง  กล้วยหอมเขียว และกล้วยไข่ หากจะพูดถึงประโยชน์ของกล้วยแล้วสามารถพูดได้ว่า กล้วยนั้นมีประโยชน์มากมาย และสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีเกือบทุกส่วน เช่น กาบกล้วย  สามารถนำมาใช้ควั่นเชือก  ใบตองสดและแห้งนำมาใช้ห่อของ  มวนบุหรี่  ห่อหุ้มกิ่งตอน หรือห่อหุ้มผลไม้บางชนิด  เพื่อบ่มผิวและป้องกันแมลงได้เป็นอย่างดี  ส่วนปลีกล้วยก็นำมาเป็นอาหารหมูได้อีกด้วย  และที่แน่ๆนั้นก็คือ กล้วยนั้นรับประทานได้และอร่อย เป็นแหล่งวิตามิน เด็กและผู้ใหญ่ทานได้ทานดี นอกจากกล้วยจะเป็นผลไม้สำหรับทานสดๆแล้วเรายังสามารถนำกล้วยไปทำเป็นอาหารแปรรูปได้อีกมากมาย เช่น  นำมาตากแห้ง เป็นกล้วยตาก ทำของหวาน  กลั่นเป็นสุราหรือเครื่องดื่ม  รวมถึงสามารถนำมาทำน้ำส้มสายชูได้อีกด้วย

คุณผู้ฟังคครับ กล้วยที่พบเห็นทั่วไปในท้องตลาดนั้น  พัฒนามาจากกล้วยป่าโดยมีการเปลี่ยนแปลงจากกล้วยที่มีเมล็ดจำนวนมาก  เป็นกล้วยที่ไม่มีเมล็ดและเกิดการเป็นหมันด้วย  จึงทำให้กล้วยมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น   เพราะสะดวกในการรับประทานจึงได้มีการนำไปปลูกต่อ  ๆ  กันไป   เมื่อเห็นว่าต้นไหนดีมีรสชาติอร่อย   ไม่มีเมล็ด  ทนต่อโรค  แมลง  มีความแข็งแรง   จะทำการขยายพันธุ์กล้วยต้นนั้นต่อ ๆ กันไป   เพราะว่ากล้วยขยายพันธุ์ง่ายโดยการแยกหน่อ   จึงทำให้มีการกระจายพันธุ์ของกล้วยไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นกล้วยยังสามารถผสมพันธุ์ได้เองเตามธรรรมชาติ  ทำให้ได้ลูกผสมหลายชนิดเกิดขึ้นและได้ลูกผสมที่ไม่มีเมล็ดเกิดขึ้นด้วยครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ- 

คุณผู้ฟังครับ กล้วยเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุหลายฤดู  ซึ่งโดยปกติการขยายพันธุ์กล้วยนั้นสามารถทำได้หลายวิธี คือ  การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด  การขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อ   และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ   ส่วนการขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อนั้นหน่อที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์  คือ  หน่อใบแคบ  วิธีนี้เป็นที่นิยมทำกันอยู่โดยทั่วไป  การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้จำนวนต้นมากและแข็งแรงปราศจากโรค   วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะในการทำการค้าเพราะต้นที่ได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ  และให้ผลผลิตพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน

               โดยทั่วไปแล้วกล้วยมักจะออกปลีเมื่ออายุราว  8  เดือน  ถึง  1  ปีนับแต่วันปลูก  ส่วนกล้วยไข่กล้วยน้ำว้า  และกล้วยหอมนั้น  จะออกปลีในระยะใกล้เคียงกันหากปลูกในท้องที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เหมือน ๆ กัน  และหน่อที่ปลูกมีขนาดเท่า ๆ กัน กล้วยไข่มักจะออกเครือก่อน   ตามด้วยกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมจะออกล่าสุด  ซึ่งก่อนที่กล้วยจะแทงปลีจะสังเกตเห็นว่ากล้วยจะแทงใบซึ่งมีลักษณะต่างกับใบปกติของกล้วย คือ  มีขนาดเล็กกว่าและมักจะชี้ตรงขึ้นท้องฟ้าเรียกว่า “ ใบธง”  ซึ่งจะเป็นสัญญาณบอกว่ากล้วยกำลังจะออกปลี  พอปลีโผล่พ้นตายอดแล้วก็จะเริ่มทะยอยบานให้เห็นดอกกล้วยไล่เวียนลงมา  และจะเจริญเติบโตเป็นหวีกล้วยต่อไป   กล้วยเครือหนึ่ง ๆ จะมีหวีสมบูรณ์ประมาณ  4 – 6  หวี ๆ ละ 10 – 16  ผล  เฉลี่ยแล้วในเครือหนึ่ง ๆ จะมี  70  ผล   ดังนั้นในเนื้อที่  1  ไร่ถ้าปลูก  64  ต้นจะได้กล้วยประมาณ  4,480  ผล 

               สำหรับการปลูกกล้วยหอมนั้น  หลังจากเก็บเครือแล้วชาวสวนมักจะรื้อสวนทิ้ง  และนำหน่อย้ายไปปลูกในพื้นที่ใหม่มากกว่าจะปลูกซ้ำในพื้นที่เดิม  เพราะถ้าปลูกในที่เดิมผลผลิตจะลดลงไม่ดีเหมือนกับปลูกในพื้นที่ใหม่  พื้นที่เดิมอาจจะใช้ปลูกพืชล้มลุกชนิดอื่นหมุนเวียนไป   พอในปีต่อมาจึงค่อยกลับมาปลูกกล้วยหอมใหม่   แต่สำหรับกล้วยน้ำว้านั้นหากเป็นส่วนที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีก็จะมีอายุยืนนานพอหลังจากเก็บเครือจากต้นแม่แล้วเกษตรกรก็สามารถเลี้ยงหน่อที่แข็งแรงขึ้นทดแทนจนกว่าจะเห็นว่ากอกล้วยเริ่มโทรม  และผลผลิตไม่คุ้มค่าการดูแลรักษาแล้วจึงค่อยรื้อสวนปลูกใหม่

-เพลงคั่นรายการ-

               คุณผู้ฟังครับ ในการปลูกกล้วยนั้นควรจะต้องดูแลรักษาในเรื่องการคลุมดิน การปลูกพืชคลุมดินจะช่วยป้องกันวัชพืชได้เป็นอย่างดี   ช่วยรักษาความชื้นในดินและป้องกันการชะล้างหน้าดิน  พืชที่จะนำมาปลูกเพื่อคลุมดินควรจะเป็นพืชที่ปลูกได้ดีในที่ร่ม  นอกจากการใช้พืชคลุมดินแล้วอาจใช้วัสดุคลุมดิน  เช่น  ใช้ใบที่แห้งหรือลำกล้วยที่ตัดเป็นท่อน ๆ ซึ่งลอกเป็นกาบ ๆ แล้วใช้กาบคลุมดิน   แต่วิธีนี้ควรระวังโรคที่อยู่ที่ใบหรือกาบด้วย  ปัจจุบันได้มีการนำพลาสติกสีดำมาใช้ซึ่งก็ใช้ได้  แต่ควรใช้ร่วมกับการให้น้ำระบบน้ำหยด

               โดยธรรมชาติแล้วกล้วย  จะมีระบบรากที่ตื้นและแผ่กระจายด้านข้างดังนั้นจึงไม่ควรพรวนดินอาจทำให้ระบบรากกระทบกระเทือนได้    การกำจัดวัชพืชจึงควรใช้วิธีถางและป้องกันโดยใช้พืชคลุมดินหรือวัสดุคลุมดินมากกว่า   สำหรับการตัดแต่งหน่อนั้น  การปลูกกล้วยให้ได้ผลดีมีคุณภาพ   ควรบังคับการเกิดหน่อไม่ให้มีหน่อมาก การคัดเลือกหน่อที่ดีสำหรับฤดูกาลต่อไป นอกจากนี้การดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ก็จะทำให้ได้ผลผลิตสูงให้มีคุณภาพดีจะเป็นความสำเร็จอย่างมากในการปลูกกล้วย

                  คุณผู้ฟังครับ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยควรจะมีสภาพอากาศที่อบอุ่นชุ่มชื้น  คือ  มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า  15  องศาเซลเซียส  หรือสูงกว่า  33  องศาเซลเซียส  และความชื้นสัมพัทธ์อย่างน้อย  60  %  ปริมาณฝนตกเฉลี่ย  20 – 22  เซนติเมตรต่อเดือน อย่างไรก็ตามไม่ควรปลูกกล้วยในพื้นที่ที่มีมรสุมบ่อย ๆ สำหรับที่ที่เหมาะสมคือ  มีความเป็นกรดเป็นด่างตั้งแต่  4.5 – 7  ควรมีการปรับปรุงดินให้ร่วน  ถ้าพื้นที่นั้นไม่ใช่ดินทราย  ระยะปลูกกล้วยที่เหมาะสมประมาณ  1 X  3 เมตร  หรือ  1  เมตรครึ่ง  X 3  หรือ 2X  4  เมตร  และ 4X4  เมตร  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิด  ของกล้วยและระยะเวลาในการปลูก  ซึ่งหากต้องการทิ้งไว้นานปีก็ควรใช้ระยะห่างเพื่อให้หน่อเจริญด้วย สำหรับกล้วยที่มีต้นสูงก็ควรทำค้ำยัน   โดยใช้ไม้ไผ่ทำรูปกากบาท  โดยให้มุมเป็นที่รองรับน้ำหนักของต้นและเครือ   ในการปลูกเพื่อเป็นการค้าอาจใช้ลวดสลิงผูกโดยรอบเครือ เพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว    และควรคลุมเครือกล้วยด้วยถุงพลาสติก  เมื่อผลกล้วยเติบโตแล้วก่อนคลุมควรฉีดยากันโรคแมลงและตัดแต่งเครือเสียก่อน   สำหรับถุงที่คลุมนั้นต้องมีขนาดใหญ่กว่าเครือกล้วยและต้องเจาะรูระบายอากาศและเปิดปลายถุงเอาไว้  การคลุมถุงนั้นจะทำให้คุณภาพของกล้วยดีและผิวสวยขึ้นครับ

               คุณผู้ฟังครับ กล้วยต้องการปุ๋ยเช่นเดียวกัน การให้ปุ๋ยกับต้นกล้วยนั้น  ควรคำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารที่อยู่ในดินและปริมาณธาตุอาหารที่ต้นกล้วยดูดขึ้นมาใช้  ซึ่งส่วนใหญ่ปริมาณธาตุอาหารที่พืชดูดขึ้นมาใช้จะสะสมไว้ที่ผลถึง  32 – 56  %  และธาตุอาหารที่สะสมอยู่ในผลกล้วยที่มากที่สุด คือ  โปแตสเซียม  รองลงมาคือ  ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเล็กน้อย   ดังนั้นการใช้ปุ๋ยกับต้นกล้วยนั้นควรให้โปแตสเซียมที่สูงกว่าไนโตรเจนได้  สำหรับฟอสฟอรัสควรให้ในปริมาณไม่มากนัก  แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ถูกต้องก็ควรนำดินไปวิเคราะห์ก่อนว่าควรจะให้ปุ๋ยชนิดใด  ในปริมาณเท่าใด  เพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินแต่ละแหล่งปลูกไม่เหมือนกัน  อีกสักครู่มาติดตามเรื่องกล้วยกับผลการวิจัยและประโยชน์ใช้สอยด้านต่างๆของกล้วยกันต่อนะครับ 

-เพลงคั่นรายการ- 

               คุณผู้ฟังครับ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยสาขาต่าง ๆ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยในประเทศไทย     การผลิตกล้วยเพื่อการส่งออกต่างประเทศ  รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าของกล้วยด้วยการแปรรูป  และการนำส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วยมาใช้ประโยชน์  เช่น  ปลี  ใบกล้วย  และกาบกล้วย  และในด้านการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยนั้นคณะนักวิจัยด้านพืชสวนได้สำรวจ  รวบรวมและจำแนกพันธุ์กล้วยในประเทศไทยตั้งแต่  พ.ศ.2522  ได้พันธุ์กล้วยถึง  56  พันธุ์  และได้เก็บรักษาพันธุ์ไว้ในแปลงรวบรวมพันธุ์ที่สถานีวิจัยปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา  และที่ภาควิชาพืชสวน  คณะเกษตร  วิทยาเขตกำแพงแสน

               สำหรับพันธุ์กล้วยที่ปลูกในประเทศไทยนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด  และถ้าจะดูการใช้ประโยชน์แล้ว  สามารถแบ่งออกได้ดังนี้  คือ  หากเป็นการปลูกเพื่อใช้ใบ  มักจะปลูกกล้วยตานี  เพราะว่าใบจะเหนียวกว่า  ใบมีสีเขียวเข้มเป็นเงาและสวยกว่าใบกล้วยชนิดอื่น  นอกจากใบจะเหนียวกว่ากล้วยชนิดอื่นแล้ว กาบกล้วยยังเหนียวกว่ากล้วยชนิดอื่น ด้วย  หากเป็นการปลูกเพื่อรับประทานผลสดมักจะปลูกกล้วยไข่  กล้วยหอมชนิดต่าง ๆ  และกล้วยน้ำว้า  หากเป็นการปลูกเพื่อใช้ผลทำอาหารหรือแปรรูปมักจะปลูกกล้วยน้ำว้า  กล้วยหักมุก  กล้วยหิน  กล้วยงาช้าง  กล้วยนางพญา  ซึ่งเนื้อกล้วยเหล่านี้จะมีแป้งมาก   เมื่อทำให้สุกด้วยความร้อนจะทำให้มีรสหวาน   อร่อยกว่ารับประทานผลสด   ถ้าผลสดที่สุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว   ส่วนใหญ่กล้วยเหล่านี้จะมีต้นสูงใหญ่และมีความแข็งแรง  ทนทานต่อโรคมากกว่ากล้วยไข่และกล้วยหอม

               นอกจากนี้เรายังปลูกกล้วยเพื่อใช้เส้นใย  เส้นใยของกล้วยส่วนใหญ่ที่ได้จากกาบกล้วย เมื่อรีดเอาน้ำออกแล้วจะให้เส้นใยที่เหนียว  สามารถใช้ทำเชือก  กระเป๋า  และยังนำไปทำเส้นใยกระดาษได้ดีอีกด้วย  ซึ่งเส้นใยของกล้วยตานีจะมีความเหนียวมาก  จึงนิยมนำมาทำกระเป๋าถือสตรี  โดยมีแหล่งทำอยู่ที่จังหวัดสงขลา  สำหรับเส้นใยที่ทำกระดาษได้ดีคือ  เส้นใยของกล้วยหอมคาเวนดิช

               คุณผู้ฟังครับ  นอกจากการใช้ผลกล้วยแล้วยังมีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของกล้วยเพื่อทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ  เช่น  การใช้ใบและลำต้นเทียมของกล้วย  การใช้ใบตอง  เพื่อนำมาทดแทนภาชนะพลาสติกและโฟมในการใส่อาหารชั่วคราว เพื่อลดปัญหาขยะและมลภาวะทางอากาศ   ซึ่งก็พบว่าการใช้ใบตองของกล้วยตานีและกล้วยหอมเขียว  จะได้คุณสมบัติใกล้เคียงกัน  มีความแข็งแรงดีกว่าใบตองของกล้วยน้ำว้าและใบที่ใช้ควรเป็นใบอ่อนจะมีสีสวยกว่าใบแก่    ในการวิจัยได้ทำการขึ้นรูปภาชนะ     รูปร่างเป็นวงกลม   สี่เหลี่ยมผืนผ้า  และสี่เหลี่ยมจัสตุรัส   ในการขึ้นรูปต้องใช้แม่พิมพ์อัดโดยใช้ความร้อน  แรงดัน  จากการศึกษาพบว่าการขึ้นรูปต้องใช้แม่พิมพ์ที่ประกบติดกันได้สนิทและระยะห่างของแม่พิมพ์ทั้ง   2ชั้น   ต้องสม่ำเสมอและควรใช้ใบตอง  7  ชั้นอัดที่อุณหภูมิ  80  องศาเซลเซียส  เป็นเวลา  1  นาที  30  วินาทีถึง  3  นาที   ส่วนภาชนะควรเป็นทรงกลมและตื้นประมาณ  3  เซนติเมตร  ก็จะได้ภาชนะที่แข็งแรงกว่าทรงเหลี่ยมและลึก  อย่างไรก็ตามความแข็งแรงทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับชนิดใบตองที่ใช้ด้วย

 ส่วนการผลิตกระดาษจากลำต้นเทียมของกล้วยนั้น   ได้มีการทำวิจัยพบว่ามวลของต้นกล้วยส่วนใหญ่จะเป็นน้ำจึงมีแรงต้านทานต่อแรงหักที่สูงกว่าไม้หลายชนิด   เหมาะที่จะทำเป็นกระดาษเพื่อความสวยงาม 

               นอกจากการวิจัยในด้านการผลิตและแปรรูปแล้ว  นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ของการผลิตและการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากกล้วย จากงานวิจัยพบว่า  เกษตรกรเห็นว่าต้นกล้วยพันธุ์แกรนด์เนนที่ผลิตจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดีนั้น  เหมาะสมที่จะผลิตเป็นการค้า   จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า  เราสามารถที่จะปลูกกล้วยได้ดีในประเทศไทย   และยังสามารถปลูกได้ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย  ส่วนต่าง ๆ ของกล้วย  รวมทั้งผล  และยังสามารถนำมาแปรรูปได้ซึ่งล้วนเป็นการเพิ่มมูลค่าของกล้วยให้มากยิ่งขึ้น 

-เพลงคั่นรายการ- 

           คุณผู้ฟังครับ ลองทายสิว่ากล้วยอะไรบ้างที่ปลูกเป็นการค้าในประเทศไทยเรา ใช่แล้วครับ กล้วยไข่ กล้วยหอม  กล้วยน้ำว้าและกล้วยหักมุก ส่วนกล้วยตานีก็ปลูกเพื่อตัดใบขาย

สำหรับพื้นที่ที่ปลูกกล้วยไข่มากที่สุด  ได้แก่  ที่จังหวัดกำแพงเพชรและเพชรบุรี  ส่วนกล้วยหอม  มีปลูกในแถบภาคกลาง  คือ  ที่จังหวัด  นนทบุรี  ปทุมธานีและกรุงเทพมหานคร  ส่วนกล้วยน้ำว้านั้นพบว่ามีการปลูกอยู่ทั่วไป  และกล้วยหักมุกก็มีการปลูกมากที่จังหวัดเพชรบุรี เช่นเดียวกัน

               การปลูกกล้วยของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับ  3  ของทวีปเอเซีย   โดยมีประเทศฟิลิปปินส์ปลูกมากเป็นอันดับหนึ่ง    ซึ่งมีปริมาณการส่งออกจากประเทศจนติดอันดับของโลก     สำหรับปริมาณการส่งออกกล้วยของประเทศไทยในสมัยก่อนเคยมีปริมาณมากแต่ก็ลดลงทุกปี  จนปัจจุบันหากเทียบปริมาณการส่งออกแล้วมีเพียงไม่ถึง1% ของการส่งออกของประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้น เป็นที่น่าเสียดายนะครับ สำหรับการส่งออกกล้วยไปขายยังต่างประเทศนั้น  ประเทศไทยเคยส่งกล้วยหอมทองไปยังประเทศญี่ปุ่น  ฮ่องกง  สิงคโปร์และประเทศในทวีปยุโรปเป็นจำนวนมาก  แต่ว่าในปัจจุบันการส่งออกกล้วยหอมทองตกต่ำมาก  ทั้งนี้เพราะว่ากล้วยหอมมีเปลือกบาง  ช้ำง่าย  และผลผลิตต่ำทำให้ต้นทุนการผลิตสูง  น่าจะมีการพยายามผลักดันให้มีการส่งออกกล้วยไข่ให้มากขึ้นซึ่งก็มีแนวโน้มในการส่งออกที่ดี

คุณผู้ฟังครับ เรื่องของกล้วยนั้น ไม่ใช่กล้วยๆอย่างที่คิดนะครับ สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ